ผีเสื้อข้าวสาร

Last Updated on 12 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset

ผีเสื้อข้าวสาร เป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญของข้าว และเมล็ดธัญพืชหลายชนิด รวมถึงไม้ผลหลายชนิด พบสร้างความเสียหายมาก โดยเฉพาะเมล็ดข้าวหลังการเก็บเกี่ยวในโรงเก็บที่ระยะหนอนจะคอยกัดกินเมล็ดข้าว

ผีเสื้อข้าวสาร (Corcyra cephalonica) จัดอยู่ในวงศ์ Pyralidae อันดับ Lepidoptera เป็นแมลงศัตรูในโรงเก็บที่สำคัญ โดยเฉพาะเมล็ดข้าว และพืชผลธัญพืชต่างๆ อาทิ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เมล็ดโกโก้ ชอคโกเเล็ต ผลไม้, กาแฟ เมล็ดฝ้าย งา และอื่นๆ หากมีการแพร่ระบาดจะเกิดการทำลายผลผลิตจากระยะดักแด้ที่คอยกัดกิน

ผีเสื้อข้าวสาร

วงจรชีวิต
ระยะไข่
ไข่ผีเสื้อข้าวสารมีลักษณะกลมรี ขนาดเล็กประมาณ 0.5 x 0.3 มิลลิเมตร มีผิวเรียบ สีขาว มันวาว ด้านท้ายของไข่จะมีลักษณะเป็นหัวจุก ไข่จะฟักเป็นดักแด้ภายใน 4-5 วัน หลังการวางไข่

ผีเสื้อข้าวสารระยะไข่

ระยะหนอน
หนอนผีเสื้อข้าวสารมีลักษณะสีขาวปนเทาหรือสีซีด เมื่อโตเต็มจะมีขนาด 3 x15 มิลลิเมตร ลักษณะหนอนมีปล้องท้อง 3 ถึง 6 ปล้อง และเพิ่มเป็น 10 ปล้อง เมื่อหนอนเริ่มมีขาเทียมแล้ว ลำตัวมีขนด้านบนของปล้องอก และส่วนท้อง โดยขึ้นบริเวณผนัง และรอบๆจุดขนจะเป็นจุดสีดำ มีการลอกคาบ 5-7 ครั้ง ในช่วงระยะตัวหนอน 28-41 วัน หนอนในระยะสุดท้ายจะสร้างเส้นใยปกคลุมลำตัว และพักตัวอยู่ในแหล่งอาหาร

ผีเสื้อข้าวสารระยะหนอน

ระยะดักแด้
ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 6-13 วัน ซึ่งจะพบตัวอ่อนมีเส้นใยปกคลุมแน่น ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม และมีปุ่มนูนตามเส้นกลางลำตัว ลำตัวยาว 7.5 ถึง 8.5 มิลลิเมตร และกว้าง 1.45 ถึง 2.6 มิลลิเมตร เมื่อเข้าสู่ระยะฟักตัวจะปรากฏเส้นปีกขึ้น ซึ่งจะแตกออกเป็นปีกง่ายเมื่อมีการฟักตัวเต็มที่

ผีเสื้อข้าวสารระยะดักแด้

ระยะตัวเต็มวัย
ผีเสื่้อข้าวสารจัดเป็นผีเสื้อขนาดกลาง สีปีก และลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีขนาดปีก 20-25 มม. ลำตัวยาว 12-15 มม. ส่วนหัวมีเกล็ดหุ้ม แหลมยื่นออกไปข้างหน้า ปีกคู่หน้ามีสีเส้นปีกค่อนข้างดำ ปกคลุมส่วนของลำตัวทั้งหมด ปีกหลังมีสีครีม บริเวณขอบปีก จะมีขนเล็กๆ ปรากฏชัดเจน เวลาเกาะปีกจะหุบแนบลำตัว ตัวผู้เต็มวัยมีขนาดลำตัวเล็กกว่าตัวเมีย ตัวเมียจะผสมพันธุ์ครั้งเดียว โดยใช้เวลา 1-2 วัน ใช้เวลา 4-6 วันในการวางไข่ ซึ่งจะวางบนเมล็ดข้าวสารหรือเมล็ดพืชๆต่างๆ ตัวเมีย 1 ตัว สามารถออกไข่ได้ 44-370 ฟอง

จำนวนไข่ที่วางได้ขึ้นอยู่กับ
– อุณหภูมิ โดยพบว่า ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 60 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียส สามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 132 ฟอง และอุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 210 ฟอง
– ความยาวช่วงกลางวัน และกลางคืน โดยพบว่า ช่วงกลางวันสั้น และกลางคืนยาวจะทำให้ปริมาณการวางไข่เพิ่มขึ้น
– น้ำหนักของเพศเมีย โดยพบว่า เพศเมียมีน้ำหนักแรกเริ่มตั้งแต่ 1 มิลลิกรัม จะสามารถวางไข่โดยจะวางไข่ได้เฉลี่ย 4.85 ฟอง

การผสมพันธุ์ของผีเสื้อข้าวสาร
เมื่อผีเสื้อข้าวสารออกจากระยะดักแด้ จะเริ่มเข้าสู่การผสมพันธุ์ภายใน 30 นาที การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นเมื่อมีการปล่อยสาร sex pheromone จากผีเสื้อข้าวสารเพศเมีย ที่มาจากสารคัดหลั่งจากเพศเมีย ซึ่งจะดึงดูด และกระตุ้นเพศผู้ให้เข้ามาผสมพันธุ์ โดยผีเสื้อข้าวสารจะตอบสนองต่อ pheromone สูงสุดในวันแรกที่ฟักออกจากดักแด้

ผีเสื้อข้าวสารเพศเมียจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว ในระยะ 1 ถึง 2 วัน หลังออกจากระยะดักแด้ หากไม่มีการผสมพันธุ์ เพศเมียจะวางไข่หมัน ส่วนเพศผู้สามารถผสมพันธุ์ได้ถึง 4 ครั้ง ในระยะเวลา 9 วัน อัตราของเพศผู้ และเพศเมียที่ 1 : 1

การสร้างความเสียหาย
เมื่อผีเสื้อตัวเมียวางไข่ จะมีสารเหนียวเคลือบเคลือบไข่ทำให้ติดแน่นกับอาหาร 1 ตัว จะวางไข่ประมาณ 44-370 ฟอง ไข่จะฟักใน 4-5 วัน เป็นตัวหนอนมีสีขาว โดยหนอนจะสร้างใยปกคลุมป้องกันตัวเอง ซึ่งจะเริ่มกินอาหาร ชักใย ถ่ายมูล และของเสียลงบนอาหาร ทำให้อาหารดูสกปรก
และเสียคุณภาพ โดยเฉพาะเมล็ดข้าวสารที่พบการแพร่ระบาด และเกิดความเสียหายมาก

การป้องกันกำจัดผีเสื้อข้าวสาร
การป้องกันกำจัดผีเสื้อข้าวสาร จะใช้วิธีการรม (fumigation) ด้วยสารเคมีเพื่อกำจัดแมลงที่ติดมากับเมล็ดพืช หรือการใช้สารเคมีคลุกกับเมล็ดพืช สารเหล่านี้ ได้แก่ สารเมธิลโบรไมด์ และฟอสฟีนซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการรมเมล็ดข้าวสาร และข้าวเปลือก สารเหล่านี้สามารถป้องกัน และกำจัดสิ่งอื่นๆที่ทำลายเมล็ดพืชได้ด้วย เช่น ไส้เดือนฝอย แมลง เชื้อรา แบคทีเรีย รวมถึงสัตว์ฟันแทะต่างๆ พบการใช้สารเหล่านี้มากในผลผลิตทางการเกษตรประเภทเมล็ดข้าว เมล็ดธัญพืช และผลไม้ที่มีการส่งออก และนำเข้า

สารเมธิลโบรไมด์จัดเป็นสารที่เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูง และเป็นสารที่มีผลทำลายชั้นบรรยากาศโลก ตาม Montreal protocol ส่วนสารฟอสฟีนนิยมใช้กำจัดแมลงศัตรูในโรงเก็บ เช่น มอดหัวป้อม มอดแป้ง มอดอกฟันเลื่อย และผีเสื้อข้าวสาร เป็นต้น

Shazali ได้ทดลองใช้ฟอสฟีนอัตรา 1.8 และ 2.4 กรัม/ลูกบาศก์เมตร กำจัดผีเสื้อข้าวสาร และแมลงศัตรูโรงเก็บอื่นๆ พบว่าสามารถกำจัดแมลงต่างๆได้ถึง 100%

Huang and Subramanyam ได้ทดลองใช้สารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ได้แก่ ไพริมิฟอสเมทธิล (pirimiphos-methyl) พบว่า สามารถควบคุมแมลงศัตรูโรงเก็บได้ นอกจากนี้ การใช้ไพริมิฟอสเมทธิล ที่ 4, 6 หรือ 8 mg/kg ร่วมกับ ไพเรทริน ผสมกับ ไพเพอร์โรนิลบิวทอกไซด์ (piperonyl butoxide) 0.38-1.5 mg/kg สามารถลดการมีชีวิตของหนอนผีเสื้อข้าวสารได้กว่า 95% ในระยะฟักตัวจากดักแด้ กว่า 99% และระยะตัวเต็มวัยได้กว่า 94%

Sharma and Bhargava (2004) ได้ทดสอบสาร diflubenzuron ในความเข้มข้นต่างๆ ในการกำจัดผีเสื้อข้าวสารของเมล็ดข้าวฟ่าง พบว่า สาร diflubenzuron มีผลต่อการเข้าระยะดักแด้ และการพัฒนาในระยะดักแด้เป็นผีเสื้อลดลง การตายในทุกระยะของผีเสื้อข้าวสารจะเพิ่มขึ้น เมื่อความเข้มข้นของ diflubenzuron เพิ่มขึ้น แต่สารนี้มีผลเป็นสารพิษตกค้างเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

Allotey และ Azalekor ได้ศึกษาใช้พืช 2 ชนิด คือ จากเปลือกของส้มเกลี้ยง และใบของสาบเสือ? พบว่า สารที่ได้จากเปลือกของส้มเกลี้ยง อัตรา 2.5 กรัม มีประสิทธิภาพ และสามารถลดจำนวนผีเสื้อข้าวสารมากกว่าครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม และสามารถควบคุมได้นานกว่า 1 เดือนครึ่ง