มะขามแขก

Last Updated on 17 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset

มะขามแขก เป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายถั่วลันเตาหรือผลของมะขามที่เป็นที่มาของชื่อมะขามแขก เป็นพืชที่ขึ้นชื่อในเรื่องของยาระบาย และสรรพคุณที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร รวมถึงฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด

มะขามแขก มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Senna alexandrina P. Miller อยู่ในวงศ์ Fabaceae (Leguminosae-Caesalpinioideae) มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ คือ เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร ใบเหมือนกับใบมะขามทั่วไป แต่จะยาวกว่า และที่ปลายใบแหลมกว่า ก้านใบมีใบย่อย ประมาณ 7 คู่ และ ใบมีสีเขียว มีรสเปรี้ยวหวานชุ่ม ยอดของกิ่งจะออกดอกเป็นช่อสีเหลือง ผลเป็นฝักแบน คล้ายถั่วลันเตา มีสีเขียวใสตอนยังอ่อน เมื่อแก่จะกลายเป็นสีดำ มีเมล็ดประมาณ 6 เมล็ด มีรสเปรี้ยว การขยายพันธุ์สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดเพาะหรือใช้กิ่งปักชำ แต่สามารถงอก และเติบโตได้ดีด้วยเมล็ด ควรปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำไม่ท่วมขัง ช่วงที่เหมาะแก่การเพาะปลูกคือช่วงปลายฤดูฝน

มะขามแขก

ฤทธิ์ทางเภสัชกรรม
นิยมใช้ใบหรือฝักแห้งมาต้มกับน้ำสะอาดเพื่อดื่มเป็นยา อาจใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อกลบรสเฝื่อนหรือใช้วิธีตากแห้ง และบด เป็นผงชงกับน้ำดื่มหรืออัดใส่แคปซูลกิน มีสรรพคุณเป็นยาระบาย ถ่ายพิษอุจจาระเป็นมูก ถ่ายน้ำเหลือง ถ่ายพิษไข้ ถ่ายโรคบุรุษ ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร ถ่ายพิษไข้ ขับลมในลำไส้ แก้ท้องผูก ช่วยลดอาการบวมน้ำ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้

นอกจากนั้น มะขามแขกยังมีฤทธิ์ในการต้าน และยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ สามารถรักษา และป้องกันการติดเชื้อของแผลได้

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง

– การศึกษาองค์ประกอบ พบสารเคมีที่สำคัญในผล และใบของมะขามแขก ได้แก่ Anthraquinone glucosides, Anthraquinone sennoside A, B, C และD ที่มีฤทธิ์ช่วยในการระบาย ที่ออกฤทธิ์ได้มากที่สุด และใช้เป็นยาถ่าย ขนาดที่ใช้รับประทานประมาณ 0.2-0.5 กรัม/ครั้ง หรือนำมาต้มน้ำดื่ม
– การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังในผู้สูงวัย ด้วยยาที่มีมะขามแขกเป็นส่วนผสม กับยาระบายทั่วไปที่ไม่มีมะขามแขกเป็นส่วนผสม พบว่าการรับประทานยาที่มีส่วนผสมของมะขามแขก ให้ผลในการรักษาดีกว่ายาที่ไม่มีส่วนผสมของมะขามแขก โดยมีค่าเฉลี่ยความถี่ในการขับถ่าย (bowel frequency) ความสม่ำเสมอในการขับถ่าย (stool consistency) และความสะดวกในการขับถ่าย (ease of evacuation) มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
– การศึกษาสารพิษในมะขามแขก พบสาร aloe-emodin และ emodin ในมะขามแขกเล็กน้อย ซึ่งมีผลเป็นพิษต่อยีนของคน
– มีรายงานว่า มีการใช้มะขามแขกในคนไข้หลังผ่าตัดคว้านต่อมลูกหมาก และพบว่ามะขามแขกช่วยทำให้ถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะอันพึงประสงค์ได้ดีกว่าการใช้ Milk of Magnesia (MOM) นอกจากนี้แคลเซียมเซนโนไซต์ ยังช่วยทำให้ผู้ป่วยสูงอายุหลังการผ่าตัดสามารถขับถ่ายอุจจาระได้คล่องยิ่งขึ้น

sennoside A มีสูตรโมเลกุล C42H38O20 น้ำหนักโมเลกุล 862.72 มี C 58.47%, H 4.44% และ O 37.99% มีลักษณะเป็นผลึกสีเหลือง ตกผลึกได้ในสารละลายอะซิโตน ไม่ละลายในน้ำ เบนซิน อีเทอร์ และคลอโรฟอร์ม ละลายได้เล็กน้อยในเมทานอล อะซิโตน สลายตัวที่อุณหภูมิ 200-240 องศาเซลเซียส

sennoside B มีสูตรโมเลกุล C42H38O20 น้ำหนักโมเลกุล 862.72 มี C 58.47%, H 4.44% และ O 37.99% เหมือนกับ sennoside A แต่มีลักษณะโครงสร้างที่ประกอบด้วย Intramolecularly compensate meso-sennidin B และ D-glucose มีลักษณะเป็นผลึกรูปปริซึม สีเหลือง ตกผลึกเป็นรูปเข็มละเอียด ตกผลึกได้ในสารละลายอะซิโตน สลายตัวที่อุณหภูมิ 180-186 องศาเซลเซียส

sennoside C มีสูตรโมเลกุล C42H40O15

การใช้ประโยชน์
– นำใบ ดอก หรือฝักอ่อนมาตากแห้ง นำมาบดอัดใส่แคปซูลรับประทาน
– นำใบ ดอก หรือฝักอ่อนมาตากแห้ง นำมาต้มน้ำดื่มหรือบดให้ระเอียดชงดื่ม
– นำใบ ดอก หรือฝักอ่อนมาตากแห้ง นำมาบดหรือฝนเป็นผงสำหรับประคบแผล

ข้อแนะนำ
1. การใช้มะขามแขกเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการทำลายระบบประสาทที่ใช้ควบคุมการบีบตัวของลำไส้
2. การใช้มะขามแขก อาจทำให้กระดูกตามข้อมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ
3. มะขามแขกเป็นยาระบายชนิดที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเกร็งในช่องท้อง ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อุดตัน ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ และในสตรีมีครรภ์ หรือมีประจำเดือน
4. การใช้มะขามแขกร่วมกับยาต้านฮีสตามีนซึ่งเป็นยาแก้แพ้ อาจทำให้ฤทธิ์การเป็นยาระบายลดลง
5. การใช้มะขามแขกในทางที่ผิด อาจทำให้เป็นพิษต่อตับได้

การขยายพันธุ์
มะขามแขกเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง เป็นพืชที่ต้องการความชื้น ชอบขึ้นในที่ลุ่ม ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้น้อย พบได้ตามพื้นที่ป่าหรือตามพื้นที่รกร้างทั่วไป

ฝักมะขามแขก

มะขามแขกสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ด้วยวิธีการนำเมล็ดจากฝักแก่ที่ร่วงจากต้นหรือฝักแก่จากต้น นำเมล็ดมาตากแห้งประมาณ 1-2 แดด ก่อนนำไปหว่านลงพื้นที่ว่างหรือเพาะขยายพันธุ์ในถุงเพาะชำ ถุงดำ หรือ กะบะเพาะชำก่อนนำลงปลูก