ผักขจร/ผักสลิด ดอกขจร/ดอกสลิด สรรพคุณ และการปลูกดอกขจร

Last Updated on 7 กันยายน 2016 by puechkaset

ผักขจร หรือ ผักสลิด (Cowslip creeper) จัดเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำดอกขจรหรือดอกสลิดมาประกอบอาหาร เพราะดอกมีความกรอบ หวาน มีกลิ่นหอม และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว นิยมทำได้หลายเมนู อาทิ ไข่เจียวดอกขจร แกงจืดดอกขจร ดอกขจรผัดน้ำมันหอย เป็นต้น

• วงศ์ : Asclepiadaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Telosma minor Craib
• ชื่อสามัญ :
– Cowslip creeper
– Pakalana vine
– Tonkin jasmine
– Telosoma
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– ผักขจร
– ผักสลิด
ภาคเหนือ
– ผักสลิดคาเลา
ภาคอีสาน
– ผักสลิดป่า
– ผักขะจอน
– ผักกะจอน
– ผักขิก

• ถิ่นกำเนิด : ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนตอนใต้ รวมทั้งประเทศไทย และอินเดีย
• จำนวนโครโมโซม : 2n=22

การแพร่กระจาย
ผักขจร/ผักสลิด ตามธรรมชาติสามารถพบได้ในทุกภาค พบมากตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น รวมถึงพบได้ตามริมแม่น้ำลำคลองที่สามารถสังเกตเห็นเป็นเถาเลื้อยปกคลุมไม้ด้านล่างหรือไม้ขนาดเล็ก ทั้งนี้ปัจจุบัน นิยมปลูกมากขึ้นตามบ้านเรือน และปลูกเป็นแปลงใหญ่เพื่อการค้า

ดอกขจร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ผักขจร/ผักสลิด จัดเป็นไม้ประเภทเถาเลื้อย สามารถเติบโตเป็นเถายาวได้มากกว่า 10-15 เมตร เถาแตกกิ่งจำนวนมาก เถา และกิ่งมีขนาดเล็ก เถาอ่อน และกิ่งอ่อนมีลักษณะกลม เปลือกเถาสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวเถาเป็นตะปุ่มขรุขระ หากกรีดเถาจะมีน้ำยางสีใสไหลออกมา ปลายเถาหรือปลายกิ่งมีขนอ่อนปกคลุม ส่วนแก้เถาหรือเนื้อไม้มีลักษณะแข็ง และเหนียว ทั้งนี้ การเติบโตของเถาจะพาดเลื้อยหรืออิงเกาะกับวัสดุเกาะ โดยไม่มีมือเกาะ เช่น พุ่มไม้เล็ก หรือต้นไม้ขนาดเล็ก ซึ่งเถาสามารถพาดเลื้อย และปกคลุมด้านบนของพืชอื่นๆได้อย่างรวดเร็ว

ใบ
ผักขจร/ผักสลิด เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แทงออกเป็นใบเดี่ยวๆ ใบเป็นใบเดี่ยว ตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ใบมีลักษณะรูปหัวใจ โคนใบบริเวณก้านใบเว้าลึก กลางใบกว้าง แผ่นใบมีลักษณะเป็นลูกคลื่นตามเส้นใบเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ปลายใบมีติ่งแหลม แผ่นใบมีสีเขียวสด มองเห็นเส้นใบหลัก สีเหลืองอมขาว ขนาดเล็ก จำนวน 5 เส้น ชัดเจน แผ่นใบมีขนอ่อนปกคลุม ขนาดใบกว้าง 3-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร

ใบขจร

ดอก
ดอกขจร/ดอกสลิด จัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสรได้ในดอกตัวเอง ดอกออกเป็นช่อที่มีดอกย่อยเรียงกันเป็นกระจุก ช่อดอกแทงออกตามซอกใบทั้งตามลำต้น และปลายกิ่ง ช่อดอกมีก้านดอกสั้นสีน้ำตาลอมเทา ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ที่ติดกับกระจุกดอกเป็นพวงห้อย พวงดอกหรือช่อดอกแต่พวงจะมีดอกประมาณ 15-30 ดอก หรืออาจพบได้มากกว่าหากดินมีความอุดมสมบูรณ์

ดอกขจร1

ดอกย่อยแต่ละดอก มีขนาดเมื่อบานเต็มที่ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกมีก้านดอกยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร โคนกลีบมีลักษณะเป็นหลอดหรือรูประฆังคว่ำ ยาว 5-8 มิลลิเมตร เชื่อมติดกับก้านดอก ดอกประกอบด้วยใบประดับเป็นเส้นเล็กๆ 1 คู่ ถัดมาเป็นกลีบเลี้ยง จำนวน 5 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายกลีบแหลม แผ่นกลีบสีเขียว หุ้มรองกลีบดอกแต่ละกลีบไว้ ถัดมาเป็นกลีบดอกจำนวน 5 กลีบ แผ่นกลีบมีสีเหลืองอ่อน แผ่นกลีบ และขอบกลีบเรียบ ปลายกลีบมนตรงขอบ และแหลมตรงกลาง ขนาดกลีบกว้าง 2-4 มิลลิเมตร ยาว 4-5 มิลลิเมตร ถัดลงมาตรงกลางกรวยดอกด้านในที่มีสีขาวอมเหลืองจะเป็นที่อยู่ของเกสรตัวผู้ มีก้านเกสรสีขาว จำนวน 5 อัน ถัดมาเป็นอับเรณู 5 อัน และมีก้านเกสรตัวเมีย 5 อัน ตรงกลางด้านล่างสุดเป็นที่อยู่ของรังไข่

ผล
ผลผักขจร/ผักสลิด เรียกว่า ฝัก มีลักษณะคล้ายฝักถั่วเขียว แต่ยาวมากกว่า ฝักมีรูปร่างกลม และเรียวยาว ตัวฝักโค้งเล็กน้อย ส่วนปลายฝักแหลม ขนาดฝัก 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาล ฝักที่แก่เต็มที่จะปริแตกแยกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก

เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างแบน และมีขนสีขาวเป็นพูยาว 2-4 เซนติเมตร ติดที่ขั้วเมล็ด ทำหน้าที่ช่วยให้เมล็ดลอยตามลมได้

ประโยชน์ผักขจร
1. ดอกอ่อน ผลอ่อน และยอดอ่อน นิยมเก็บมาประกอบอาหาร ทั้งลวกจิ้มน้ำพริก หรือปรุงอาหารจำพวกแกง ต้ม ทอด อาทิ แกงจืดดอกขจรแกงเลียงดอกขจร แกงส้มดอกขจร ไข่เจียวดอกขจร ผัดไข่ใส่ดอกขจร และดอกขจรน้ำมันหอย เป็นต้น
2. นอกจากการใช้ประโยชน์เพื่อการรับประทานแล้ว ต้นขจร/ต้นสลิด ยังมีเถาเลื้อยได้ยาว แตกกิ่งมาก จึงนิยมปลูกเพื่อทำซุ้มสำหรับให้ร่มเงาได้ด้วย
3. ดอกขจรออกดอกเป็นช่อหรือพวงใหญ่ ตัวดอกมีสีเหลือง เวลาบานจะเป็นช่อสวยงาม และหากดมจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จึงปล่อยให้ดอกบานสำหรับการประดับในบางครั้งคราว โดยเฉพาะต้นขจรที่ปลูกให้ขึ้นตามกำแพงหน้าบ้าน
4. ใบอ่อน และช่อดอกใช้สำหรับเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น ตามชนบทที่นิยมเลี้ยงหมูในครัวเรือน มักใช้พืชผักที่หาได้ตามท้องถิ่น เช่น ดอกขจรสำหรับนำมาต้มกับข้าวเลี้ยงหมู
5. เถา และกิ่งของขจรสามารถตัดมาทำเชือกรัดของ รัดไม้ทำรั้ว แทนเชือกได้ แต่ไม่คงทนนัก

คุณค่าทางโภชนาการ (ดอกขจรส่วนที่กินได้ 100 กรัม)
– พลังงาน : 72 แคลอรี่
– โปรตีน : 5.0 กรัม
– ไขมัน : 1.1 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 10.6 กรัม
– ความชื้น : 80.5 กรัม
– เส้นใย : 0.8 กรัม
– เถ้า : 1 กรัม
– วิตามิน A : 3,000 I.U.
– วิตามิน B1 : 0.04 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 : 0.12 มิลลิกรัม
– วิตามิน B3 : 0.17 มิลลิกรัม
– วิตามิน C : 68 มิลลิกรัม
– แคลเซียม (Ca) : 70 มิลลิกรัม
– เหล็ก (Iron) : 1.0 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส (P): 90 มิลลิกรัม

ที่มา : 1)

สรรพคุณขจร
ดอกอ่อน ยอดอ่อน และผลอ่อน
– ลดไข้ แก้อาการหวัด
– ช่วยขับเสมหะ ลดอาการระคายคอ
– ช่วยบำรุงโลหิต
– บำรุงธาตุ
– บำรุงตับ
– ช่วยบำรุงไต
– บำรุงปอด
– แก้เสมหะเป็นพิษ
– ช่วยบำรุงหัวใจ
– ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน
– ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม
– แก้อาการคลื่นเหียน อาเจียน
– แก้อาการหน้ามืด ตาลาย
– แก้ปวดศรีษะข้างเดียว
– แก้อาการปวดเมื่อย คั้นเนื้อคั้นตัว
– ช่วยแก้อาการท้อผูก ช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
– แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
– ช่วยเจริญอาหาร

เถาลำต้น
– ใช้ให้เจริญอาหาร และช่วยบำรุงร่างกาย
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยขับปัสสาวะ และช่วยขับสารพิษ

ราก
– ช่วยบำรุงเลือด แก้โรคติดเชื้อในเลือด
– น้ำต้มจากรากหรือรากฝนกับน้ำสำหรับใช้ยอดตา รักษาตาอักเสบ ตาแดง และตาติดเชื้อ
– ช่วยทำให้อาเจียน
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยถอนอาการเมาค้าง

เพิ่มเติมจาก : 2), 3)

การปลูกผักขจร/ผักสลิด
ผักขจร/ผักสลิด สามารถปลูกได้ทั้งการเพาะจากเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่ที่นิยม คือ การปักชำกิ่งจากต้นที่มีอายุเพียงไม่กี่ปี ซึ่งจะได้ต้นพันธุ์ที่ออกดอกเร็ว และสามารถแตกกิ่งได้มากใกล้เคียงกับต้นที่ปลูกด้วยเมล็ด

กล้าขจร

การปักชำเถา
การปักชำกิ่ง เกษตรกรนิยมปลูกต้นขจรด้วยเมล็ดก่อน แล้วปล่อยให้ต้นขจรเติบโตเลื้อยไปตามดิน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เถาขจรมีข้อปล้องถี่ ต่างจากการทำค้าง เพราะการทำค้างจะทำให้เถาขจรมีข้อปล้องยืดยาว ดังนั้น หากทำให้ข้อปล้องถี่ได้ ก็ย่อมสวามารถปักชำติดได้มากเช่นกัน

หลังจากที่ปลูกต้นขจรจนมีเถายาว เถามีขนาดตั้งแต่นิ้วก้อยขึ้นไป และเถามีสีน้ำตาลอมเทาแล้ว ก็สามารถตัดเถามาปักชำได้

ท่อนเถาที่ใช้ปักชำจะตัดยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จากนั้น นำท่อนพันธุ์มาแช่น้ำยาเร่งราก และน้ำยาป้องกันเชื้อรา ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อน แล้วนำปักชำในถุงพลาสติกดำเบอร์ 3 ทั้งนี้ จำนวนท่อนพันธุ์ที่ปักชำจะใช้ประมาณ 4-6 ท่อน/ถุง หลังจากนั้น นำถุงเพาะชำมาวางเรียงกันในที่แสงรำไร ด้วยการกางผ้าสะแลนคลุมไว้ด้านบน หรือ อาจปล่อยไว้บริเวณกลางแจ้งก็ได้

หลังจากเพาะแล้วควรให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง เพียงให้ดินในถุงชุ่ม เมื่อดูแลได้ประมาณ 10-15 วัน ท่อนพันธุ์ก็จะแทงยอด และใบใหม่ออกมาก หลังจากนั้น ดูแลอีกประมาณ 20-30 วัน จึงนำลงปลูกในแปลงดิน

วิธีปลูกผักขจร/ผักสลิด
หลังจากที่ดูแลต้นพันธุ์จนได้ตามระยะแล้ว ให้นำลงปลูกในแปลงดิน ซึ่งควรเตรียมแปลงดินด้วยการไถพรวน และกำจัดวัชพืชให้หมดก่อน และควรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม

รูปแบบการปลูก
1. ระยะปลูกระหว่างต้น ประมาณ 25 เซนติเมตร ส่วนระยะระหว่างแถว ประมาณ 2-2.5 เมตร สำหรับเดินเข้าออกตามแถวได้
2. ระยะปลูกระหว่างหลุม 2.5 เมตร แต่ละหลุมปลูก 3-5 ต้น ส่วนระยะระหว่างแถว ประมาณ 2-2.5 เมตร เช่นกัน

ปลูกขจร

ปลูกขจร1

การทำค้าง
การทำค้างแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. แบบแถวยาว
การทำค้างแบบนี้ จะทำตามแนวยาวตามแนวแถวที่ปลูก ด้วยการปักหลักไม้ด้านข้างแถวเป็นระยะๆ ระยะห่างระหว่างหลักประมาณ 2 เมตร แต่ละหลักขึงด้วยเส้นลวดเป็นตาข่าย

2. แบบแถวยาว และโครงไม้ด้านบน
การทำค้างแบบนี้ จะทำในลักษณะวิธีแรกก่อนหรือไม่ต้องขึงเส้นลวดระหว่างต้นเสาก็ได้ แต่จะเสริมโครงไม้สำหรับให้เถาเลื้อยด้านบนด้วย ซึ่งอาจใช้ไม้ตีขึงกับหลักเป็นช่องๆ และขึงด้วยเส้นลวดเพื่อลดจำนวนไม้อีกทีหนึ่ง

การให้น้ำ
หลังจากปลูกแล้วจะต้องให้น้ำต้นขจรอย่างสม่ำเสมอ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ในปริมาณที่หน้าดินชุ่ม และเมื่ออายุได้ 2-3 เดือน ขึ้นไป ลดการให้น้ำลง 2-3 ครั้ง/อาทิตย์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าฝนตกหรือไม่

การใส่ปุ๋ย
1. ระยะหลังปลูกจนถึง 1 เดือน ให้ปุ๋ยคอก 2 กำมือ/ต้น หว่านรอบโคนต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 10-20 กรัม/ต้น
2. ระยะหลังจาก 1 เดือน จนถึงก่อนออกดอก 2 เดือน ซึ่งเถาจะเลื้อยขึ้นด้านบน และเริ่มแตกกิ่งมากแล้ว จึงเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็น 25-7-7 ในอัตราเดียวกัน
3. ก่อนระยะออกดอกประมาณ 1 เดือน และตลอดช่วงออกดอก ให้ปุ๋ยคอกในอัตราเดียวกัน และเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเคมีเป็น 12-12-24 หรือสูตรอื่นที่มีเลขชุดสุดท้ายมากกว่าสองชุดด้านหน้า และให้ในอัตราเดียวกันกับระยะแรก

ทั้งนี้ การใส่ปุ๋ยเคมีอาจใช้วิธีโรยรอบโคนต้นที่ห่างจากโคนต้นประมาณ 15-30 เซนติเมตร หรือใช้วิธีละลายกับน้ำก็ได้

การเก็บดอกขจร
ดอกขจรจะเริ่มติดดอกได้ หลังจากปลูกแล้วประมาณ 3 เดือน และจะเก็บดอกได้ต่อเนื่องนาน 8 เดือน

เอกสารอ้างอิง
1