ผักติ้ว/ติ้วขาว/ติ้วขน ประโยชน์ และสรรพคุณผักติ้ว

Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ผักติ้ว หรือเรียก ติ้วขาว หรือ ติ้วขน หรือ ติ้วหนาม จัดเป็นผักป่าพื้นบ้านที่นิยมเก็บยอดอ่อน และดอกอ่อนมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะแกง และต้มยำต่างๆ อาทิ แกงหน่อไม้ แกงหรือต้มยำปลา รวมถึงใช้รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารอื่นๆ

ผักติ้ว เป็นชื่อเรียกทั่วไป นิยมใช้มากในภาคอีสาน และกลาง ส่วนคำว่า ติ้วขาว หรือ ติ้วขน จากการรวบรวมเอกสารทางวิชาการหลายฉบับ และจากฐานข้อมูลออนไลน์ของหน่วยงานราชการ [1], [2], [3], [4], [5], [10] พบว่า ติ้วขาว หรือ ติ้วขน เป็นชื่อเรียก ผักติ้วชนิดที่กินได้เหมือนกัน และมีข้อสังเกต คือ
คำว่า ติ้วขาว น่าจะตั้งจากลักษณะเด่นของดอกที่มีสีขาว
คำว่า ติ้วขน น่าจะตั้งจากลักษณะเด่นของดอกที่มีขน รวมถึงใบแก่ที่มีขนเล็กๆปกคลุม และอาจสื่อรวมถึงหนามบนลำต้น ทั้งนี้ อาจเป็นชื่อเรียกเดียวกันกับติ้วชนิดอื่นๆที่กินไม่ได้

• วงศ์ : Guttiferae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum formosum (Jack) Dyer ssp.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง ทั่วไป
– ติ้ว
– ผักติ้ว
– ติ้วขาว
– ติ้วขน
– ติ้วเหลือง
– กวยโชง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ภาคอีสาน
– ผักติ้ว
– ผักเตา เตา (เลย)
– ติ้วส้ม (นครราชสีมา)
– ราเง้ง (เขมร-สุรินทร์)
ภาคเหนือ
– ติ้วแดง
– ติ้วยาง
– ติ้วเลือด
– ติ้วเหลือง
– แต้วหิน (ลำปาง)
– กุยฉ่องเซ้า (กะเหรี่ยง-ลำปาง)
– เน็คเคร่แย (ละว้า-เชียงใหม่)
ภาคใต้
– มูโตะ (มาเลเซีย-นราธิวาส)
– แต้ว
– ตาว (สตูล)

ที่มา : [10] อ้างถึงใน เต็ม สมิตินันท์ (2544), มาโนช วามานนท์ และเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ (2538)

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ผักติ้วพบแพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว พม่า และเวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ในทุกภาค แต่พบมากในภาคเหนือ และอีสาน พบแพร่กระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และโปร่งหรือป่าเต็งรัง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ผักติ้ว จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 2-15 เมตร หรือมากกว่า ลำต้นแตกกิ่งหลักปานกลาง แต่แตกกิ่งแขนงมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนา โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน แต่ทรงพุ่มจะโปร่งในช่วงฤดูหนาวจนถึงแล้ง เพราะมีการพลัดใบ แก่นลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ส่วนกิ่งมีความเหนียว หักได้ยาก

ลำต้นผักติ้วมีลักษณะตั้งตรง ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับต่ำ โคนลำต้นมีหนามขนาดใหญ่ ซึ่งจะพบได้ตั้งแต่ต้นยังมีอายุน้อย หนามมีลักษณะแข็ง เป็นแท่ง ปลายหนามไม่แหลมคมมากนัก เพราะมีขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นแตกสะเก็ดเป็นแผ่น สีน้ำตาลอมดำ ส่วนกิ่งแขนงมีขนาดเล็ก กิ่งแขนงอ่อนหรือกิ่งบริเวณปลายยอดอ่อนมีสีม่วง ส่วนกิ่งแขนงแก่จะมีสีน้ำตาลอมเทาหรือสีเทา ทั้งนี้ หากใช้มีดสับเปลือกลำต้นจะมียางสีแดงไหลออกมา

ใบ
ผักติ้วเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวๆเรียงเยื้องสลับข้างกันบนกิ่ง ใบมีมีรูปหอกหรือขอบขนาน มีก้านใบสีม่วงอมแดง ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร แผ่น และขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีแดงอมม่วง และเป็นมัน ปลายใบมน จากนั้น เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียว และเป็นสีเขียวเข้ม และเป็นมันเมื่อใบแก่ ใบแก่มีโคนใบสอบแคบ และปลายใบมีลักษณะแหลม แผ่นใบมีขนขนาดเล็กปกคลุม ด้านล่างใบมีต่อมน้ำมันขนาดเล็กกระจายทั่ว ขอบใบโค้งเข้าหากลางใบ และมีเส้นกลางใบมองเห็นชัดเจน ส่วนเส้นข้างใบมีประมาณ 6-8 คู่ ขนาดใบกว้างประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ทั้งนี้ ใบผักติ้วจะเริ่มผลิหรือร่วงประมาณเดือนธันวาคม และเริ่มแตกยอดใหม่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์พร้อมกับออกดอก

ดอก
ผักติ้วออกดอกเป็นดอกเดี่ยว แต่ออกเป็นกระจุกในตาดอกเดียวกัน ดอกแทงออกจากตาดอกบริเวณเดียวกับตากิ่งแขนงย่อย กระจุกละประมาณ 1-6 ดอก ดอกมีก้านดอกสีม่วงอมแดง ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นตัวดอก ดอกตูมมีกลีบเลี้ยงสีเขียวประแดงม่วงหุ้มเป็นทรงกลม จำนวน 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะแผ่กลีบดอกออก จำนวน 5 กลีบ แต่ละกลีบดอกมีสีขาว มีขนปกคลุม แผ่นกลีบดอกเรียบ ปลายกลีบตัด และเป็นหยัก (เมื่อติดผล กลีบดอกจะร่วงหมด แต่จะเหลือกลีบเลี้ยงไว้หุ้มผล) ภายในดอกตรงกลางมีเกสรตัวผู้แยกออกเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีเกสรจำนวนมาก ปลายก้านเกสรเป็นเรณูสีเหลือง ด้านล่างเป็นรังไข่ จำนวน 3 อัน ทั้งนี้ ดอกผักติ้วจะเริ่มออกดอกประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะแทงออกก่อนการแตกใบใหม่ และทยอยออกดอกจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งช่วงหลังจะมีใบแตกคลุมจนมองเห็นเป็นทรงพุ่มเขียวแล้ว

ผล
ผลผักติ้วจะติด 1 ผล ใน 1 ดอก ผลมีรูปกระสวย ท้ายผลแหลมเล็ก ขนาดผลประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีม่วงอมแดง ผลแก่มีสีดำหรือน้ำตาลอมดำ ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงหุ้มผล และเมื่อแห้งจะปริแตกออกเป็น 3 ร่อง ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอมดำ เมล็ดมีลักษณะโค้ง และมีปีก เรียงอัดกันแน่นหลายเมล็ด [6]

ประโยชน์ผักติ้ว/ติ้วขาว/ติ้วขน
1. ยอดอ่อน และดอกนิยมรับประทานสดคู่กับอาหาร อาทิ ลาบ ซุปหน่อไม้ และน้ำพริก รวมถึงใช้ประกอบอาหารใส่แกงหรือประเภทต้มยำ ต้มส้ม ให้รสเปรี้ยว และดับกลิ่นคาวได้ดี อาทิ แกงเห็ด แกงหน่อไม้ ต้มยำปลาหรือต้มส้มปลา เป็นต้น เป็นที่นิยมมากในชาวอีสาน และชาวเหนือ ปัจจุบันนิยมรับทานมากขึ้น โดยเฉพาะภาคกลาง
2. ผักติ้วเป็นไม้ในป่า แต่ช่วงออกดอกจะมีดอกสีขาวสวยงาม ออกดอกดกทั่วปลายกิ่ง ช่วงออกดอกจะมีใบน้อย ทำให้ดอกโดเด่นแลดูสวยงาม ดังนั้น บางบ้าน นอกจากปลูกเพื่อนำยอดอ่อนหรือดอกมาประกอบอาหารแล้ว ยังปลูกเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับด้วย [7]
3. เปลือกลำต้นหรือแก่นใช้ต้มย้อมผ้า ให้เนื้อผ้าสีน้ำตาลเข้ม [5]
4. เปลือกลำต้นสับเปลือกด้านนอกออก ก่อนใช้เคี้ยวร่วมกับหมากพลู [5]
5. เนื้อไม้แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้างทำเสา ทำวงกบ ทำฝ้าหรือระแนง ส่วนกิ่ง และแก่นใช้หุงต้มอาหารหรือเผาถ่าน
6. ปัจจุบัน ผักติ้วเริ่มนิยมมากในทุกภาค นิยมปลูกไว้ในบ้านเพื่อเก็บรับประทาน และปลูกเพื่อการจำหน่าย ทำให้สร้างรายได้งามไม้แพ้ผักชนิดอื่น แต่จะมีฤดูเก็บในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น

คุณค่าทางโภชนาการผักติ้ว (100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 85.7
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 63
โปรตีน กรัม 2.4
ไขมัน กรัม 1.7
คาร์โบไฮเดรต กรัม 9.6
ใยอาหาร กรัม 1.4
เถ้า กรัม 0.6
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 67
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 19
เหล็ก มิลลิกรัม 2.5
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 56
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.04
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.67
ไนอะซีน มิลลิกรัม 3.1
วิตามิน A, RE ไมโครกรัม 560
เบต้า-แคโฑรทีน ไมโครกรัม 3,360

ที่มา : [11] กองโภชนาการ (2544)

สารสำคัญที่พบ
– Xanthones
– Anthraquinones
– Tannin
– Fflavonoid
– Cardiac Glycoside
– Alkakoids

ที่มา : [3], [9] อ้างถึงใน Boonnak และคณะ (2006)

สรรพคุณผักติ้ว/ติ้วขาว/ติ้วขน
ใบ
– ช่วยต้านโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
– ใบนำมาขยำ และใช้ทาแผล ช่วยรักษาบาดแผล
– ป้องกันโรคในหลอดเลือด
– ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ
– ช่วยบำรุงตา ป้องกันโรคตาปอดตอนกลางคืน
– ช่วยบำรุงเลือด ช่วยฟอกเลือด
– แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
– ช่วยขับลม
– แก้อาการปวดท้อง
– ใบนำมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว ก่อนใช้ทารักษาโรคผิวหนังต่างๆ

ดอก
– ช่วยต้านโรคมะเร็ง
– ดอกใช้ทารักษาบาดแผล
– ช่วยบรรเทาอาการไอ
– ช่วยบำรุงเลือด ช่วยฟอกเลือด
– แก้ปวดเมื่อยตามข้อ

แก่นลำต้น
– แก่นใช้แช่น้ำดื่ม แก้เลือดไหลไม่หยุด

ราก
– รากนำมาต้มน้ำดื่มหรือต้มร่วมกับแห้วหมู และรากปลาไหลเผือก ใช้แก้อาการปัสสาวะเล็ด อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
– ช่วยแก้อาการปวดท้อง

น้ำยาง
– น้ำยางจากเปลือกลำต้นใช้ทารักษาส้นเท้าแตก
– น้ำยางใช้ทาสมานแผล

ที่มา : [5], [8], [9], [10] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

การปลูกผักติ้ว/ติ้วขาว/ติ้วขน
ผักติ้วตามธรรมชาติจะแพร่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก ปัจจุบัน เกษตรกรปลูกผักติ้วด้วยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก และเริ่มนิยมปลูกจากกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอนร่วมด้วย

ขอบคุณภาพจาก Pantip.com/, gotoknow.org/, NanaGarden.com/, SiamFishing.com

เอกสารอ้างอิง
[1] http://www.phargarden.com/ : ฐานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ติ้วขาว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=52/.
[2] http://www.dnp.go.th/ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ติ้วขาว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.dnp.go.th/Pattani_botany/พันธุ์ไม้ป่า/ป่าบก/ติ้วขาว/ติ้วขาว.htm/.
[3] https://home.kku.ac.th/ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ติ้วขน หรือ ติ้วหนาม, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : https://home.kku.ac.th/orip2/thaiherbs/index.php/2013-05-04-04-14-43/32-2013-05-07-09-39-56/.
[4] http://www.qsbg.org/ : ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, ติ้วขน, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=2731/.
[5] http://eherb.hrdi.or.th/ : โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, ติ้วขาว, ติ้วขน, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=353&name=ติ้วขาว%2C ติ้วขน/.
[6]สายฝน ซุ่นขวัญ และสุบิน ศรีบุลม, 2549, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของกันเกรา-
ติ้วขาวและหวายขม.
[8] เต็ม สมิตินันท์, 2554, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.
[7] มาลี ณ นคร และคณะ, 2548, การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อติ้วขน.
[9] ศศิโสม วัยทอง, 2556, ผลของสารสกัดสมุนไพรในการยับยั้งเอนไซม์-
แอลฟา-อะไมเลสและเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส.
[10] สมสุดา ทีปสว่าง, 2550, ฤทธิ์ของสารสกัดติ้วในการรักษาแผล-
ในกระเพาะอาหารของหนูขาว.
[11] กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544, ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.