มะรุม ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกมะรุมเตี้ย

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

มะรุม (Horse Radish Tree) จัดได้ว่าเป็นผักพื้นบ้าน และสมุนไพรท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจาก ทั้งส่วนยอดอ่อน ใบสด ผลอ่อน และผลแก่ สามารถใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อีกทั้ง มีการศึกษาพบสรรพคุณทางยาของมะรุมในหลายด้าน อาทิ

อนุกรมวิธาน [9]
• อาณาจักร (kingdom): Plantae
• ชั้น (class): Magnoliopsida
• อันดับ (order): Brassicales
• วงศ์ (family): Moringaceae
• สกุล (genus): Moringa
• ชนิด (species): Moringa oleife

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Moringa oleifera Lam.
• ชื่อสามัญ:
– Horse Radish Tree
– Drumstick Tree
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะรุม
ภาคเหนือ
– มะค้อนก้อม
– บะค้อนก้อม
ภาคอีสาน
– ผักอีฮุม
– ผักฮุม

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย [1]
มะรุม มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และแอฟกานิสถาน แล้วมีการกระจายพันธุ์เข้ามาในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และประเทศไทยด้วย รวมถึงแพร่กระจายไปยังทวีปอื่น อาทิ ทวีปอเมริกา และหมู่เกาะคาริบเบียน ทั้งนี้ มะรุมที่พบมีทั้งหมดประมาณ 14 สายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่นิยมปลูก และถูกนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด คือสายพันธุ์ไอลิเฟอร่า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นมะรุม
มะรุมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีอายุนานหลายปี ลำต้นมีลักษณะเพลาตรง สูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งน้อย แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นมีสีขาวอมเทา มีตุ่มขนาดเล็กขึ้นกระจายทั่ว เนื้อไม้จัดเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสีเหลือง เบา กิ่งมีลักษณะเพลาตรง เนื้อไม้ของกิ่งเปราะหักง่าย

ใบมะรุม
ใบมะรุม ออกเป็นใบประกอบแบบขนนก โดยมีใบสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว มีจำนวนก้านใบจำนวน 3 ชั้น ก้านใบแทงออกบริเวณปลายกิ่ง ก้านใบชั้นแรกเป็นก้านใบหลักที่ประกอบด้วยก้านใบหลักชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 หลายก้านใบ โดยก้านใบชั้นที่จะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆบนก้านบนหลักชั้นแรก ถัดมาเป็นก้านใบหลักชั้นที่ 3 ที่ประกอบด้วยใบย่อย 11-13 ใบ

ใบย่อยมะรุมมีรูปไข่กลับ สีเขียวสด กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ใบย่อยแต่ละใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ 5-6 คู่ และใบย่อยสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว ใบย่อยแต่ละใบไม่มีก้านใบ โคนใบสอบแคบติดกับก้านใบหลักชั้นที่ 2 กลางใบกว้างปลายใบมน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีแผ่นใบด้านบนมีสีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างสีซีดกว่า ส่วนใบแก่จะมีสีเขียวเข้ม ทั้งนี้ แผ่นใบทั้งใบแก่ และใบอ่อนมีลักษณะอ่อนนุ่ม มีรสมัน

ดอกมะรุม
มะรุมออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือบริเวณตายอดตามกิ่ง และลำต้น แต่ส่วนมากจะพบออกบริเวณปลายกิ่งเป็นหลัก ประกอบด้วยก้านช่อดอกหลักที่มีก้านช่อดอกย่อยออกเยื้องสลับกันตามความยาวของก้านช่อดอกหลัก บนก้านช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนหลายดอก

ดอกย่อยแต่ละดอกมีสีขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีเกสรตัวเมีย และเกสรตัวผู้ในดอกเดียวกัน ตัวดอกประกอบด้วยกลีบสีขาวจำนวน 5 กลีบ แยกกันในแต่ละกลีบดอก ตัวกลีบดอกมีรูปหอก โคนกลีบดอกสอบแคบ ปลายกลีบดอกมน ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย โดยเกสรตัวผู้มีก้านเกสรสีขาว ปลายเกสรเป็นอับเรณูสีเหลือง ทั้งนี้ ดอกมะรุมมีรสขมอมหวาน และมันเล็กน้อย โดยมะรุมบางพันธุ์สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่บางพันธุ์อาจออกดอกเพียงหนึ่งครั้งต่อปี โดยมักออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน

ผลมะรุม
ผลมะรุมเรียกว่า ฝัก มีลักษณะเป็นแท่งค่อนข้างกลม ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ขั้วผลกว้างมน ท้ายผลแหลม ผลอ่อนมีเปลือกผลสีเขียว มีลักษณะเป็นร่องชัดเจนบิดโค้งเล็กน้อยตามความยาวของฝัก เนื้อฝักแน่นและกรอบ เมล็ดด้านในยังอ่อน

ส่วนฝักแก่จะมีเปลือกผลเหนียว สีเขียวเข้ม มีลักษณะเป็นเหลี่ยม และมองเห็นเป็นร่องตื้นๆบนฝัก นอกจากนั้น เปลือกผลยังมีลักษณะนูนสลับกันตรงจุดที่มีเมล็ด ทั้งนี้ เมื่อผลแก่จัด ผลจะแห้ง เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมเทา และปริแตก ทำให้เมล็ดหล่นลงพื้นได้

ส่วนเมล็ดมะรุมจะอยู่ด้านในฝัก เมล็ดในฝักอ่อนจะมีขนาดเล็ก และอ่อนนุ่ม เมล็ดในฝักแก่จะมีขนาดใหญ่ เปลือกเมล็ดมีลักษณะกรอบ มีรสหวานมัน สามารถรับประทานได้ แต่หากเมล็ดในฝักแก่จะมีสีน้ำตาล ขนาดเมล็ดประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกเมล็ดแข็ง มีปีกบางๆสีขาวหุ้ม 3 ปีก ส่วนจำนวนเมล็ดจะขึ้นอยู่กับความยาวของฝัก ซึ่งอาจพบเมล็ดได้กว่า 10-20 เมล็ด

ประโยชน์มะรุม
1. ทางด้านอาหาร
– ยอดอ่อน และใบสด มีความนุ่ม มีรสมัน ใช้รับประทานสดหรือลวกหรือต้มสุก ใช้รับประทานคู่กับกับข้าว อาทิ น้ำพริก แจ่วบอง เมนูลาบ ซุปหน่อไม้ เป็นต้น
– ยอดอ่อน และใบสด ใช้ประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ ผัดผักหรือผัดใส่ไข่ แกงอ่อม แกงเลียง และแกงจืด เป็นต้น
– ยอดอ่อน และใบสด นำมาดองเป็นผักดอง ใช้รับประทานคู่กับกับข้าวเหมือนกับยอดสด
– ดอก ทั้งดอกตูม และดอกบาน นำมารับประทานสดคู่กับกับข้าวเหมือนกับยอดอ่อน นอกจากนั้น ยังใช้ประกอบอาหารในหลายเมนูคล้ายกับยอดอ่อน รวมถึงนำมาดองคล้ายกับยอดอ่อนเช่นกัน
– ฝักอ่อน ไม่ต้องลอกเปลือก นำมารับประทานสดหรือต้มสุกคู่กับกับข้าว อาทิ น้ำพริก และเมนูลาบ เป็นต้น หรือ ใช้ประกอบอาหาร อาทิ แกงอ่อม แกงเลียง แกงส้ม เป็นต้น
– ฝักแก่ นำมาปอกเปลือกด้านนอกออก ให้เหลือเฉพาะเนื้อเปลือก และเมล็ด นำมาประกอบอาหารหลายเมนู ด้วยการหั่นเป็นชิ้นยาวประมาณ 3 เซนติเมตร อาทิ แกงส้ม ซึ่งนิยมมากที่สุดทางภาคกลาง และทั่วไป
– ในบางประเทศเช่น อินเดีย นำยอดอ่อนทำเป็นผงใช้สำหรับปรุงหรือประกอบอาหาร รวมถึงแปรรูปเป็นน้ำใบมะรุมดื่มหรือบรรจุกระป๋องจำหน่าย
– ทั้งยอดอ่อน และใบสด นำมาตากแห้งเพื่อแปรรูปเป็นผงใบมะรุมสำหรับชงเป็นชาดื่ม หรือ แปรรูปเป็นน้ำผักใบมะรุมดื่ม

2. ทางด้านสมุนไพร ความงาม และยารักษาโรค
– ยอดอ่อน และใบสด นำมาตากแห้ง ใช้ชงเป็นชาดื่ม ช่วยบรรเทา และรักษาโรคหลายด้าน
– เมล็ดนำมาสกัดน้ำมันสำหรับใช้เป็นยาทารักษาภายานอก เช่น แก้อาการฟกช้ำ รวมถึงนำน้ำมันมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหลายชนิด
– สารสกัดจากใบ ดอก และเมล็ดนำมาใช้เป็นยาหรือสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งใช้ในรูปของการรับประทาน และใช้ในรูปของเครื่องสำอางสำหรับทาผิวภายนอก อาทิ ครีมช่วยลดริ้วรอย และครีมบำรุงผิว เป็นต้น

3. ด้านเกษตรกรรม
– ยอดอ่อน และใบสด นำมาตากแห้ง และใช้ผสมในอาหารสัตว์ ทั้งสุกร เป็ด ไก่ และโคกระบือ
– กากจากเมล็ดมะรุม หรือ เมล็ดมะรุม ใช้ผสมในอาหารสัตว์เพื่อเป็นแหล่งโปรตีน และพลังงาน

4. ทางด้านการใช้สอยในครัวเรือน
– กิ่ง และและเนื้อไม้จากลำต้นใช้เป็นไม้ฟืนหุงต้มอาหาร
– กิ่งนำมาปักชำเป็นแถวยาว ใช้ปักชำให้แตกต้นใหม่เพื่อเป็นแนวรั้วของบ้านหรือตามไร่นา ซึ่งจะได้ยอดอ่อนเก็บรับประทานได้ด้วย

5. สร้างเสริมรายได้
ยอดอ่อน และใบสดของมะรุม ถือได้ว่าเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมในระดับต้นๆ เพราะให้รสมันอร่อย ใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด จึงพบเห็นการขายยอดมะรุมในทุกๆตลาดทั่วทุกจังหวัด ทำให้เป็นรายได้เสริมในครัวเรือน ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีการพัฒนาปลูกมะรุมเพื่อการค้าเป็นหลักในหลายพื้นที่

สารสำคัญที่พบ [2]
1. 4a-L-rhamnosyloxy.-benzyl isothiocyanate
2. niazimicin,niazirin
3. O-ethyl-4-a-L- rhamnosyloxy benzyl
4. carbamate
5. b-sitosterol
6. glycerol-1-9-octadecanoate
7. 3-O-6X-O-oleoyl-b-D-glucopyranosyl -b-sitosterol
8. b-sitosterol-3-O-b-D-glucopyranoside

สรรพคุณมะรุม [1]
ราก (รับประทาน หรือ ต้มดื่ม)
– ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ
– ช่วยขับลม
– แก้อาการปวดข้อ แก้ข้ออักเสบ
– แก้โรคท้องมาน

ลำต้น และเปลือกลำต้น (รับประทาน หรือ ต้มดื่ม)
– ใช้เป็นยาขับลม ช่วยควบคุมธาตุอ่อน
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
– แก้ฝีตามร่างกายต่างๆ
– ช่วยแก้อาการไอ แก้อาการหอบหืด
– ใช้เป็นยาแก้กระสาย

ยอดอ่อน และใบสด (รับประทาน หรือ ต้มดื่ม)
– ช่วยรักษาอาการของโรคตับ และม้ามต่างๆ
– ช่วยขับนิ่วในไต

ดอก (รับประทาน หรือ ต้มดื่ม)
– ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– ช่วยลดพิษจากการรับประทานหอยมีพิษบางชนิด เช่น พิษของหอยทะเล

ฝัก และเมล็ด (รับประทาน หรือ ต้มดื่ม)
– ช่วยบรรเทาอาการไข้ แก้อาการขัดเบา

น้ำมันมะรุม
– ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้
– ใช้เป็นยาทาภายนอก แก้อชาการฟกช้ำดำเขียว แก้อาการปวดข้อ แก้โรครูมาติซัม

งานวิจัยเกี่ยวกับมะรุม [3] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
1. Ghasi และคณะ (1999) ได้ศึกษาการใช้สารจากใบมะรุมที่ระดับความเข้มข้น 200 มิลลิกรัม/ซีซี ในหนูทดลอง เพื่อดูว่าสามารถลดระดับคลอเรสเตอรอลได้หรือไม่ การศึกษา พบว่า สารสกัดจากใบมะรุมสามารถลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดหนูทดลองได้ผลอย่างดี โดย อีกทั้งพบว่า สารสกัดใบมะรุมไม่มีผลต่อปริมาณโปรตีนในกระแสเลือดแต่อย่างใด
2. การศึกษาการใช้สารสกัดจากเมล็ดมะรุมจำนวน 8 ชนิด ดังที่แสดงในหัวข้อสารสำคัญที่พบลำดับที่ 1-8 ต่อการยับยั้งการเกิดเนื้องอก และมะเร็งผิวหนัง พบว่า สารสกัดทั้งหมดสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิดเนื้องอก และมะเร็งผิวหนังได้ โดยพบว่า สารประกอบ niazimicin สามารถออกฤทธิ์ในการยับยั้งได้สูงสุด
3. การศึกษาประสิทธิภาพน้ำสกัดจากใบมะรุมต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ได้ทดลองกับหนูทดลอง พบว่า น้ำสกัดที่ได้มีความสามารถในการรักษาโรคเบาหวานได้ โดยน้ำสกัดจากใบมะรุมที่ความเข้มข้นขนาด 200 mg/kg BW มีประสิทธิภาพลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้สูงสุด
4. การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากเมล็ดมะรุมที่มีผลต่ออาการตับแข็งในหนูทดลอง นาน 8 สัปดาห์ พบว่า สารสกัดสามารถลดอาการตับแข็งได้
5. การศึกษาการใช้สารจากใบมะรุมที่มีต่อคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ พบว่า สารสกัดจากใบมะรุมสามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้ โดยสารสกัดจากใบมะรุมจะช่วยลดปริมาณของ Lipid peroxidationพร้อมกับช่วยเพิ่มปริมาณ catalase ซึ่งพบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้น 100 mg/kg BW มีประสิทธิภาพสามารถยับยั้งสารอนุมูลอิสระได้เทียบเท่าวิตามินอี 50 mg เลยทีเดียว

ทั้งนี้ มีรายงานการวิจัยที่เกี่ยวกับพิษของมะรุม ซึ่งพบมีรายงานความเป็นพิษเฉพาะในส่วนของเมล็ด ได้แก่
การศึกษาความเป็นพิษจากเมล็ดมะรุมที่มีผลต่อโครโมโซมในหนูทดลอง พบว่า สารสกัดมีผลต่อการเพิ่มจำนวนของ Micronucleus ซึ่งจะมีความเป็นพิษต่อโครโมโซมในร่างกาย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ นอกจากนั้น ยังพบผลการศึกษาความเป็นพิษอื่นๆ อาทิ สารสกัดเมล็ดมะรุมออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยออกฤทธิ์ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง รวมถึงพบว่า สารสกัดจากเมล็ดมะรุมมีพิษต่อปลาน้ำจืด โดยมีค่าความพิษของ LD50 ที่ระดับความเข้มข้น 124 mg/L และหากใช้ในความเข้มข้นต่ำลงที่ 12.4 mg/L อย่างต่อเนื่อง จะพบว่าจะเกิดความเป็นพิษแบบเรื้อรัง คือ มีการตรวจพบปริมาณเม็ดเลือดแดง และความเข้มข้นฮีโมโกลบินลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด

การปลูกมะรุม
มะรุมสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ
1. การเพาะเมล็ด
การเพาะเมล็ดจนได้ต้นกล้า วิธีนี้เป็นที่นิยมเช่นกัน แต่หากปลูกเพื่อการค้าจะไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากลำต้นสูงใหญ่ แต่มีวิธีทำให้ต้น เล็ก และเก็บยอดได้ต่อเนื่องเช่นกัน

การเพาะต้นกล้าจากเมล็ดทำได้โดยการนำเมล็ดจากฝักแก่ที่แห้งแล้วมาเพาะเมล็ด ทั้งอาจเพาะลงถุงเพาะชำโดยตรง หรือ เพาะเมล็ดลงแปลงเพาะก่อน

โดยใช้ดินร่วนผสมกับแกลบดำหรือปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:2 แล้วบรรจุใส่ถุงเพาะชำ ขนาด 4×6 นิ้ว จากนั้น นำเมล็ดมะรุมหยอดลงลึกประมาณ 1 นิ้ว 1-2 เมล็ด แล้วรดน้ำให้ดินชุ่ม และรดทุกวัน วันละ 1 ครั้ง จากนั้น 7-10 เมล็ดจะเริ่มงอก และหลังเมล็ดงอกประมาณ 50-60 วัน ก็พร้อมนำต้นกล้าลงแปลงปลูกได้

2. การปักชำกิ่ง
การปักชำกิ่งเป็นวิธีขยายพันธุ์ และใช้ปลูกที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน และเป็นวิธีปลูกที่พัฒนาเพื่อการจำหน่ายยอดเป็นหลัก เนื่องจาก สามารถทำได้ง่าย สะดวก และประหยัดเวลา สามารถเก็บยอดอ่อนรับประทานหรือจำหน่ายได้ภายในไม่กี่เดือน

การปักชำกิ่ง สามารถปักชำลงถุงเพาะชำก่อนหรือปักชำลงแปลงปลูกที่เตรียมดินไว้แล้วก็ได้เช่นกัน โดยเริ่มจากคัดเลือกกิ่งพันธุ์มะรุม ขนาดประมาณ 2-10 เซนติเมตร ตัดยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร จากนั้น ปักลงถุงเพาะชำหรือแปลงปลูกในแนวตรง ปักลึกประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้น รดน้ำ และดูแลต่อเนื่อง ซึ่งต้นมะรุมจะเริ่มแตกยอดใหม่ประมาณ 20-30 วัน

ทั้งนี้ การปลูกลงแปลง ให้ปลูกเป็นแถวในระยะระหว่างต้นในช่วง 50-60 เซนติเมตร เว้นระยะระหว่างแถว ประมาณ 1.5-2 เมตร หรือสามารถเว้นให้เดินได้ระหว่างแถว และอาจปลูกเป็นแถวคู่หรือแถวสามจึงเว้นช่องทางเดินก็ได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
[1] อิทธิพล แสงรุ่ง. 2552. การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพาะปลูกมะรุม-
กรณีศึกษา หจก. ที ทรี อินเตอร์เนชั่นแนล.
[2] Guevara, P. A. และคณะ. 1999. An antitumor promoter-
from Moringa oleifera Lam. .Mutation Research 440: 181–188.
[3] ธนวิทย์ ทองใหม่. 2555. การทดสอบพิษก่อกลายพันธุ์และพิษกึ่งเรื้อรังของ-
สารสกัดจากใบมะรุม (Moringa oleifera Lam.) และใบว่านพญาวานร-
(Pseuderanthemum palatiferum (Nees) Radlk.) ในหนูขาวเพศผู้.

ขอบคุณภาพจาก