ฝาง สรรพคุณ และประโยชน์

Last Updated on 23 พฤษภาคม 2015 by puechkaset

ฝาง (Sappan Tree) จัดเป็นยืนต้นที่คนโบราณที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์มากมาย อาทิ ใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านช่วยบำรุงเลือดในสตรี ช่วยขับประจำเดือน แก้เลือดกำเดา เป็นต้น รวมถึงนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเป็นสีย้อมผ้าธรรมชาติ

ชื่อวงศ์ : Ceasalpiniaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceasalpinia sappan Linn.

ชื่อสามัญ : Sappan Tree

ชื่ออื่นที่เรียกตามท้องถิ่น : ฝาง (ทั่วไป), ฝางเสน (ภาคกลาง), ง้าย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ฝางส้ม (กาญจนบุรี), หนามโค้ง (ภาคเหนือ), โซบั๊ก (จีน) แบ่งฝางออกเป็น 2 ชนิด ตามสีของเนื้อแก่น คือ แก่นสีเหลือง เรียกว่า ฝางส้ม และแก่นสีแดง เรียกว่า ฝางเสน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
ฝางเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลือกลำต้น และกิ่งก้านมีหนามขนาดใหญ่ โคนหนามพองโตคล้ายเต้านม

ลำต้นฝาง

2. ใบ
ใบประกอบด้วยก้านใบยาว และมีก้านย่อยที่ประกอบด้วยใบย่อย ก้านใบ 1 ก้าน มีก้านย่อยประมาณ 12 ก้าน แต่ละก้านย่อยประกอบด้วยใบย่อยประมาณ 13 คู่ ออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ใบมีลักษณะแบบขนนก คล้ายใบมะขาม สีเขียวสด และเมื่อแก่มีสีเขียวเข้ม ใบเรียบ ปลายใบมน และเว้าตรงกลางเล็กน้อย ผิวใบเรียบทั้ง 2 ด้าน

3. ดอก
ฝางออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดของต้น ดอกมีสีเหลือง กลางดอกมีสีแดง ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่ง และซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบรองดอกมี 5 กลีบรองว้อนทับกันที่ขอบกลีบ โดยมีกลีบล่างสุดมีลักษณะโค้งงอ และมีขนาดใหญ่สุด ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบเช่นกัน มีลักษณะเป็นรูปไข่กลับหัว ขอบกลีบมีลักษณะย่น ด้านในดอกมีเกสรตัวผู้ 10 อัน

4. ผล
ผลเป็นฝัก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมแข็ง แบนสีเขียว เหมือนมีดปังตอ เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม และแก่เต็มที่หรือแห้งจะมีสีน้ำตาลดำหรือดำ บริเวณผิวฝักมีลายแต้มเป็นจุดๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายกับถั่วแปบ โดยมีปลายฝักยื่นออกมาเป็นจงอยแหลม ด้านในฝักมีเมล็ดทรงเรียวรี 2-4 เมล็ด/ฝัก

Exif_JPEG_PICTURE

ที่มา : โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, 2544.(1)

สารสำคัญที่พบ
กลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ได้แก่
1. 7-hydroxy-3-(4′-hydroxybenzylidene)-chroman-4-one
2. 3,7-dihydroxy-3-(4′-hydroxybenzyl)-chroman-4-one
3. 3,4,7-trihydroxy-3-(4′-hydroxybenzyl)-chroman
4. 4,4′-dihydroxy-2-methoxychalcone
5. 7,30,40-trihydroxy-3-benzyl-2-h-chromene
6. 8-methoxy bouducellin
7. quereetin
8. rhamnetin
9. ombuin
10. 4-Omethylepisappanol
11. 3-O-deoxy-4-O-methylsappanol
12. intricatinol
13. caesalpin J
14. protosappanin A
15. 4-O-methylepisappanol
16. 4-O-Methylsappanol
17. 4-(7-Hydroxy-2,2-dimethyl-9-β-H-1,3,5-trioxa-cyclopenta[α]naphthalen 3-α-ylmethyl)-benzene-1,2-diol

กลุ่มสเตอรอยด์ (sterols)
1. beta-sitosterol 69.9%
2. campesterol 11.2%
3. stigmasterol 18.9%
4. brazilin
5. brazilein
6. protosappanin E
7. taraxerol
8. β-sitosterol

ที่มา: มนทยา, (2553)(2)

แก่นของต้นฝางประกอบด้วยสารประกอบ Brazilin ซึ่งเป็นสารหลักที่ทำให้เกิดสีในฝาง สามารถละลายน้ำ และเปลี่ยนรูปได้เมื่อเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ทำให้เกิดสารสีแดง ชื่อว่า บราซิลลีน (brazilein) ออกมา

แก่นฝาง

Brazilin มีคุณสมบัติ ดังนี้ (วิแทน, 2556)(3)
1. สามารถตกผลึกได้ในน้ำ ได้ผลึกรูปเข็ม ไม่มีสี จุดหลอมเหลว 191 – 192.5 °C
2. เมื่อถูกอากาศ หรือแสงจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม
3. เมื่อละลายได้ในน้ำ แอลกอฮอล์ อีเธอร์ และสารละลายด่าง จะให้สีแดงเข้ม (Carmine-red color)
4. สามารถสลายตัวได้เมื่อได้รับอุณหภูมิสูงกว่า 130°C

สาร brazilein เป็นสารประกอบสีขาว หากบริสุทธิ์จะไม่มีสี โดยปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของสาร brazilein จะเกิดช้าในเอทานอลบริสุทธิ์ และจะเกิดอย่างรวดเร็วในสารละลายที่มีสภาพเป็นด่างซึ่งจะทำให้มีการผลิตสารบราซิลีนออกมากลายเป็นสารมีสีแต่จะขาดหมู่ auxochrome ที่ทำให้ย้อมติดสีได้ช้าลง

brazilin ที่ใช้กันในอุตสาหกรรมมักอยู่ในรูปสารสกัดหยาบหรือสารสกัดบริสุทธิ์ ซึ่งมักมีเกลือผสมอยู่หลายชนิดเพื่อจะช่วยกระตุ้นการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกลายเป็นเม็ดสีที่ละลายน้ำ และย้อมติดสีได้ดีขึ้น สีที่ออกมาจะขึ้นกับวิธีการเตรียม เช่น หากใช้สารละลายที่มีสภาพเป็นกรดจะให้สีเหลือง แต่ใช้สารที่มีสภาพด่างจะให้สีแดง

ส่วนสารสกัด brazilin จากไม้ฝางมีความเสถียรเมื่อทดสอบด้วยสารละลาย 1% ของเอทานอล ในสภาพเป็นกรด และด่าง การเปลี่ยนแปลงของสีจะขึ้นกับค่า pH จากกรดที่ให้สีเหลือง และเป็นสีแดงเมื่อมีสภาพเป็นด่างมากขึ้น สารที่ให้สีแดงมักนำมาเป็นส่วนผสมในลิปสติก และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสีแดงหลายชนิด

สรรพคุณทางยา
คุณสมบัติทางยาของสารประกอบในแก่นฝางจะมีจากสารในกลุ่มกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) เป็นหลัก และสารอื่นๆในกลุ่มสเตอรอยด์ (sterols) ผลการทดสอบสาร brazilin ที่สกัดได้จากแก่นฝางในหลายงานวิจัย พบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี ทำให้มีผลช่วยระงับอาการอักเสบ อาการหอบหืด และต้านเชื้อโรคต่างๆได้ดี รวมถึงยับยั้งเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และต้านอาการภูมิแพ้ชนิดต่างๆได้ดี

แก่นที่มีสีแดง และเนื้อไม้ด้านนอก มีรสฝาดขม ต้มเอาน้ำดื่ม ช่วยบำรุงโลหิต แก้โรคปอด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อาหารท้องร่วง แก้บิด แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยลดไข้ แก้หอบหืด เป็นยาขับระดูอย่างแรง แก้เลือดออกทางทวารหนัก แก้ไอ ขับเสมหะ รักษาวัณโรค และแก้เลือดกำเดา

ฤทธิ์ทางเภสัชกรรม
1. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
สารสกัดจากแก่นฝาง ที่ความเข้มข้น 5 มิลลิกรัม สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ staphylococcus aureus, shigella flexneri, vibrio cholerae และ parahaemolyticus สารสกัดจากแก่นฝางที่ความเข้มข้น 100 มิลลิกรัม สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Dysenteriae และ Escherichia coli ได้

2. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
สาร brazilin ที่สกัดได้จากแก่นฝาง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนู Rat ที่ถูกทำให้เกิดการอักเสบที่เท้า (ฉีด Carageenin ในขนาด 10 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม)

3. ฤทธิ์ขยายหลอดเลือด
สารสกัดจากแก่นฝางที่ความเข้มข้น 10ไมโครกรัม/มิลลิลิตร มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด aorta ได้

4. ฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์
สารสกัดจากแก่นฝางด้วยเมธานอล-น้ำ (1:1) และน้ำ สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวน human HT-1080 fibrosarcoma cell ได้

5. ฤทธิ์ยับยั้งการสะสมไขมันบริเวณหลอดเลือด
สาร hematein สกัดจากแก่นฝาง สามารถลดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือดของกระต่ายได้

ความเป็นพิษ
สารที่สกัดได้จากแก่นฝางด้วยเอธานอล-น้ำ (1:1) เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูทดลองเพศผู้ และเพศเมีย พบว่า ขนาดของสารสกัดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 750 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (4)

การใช้ประโยชน์
1. สารสกัดจากแก่นฝางมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงถูกนำมาเป็นส่วนผสมในยา และเครื่องสำอาง ประเภทครีม เจล และโลชั่น เพื่อใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย
2. สารสีแดงหรือสีเหลืองที่สกัดจากแก่นฝางในความเป็นกรดด่างที่ต่างกัน มักใช้เป็นสารให้สี และเพิ่มความสวยงามให้แก่ผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น สบู่อาบน้ำ แป้งผัดหน้า ครีมทาหน้า เป็นต้น
3. สารสีแดงหรือสีเหลืองที่สกัดจากแก่นฝางในความเป็นกรดด่างที่ต่างกัน มักใช้เป็นสีย้อมผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

สาร brazilin จากแก่นของฝางที่นิยมนำมาทำเป็นสีย้อมผ้า เนื่องจากเมื่อต้มแก่นฝางแล้วจะให้สารสีเหลือง ชมพู ส้ม และสีแดงที่เป็นธรรมชาติ และสามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับโลหะออกไซด์ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก ทำให้เกิดการย้อมติดสีที่ดี โดยสมัยก่อนนิยมนำมาย้อมผ้าไหม ผ้าฝ้าย และขนสัตว์

4. ใช้เป็นส่วนผสมของสีผสมอาหารหรือขนมหวาน

5. ใช้เป็นส่วนผสมน้ำดื่มเพื่อให้เกิดสี เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาอุทัยสำหรับผสมน้ำดื่ม

การปลูก และขยายพันธุ์
ฝางสามารถได้ด้วยการปลูกด้วยเมล็ด สามารถเติบโตได้ดีในดินทุกสภาพ

กล้าฝาง

เอกสารอ้างอิง
untitled