ผักกวางตุ้ง และการปลูกผักกวางตุ้ง

Last Updated on 1 มีนาคม 2016 by puechkaset

ผักกวางตุ้ง หรือ ผักกาดกวางตุ้ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน และญี่ปุ่น โดยสาเหตุที่คนไทยนิยมเรียกว่า ผักกวางตุ้ง ในช่วงที่มีการนำเข้ามาปลูกครั้งแรกจะเป็นพันธุ์ที่นำมาจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

ผักกวางตุ้งที่นิยมปลูก และรับประทานมากในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผักกาดเขียวกวางตุ้ง, ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ และผักกวางตุ้งดอก ทั้งนี้ ชนิดที่นิยมปลูก และรับประทานมากที่สุด คือ ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ซึ่งเป็นผักที่ปลูกมากเป็นอันดับต้นๆในบรรดาผักทุกชนิดในประเทศ

ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
วงศ์ : Brassicaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica Chinensis Linn.
ชื่อสามัญ : Choi sum

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (ผักกาดเขียวกวางตุ้ง)
ราก และลำต้น
รากผักกวางตุ้ง เป็นระบบรากแก้ว และมีรากแขนงตกออกด้านข้าง โคนรากแก้วจะมีขนาดใหญ่ ระบบรากอยู่ในระดับดินตื้น 10-20 ซม.

ลำต้นผักกวางตุ้งมีลักษณะตั้งตรง ลำต้นเป็นทรงกลม ขนาด 1.4-2 ซม. สูงประมาณ 30-50 ซม. โดยลำต้นในระยะก่อนออกดอกจะสั้น และอวบ แต่เมื่อแทงดอก ลำต้นจะชะลูดสูงอย่างรวดเร็ว โดยระยะดอกแก่อาจสูงได้ถึง 1 เมตร ส่วนเปลือกลำต้นบาง และมีสีเขียว สามารถลอกออกได้ง่าย โดยเปลือกลำต้นส่วนโคนจะเหนียว และเป็นเส้นใย ไม่นิยมรับประทาน ส่วนเปลือกลำต้นส่วนกลาง และยอดจะอ่อน ซึ่งใช้รับประทานพร้อมกับส่วนแก่น ส่วนแก่นลำต้นส่วนเหนือโคน เมื่อลอกเปลือกออกจะยังอ่อน สามารถนำมารับประทานได้

ผักกวางตุ้ง

ใบ
ผักกวางตุ้งจะออกเป็นใบเดี่ยว โดยมีใบเลี้ยงหลังการงอกจำนวน 2 ใบ ปลายใบตรงกลางเว้าลึกเข้า ส่วนใบจริงจะออกเยื้อง และสลับข้างกันตามความสูงของลำต้น ประกอบด้วยกาบใบสีเขียวอมขาว มีลักษณะกลม มีร่องด้านบน ยาว 3-8 ซม. ถัดมาเป็นแผ่นใบที่มีลักษณะเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีรูปไข่ กว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 15-20 ซม. ขอบใบมีรอยหยักขนาดเล็ก ปลายใบโค้งมน ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม และแก่ก่อนเหี่ยวร่วงจะมีสีเหลือง

ดอก
ดอกผักกวางตุ้งจะออกหลังการปลูกประมาณ 55-75 วัน โดยเป็นดอกชนิดสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสรได้ในตัวเอง และมีระบบดอกออกเป็นช่อ ประกอบด้วยก้านช่อดอกทรงกลมยาว 50-90 ซม. มีดอกออกเป็นกระจุกจำนวนมากตรงส่วนปลายช่อดอก แต่ละดอกเมื่อบานจะมีขนาด 1-1.5 ซม. ตัวดอกประกอบด้วยกลีบดอกชั้นนอก จำนวน 4 อัน ที่มีสีเขียวอ่อน ถัดมาเป็นกลีบดอกชั้นในที่มีสีเหลือง จำนวน 4 อัน ภายในดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 4 อัน และตรงกลางเป็นรังไข่ที่มีเกสรตัวเมียสีเหลืองอ่อนอยู่ด้านบน ทั้งนี้ ดอกผักกวางตุ้งจะทยอยบานจากด้านล่างขึ้นด้านบน

ดอกผักกวางตุ้ง

ขอบคุณภาพจาก www.thai.cri.cn

ผล และเมล็ด
ผลผักกวางตุ้งจะมีลักษณะเป็นฝัก มีก้านฝักยาว 1.2-2.5 ซม. ตัวฝักมีความยาวประมาณ 4-6 ซม. ขนาด 0.3-0.5 ซม. ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนโคนฝักที่มีเมล็ด ยาวประมาณ 3-4 ซม. และส่วนที่เหลือเป็นส่วนปลายฝักที่ไม่มีเมล็ด ฝักอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อฝักแก่จะมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล พร้อมกับปริแตกจากโคนฝักสู่ปลายฝักเพื่อให้เมล็ดร่วงลงสู่ดิน ภายในฝักจะมีเมล็ดจำนวนมาก โดยเมล็ดจะมีลักษณะทรงกลม ขนาดเมล็ด 1.5-2.5 มม. เมล็ดอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลอมดำ น้ำหนักเมล็ด 2.5 กรัม จะมีเมล็ดประมาณ 1,000 เมล็ด แต่ละฝักจะมีเมล็ด 5-25 เมล็ด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (ผักกาดกวางตุ้งฮ่องเต้)
ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ หรือบางครั้งเรียก ผักกาดเขียวกวางตุ้งฮ่องเต้ จะมีลักษณะแตกต่างกับผักกาดเขียวกวางตุ้งอย่างชัดเจน คือ ลำต้นจะเตี้ยสั้นมากจนแทบไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็นจนกว่าจะแทงก้านดอก โดยมีใบจะออกเรียงสลับหุ้มลำต้นซ้อนกันแน่น ส่วนโคนก้านใบมีมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ ผักกวางตุ้งชนิดนี้ ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมปลูกในระบบไฮโดรโพนิกส์ แต่ยังมีความนิยมน้อยกว่าผักกวางตุ้ง เพราะผักกวางตุ้งมียอดอ่อน และดอกอ่อนที่กรอบอร่อยมากกว่า ส่วนผักกวางตุ้งฮ่องเต้จะค่อนข้างหยาบ และเหนียวกว่า เพราะมีเพียงใบที่นำมารับประทาน

ขอบคุณภาพจาก www.flickriver.com

ประโยชน์ผักกวางตุ้ง
คุณค่าทางโภชนาการผักกวางตุ้ง
– พลังงาน 17.00 แคลอรี
– โปรตีน 0.70 กรัม
– ไขมัน 0.20 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 3.10 กรัม
– วิตามิน B1 0.7 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 0.13 มิลลิกรัม
– แคลเซียม 102.00 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 46.00 มิลลิกรัม
– เหล็ก 2.60 มิลลิกรัม
– วิตามิน C 53.00 มิลลิกรัม
– ไนอะซิน 0.80 มิลลิกรัม

ที่มา: ระพีพรรณ (2544)(1)

การปลูกผักกวางตุ้ง
การปลูกผักกวางตุ้งสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และปลูกได้ดีในดินทุกชนิดที่มีความชื้นสูงหรือเติบโตได้ดีหากให้น้ำที่เพียงพอ รวมถึงเป็นผักที่ชอบดินร่วนปนทราย และมีหน้าดินลึก 10-20 ซม.

สำหรับการปลูกผักกวางตุ้งนั้น แบ่งได้เป็นการปลูกในแปลงขนาดใหญ่เพื่อการค้า และการปลูกในแปลงขนาดเล็กสำหรับรับประทานในครัวเรือนหรือเพื่อจำหน่ายในชุมชน

1. การปลูกผักกวางตุ้งในแปลงขนาดใหญ่
การปลูกเพื่อการค้า จะปลูกได้หลายวิธี ได้แก่ ปลูกจากการย้ายต้นกล้า ปลูกจากการหว่านเมล็ดโดยตรง และปลูกด้วยการหยอดเมล็ด ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกด้วยการหว่านเมล็ดลงแปลง และการหยอดเมล็ดเป็นแถวยาว เพราะสามารถประหยัดเวลา และต้นทุนได้มาก แต่ทั้งนี้ จะขอกล่าวถึงการปลูกจากการย้ายกล้า เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปลูกด้วยวิธีอื่น

การเพาะกล้า
การเพาะกล้าผักกวางตุ้งจะทำการหว่านเมล็ดลงแปลงเพาะที่เตรียมไว้จากการไถพรวนดิน และหว่านรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก ขนาดแปลง 1-1.5 เมตร โดยก่อนการหว่านจะทำการคลุกเมล็ดกับยาป้องกันเชื้อราก่อน และหลังจากหว่านเมล็ดให้รดน้ำ ใส่ปุ๋ย และดูแลจนกว่ากล้าจะมีความสูง 5-10 ซม. ก่อนย้ายปลูกลงแปลงใหญ่

การเตรียมดิน และเตรียมแปลง
ผักกวางตุ้งมีระบบรากตื้นประมาณ 10-20 ซม. ดังนั้น จึงต้องเตรียมดินให้มีความร่วนซุยตลอด 1-30 ซม. ด้วยการไถพรวนดินจำนวน 2 รอบ ทำการตากดิน และกำจัดวัชพืช ทั้งนี้ ก่อนการไถรอบที่ 2 หรือไถยกร่องแปลงให้หว่านรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีก่อน (15-15-15 10 กิโลกรัม/ไร่) หรือหว่านรองพื้นเฉพาะปุ๋ยคอกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

การไถยกร่องแปลงจะทำเฉพาะในแปลงขนาดใหญ่ ด้วยการไถเปิดให้เกิดร่องระหว่างแปลง 0.4-0.5 เมตรแต่บางพื้นที่ เช่น ภาคกลางมักทำการยกร่องแปลงสูง โดยมีร่องน้ำกั้นแปลง ซึ่งสำหรับการปลูกในแปลงใหญ่จะทำการยกร่องแปลงขนาดประมาณ 1.5-2.5 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสม

การปลูกลงแปลง
หลังจากที่ต้นกล้าโตสูง 5-10 ซม. แล้ว จะทำการย้ายลงปลูกในแปลง ทั้งนี้ ก่อนถอนกล้าจะต้องรดน้ำให้ชุ่มก่อน โดยการปลูกในแปลงจะปลูกในระยะ 20×20 ซม.

การให้น้ำ
หลังการปลูกจะต้องให้น้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และให้ต่อเนื่องจนถึงระยะเก็บเกี่ยว

การใส่ปุ๋ย
หลังการปลูกแล้ว 1-2 อาทิตย์ ให้ใส่ปุ๋ย ดังนี้
– ปุ๋ยคอก 3-5 ตัน/ไร่
– ปุ๋ยเคมี 12-6-6 จำนวน 35 กิโลกรัม/ไร่ อาจให้ด้วยการหว่านหรือผสมน้ำรด

การเก็บเกี่ยว
ผักกวางตุ้ง จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 35-45 วัน หลังการหว่านเมล็ด หรือประมาณ 20-25 วัน หลังการย้ายปลูก ด้วยการใช้มีดตัดโคนต้น โดยไม่ต้องถอนต้น เพราะโคนต้นที่เหลือจะมีการไถกลบสำหรับเป็นปุ๋ยพืชสดต่อไปในการปลูกครั้งหน้า

2. การปลูกผักกวางตุ้งเพื่อรับประทานเอง
การปลูกเพื่อรับประทานเองมักใช้แปลงขนาดเล็กเพียงไม่กี่ตารางเมตร ในสวนหลังบ้าน หรือ ตามคันบ่อตามไร่นา ซึ่งมีการเตรียมดินง่ายๆด้วยการใช้จอบขุดพรวนดิน พร้อมกับกำจัดวัชพืชออกให้หมด ร่วมกับหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกพรวนผสมให้เข้ากัน

ส่วนการเตรียมกล้าจะใช้วิธีเดียวกันดังที่กล่าวในการปลูกแบบแปลงขนาดใหญ่ แต่จะใช้พื้นที่น้อยกว่าเท่านั้น ทั้งนี้ เกษตรกรบางรายมักใช้วิธีการปลูกโดยไม่ใช้กล้าพันธุ์ ด้วยการหว่านเมล็ดลงแปลง แล้วรดน้ำ ให้ปุ๋ย และดูแลจนต้นโตพร้อมเก็บรับประทาน แต่อาจมีการถอนต้นอ่อนทิ้งหากมีบางจุดมีต้นผักให้แน่นเกินไป

แมลงศัตรูพืช
– หนอนใยผัก
– หนอนกระทู้ผัก
– ด้วงหมัดผัก

โรคพืช
– โรคใบด่าง
– โรคราน้ำค้าง
– โรคแอนแทรคโนส
– โรคใบจุด

เอกสารอ้างอิง
1. ระพีพรรณ ใจภักดี. 2544. ผักชุดที่ 1: แสงแดดเพื่อนเด็ก.