พันธุ์มะละกอที่นิยมปลูก

Last Updated on 8 มีนาคม 2015 by puechkaset

พันธุ์มะละกอ ที่นิยมปลูกส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่เคยถูกนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในช่วงหลังมีการพัฒนา และผสมข้ามสายพันธุ์ จนได้ลักษณะเด่นกลายเป็นพันธุ์มะละกอชนิดต่างๆที่นิยมปลูกในปัจจุบัน

1. พันธุ์พื้นเมือง
มะละกอพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ไม่นิยมปลูก แต่ขอนำเสนอข้อมูลให้ทราบเบื้องต้น เพราะถือเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมานาน แต่ไม่นิยมปลูก พบปลูกในแต่ละท้องถิ่นหรือเติบโต และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเท่านั้น ปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่หายาก มีลักษณะเด่น คือ ทนต่อสภาพแวดล้อม และทนต่อโรคต่างๆได้ดี เติบโตได้ดีทั้งสภาพดินที่เป็นกรด-ด่าง ทนความแห้งแล้ง ผลมีลักษณะที่ไม่แน่นอน ลักษณะผลเล็ก ผิวไม่เรียบ ติดผลยาก ผลไม่ดก ผลดิบมีลักษณะเนื้อเหนียว หยาบ ผลสุกสีเหลือง มีลักษณะเนื้อเละ มีความหวานน้อย ไม่นิยมรับประทาน

มะละกอพันธุ์พื้นเมือง

2. พันธุ์ปากช่อง 1
เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะผลเล็กที่ได้รับความนิยมมากจากตลาดผลไม้ของยุโรป น้ำหนักผลประมาณ 350-500 กรัม มีความหวานประมาณ 12-14 องศาบริกส์ ก้านใบมีสีเขียวปนม่วง ยาว 60-70 เซนติเมตร ใบกว้าง 50-80 เซนติเมตร มีแฉก 7 แฉก เริ่มเก็บผลได้รุ่นแรกในระยะประมาณ 8 เดือน และสามารถเก็บผลต่อตลอดช่วงอายุอีก 18 เดือน สายพันธุ์นี้สามารถทนต่อโรคใบด่างได้ดี

3. พันธุ์ท่าพระ 50
เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างพันธุ์แขกดำ (แม่พันธุ์) กับพันธุ์ฟลอริดาทอเลอแรนท์ ทำให้มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นเตี้ย ความสูงเฉลี่ยประมาณ 1.30 เมตร เท่านั้น ใบมีสีเขียวเข้มที่ทนต่อโรคใบจุดวงแหวนได้ดี การผลิตผลได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถออกผลเร็วหลังจากย้ายกล้าปลูกเพียงระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เท่านั้น ผลสุกเริ่มรุ่นแรกในระยะ 6-7 เดือน เช่นกัน ลักษณะผลที่ให้จะมีขนาดกลาง เรียวยาว ให้น้ำหนักต่อผลประมาณ 1.5 กิโลกรัม ผลดิบให้เนื้อกรอบเหมาะสำหรับการทำส้มตำ ผลสุกมีลักษณะสีเหลือง รสชาติหวานนิยมรับประทานผลสุกเช่นกัน

4. พันธุ์โกโก้
มีลักษณะเป็นสายพันธุ์ต้นเตี้ย ให้ผลรุ่นแรกในช่วงอายุประมาณ 8-9 เดือน ต้นอ่อนมีสีม่วงปนเป็นจุดๆ ต้นโตจุดสีม่วงจะหายไป ก้านใบยาว มีทั้งสีม่วง สีน้ำตาลหรือสีเขียว ออกดอก และติดผลเร็ว เป็นพันธุ์ที่มีดอกตัวผู้มากถึงร้อยละ 80 ให้ผลขนาดกลาง ลักษณะผลส่วนหัวมน และค่อนข้างเรียวใหญ่ในช่วงท้ายผล ผิวผลเกลี้ยง ให้เนื้อแน่น กรอบ ผลสุกให้เนื้อสีแดงอมชมพู มีรสหวาน เมล็ดใหญ่สีเทาออกเหลือง นิยมรับประทานเป็นผลสุก และผลดิบสำหรับส้มตำ

5. พันธุ์แขกดำ
มีลักษณะเป็นสายพันธุ์ทรงพุ่ม ต้นเตี้ย มีความสูงเพียง 2-4 เมตร เท่านั้น ก้านใบสีเขียว สั้น ตรง ใบหนากว่าพันธุ์อื่นๆ สามารถออกดอก และติดผลเร็ว ผลดิบรุ่นแรกอายุประมาณ 3-4 เดือน หลังปลูก ให้ผลขนาดกลาง มีลักษณะผลที่ส่วนหัว และส่วนท้ายผลมีขนาดเท่ากัน ความยาวผลประมาณ 20-40 เซนติเมตร ผลดิบมีลักษณะสีเขียวเข้ม เปลือกหนา ให้เนื้อประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ผลสุกให้เนื้อสีแดงเข้ม นิยมรับประทานผลดิบสำหรับการทำส้มตำ และผลสุก โดยผลสุกให้ความหวานประมาณ 9-13 องศาบริกส์

6. พันธุ์แขกนวล
เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากพันธุ์แขกดำ ที่พบปลูกที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี นิยมส่งเข้าโรงงานเพื่อแปรรูป ลักษณะเด่น ได้แก่ สีใบเขียวเข้ม ขนาดผลปานกลาง ผลมีลักษณะกลมยาว สีเขียวเข้ม น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม/ผล ผลสุกมีลักษณะเนื้อสีเหลืองเข้ม ให้รสหวาน ความหวานประมาณ 13-14 องศาบริกส์ นิยมนำมารับประทานสุก

7. พันธุ์สายน้ำผึ้ง
เป็นสายพันธุ์ต้นเตี้ย มีลักษณะก้านใบสีเขียวปนขาว ก้านใบยาวกว่าพันธุ์แขกดำเล็กน้อย ในระยะออกดอก และติดผล ก้านใบรุ่นแรกๆในช่วงล่างของลำต้นจะเอ่นลงพื้น ใบมีลักษณะกว้าง บาง ส่วนลักษณะลำต้นมีลักษณะเป็นข้อยาว ลักษณะผลมีส่วนหัวค่อนข้างเรียวลง ส่วนท้ายมีลักษณะใหญ่กว่า ความยาวของผลประมาณ 25-30 เซนติเมตร หรืออาจยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร ผลดิบมีเปลือกสีเขียว มีร่องระหว่างผลชัดเจน เนื้อด้านในหนา 2-2.5 เซนติเมตร ผลสุกมีสีเหลือง เนื้อออกสีส้ม ให้รสหวาน นิยมบริโภคผลสุก

8. พันธุ์โซโล
เป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากในต่างประเทศ อายุการให้ผลผลิตในรุ่นแรกนานกว่าพันธุ์อื่นๆในช่วง 12-14 เดือน ที่ความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ให้ผลที่มีลักษณะคล้ายผลโกโก้ แต่ค่อนข้างกลมกว่า ขนาดผลยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 10 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 450 กรัม/ผล ผลสุกให้เนื้อที่มีรสหวาน เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ