ปวยเล้ง/ปวยเหล็ง (Spinach) สรรพคุณ และการปลูกปวยเล้ง

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ปวยเล้ง หรือ ปวยเหล็ง (Spinach) เป็นผักที่นิยมรับประทานมากในจีน และประเทศในยุโรป รวมถึงในในแถบเอเชียกลาง และสหรัฐอเมริกา เนื่องจาก ใบ และลำต้นสดมีความกรอบ เมื่อปรุงอาหารจะมีความนุ่ม และหวาน ไม่มีเสี้ยน รวมถึงเป็นผักที่มีอายุสั้น ใช้เวลาการปลูกสั้น ประมาณ 30-45 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้

• วงศ์ : Chenopodiaceae
• ชื่อสามัญ : spinach
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : spinacin oleraces Linn.
• ชื่อท้องถิ่น :
– ปวยเล้ง
– ปวยเหล็ง

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
หลักฐานทางพฤกษศาสตร์ยืนยันว่า ปวยเล้ง มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเปอร์เซีย หรืออีหร่านในปัจจุบัน ซึ่งคนท้องถิ่น เรียกว่า แอสปานัคห์(aspanakh) ที่นิยมรับประทานกันมาก ถึงขนานนามว่า “เจ้าชายแห่งผัก”

ปวยเล้ง ในเอเชียได้เริ่มแพร่เข้ามาในประเทศเนปาล และต่อมาจึงแพร่เข้าสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นผักที่รู้จัก และนิยมรับประทานมาตั้งแต่สมัยราชวงค์ถัง หรือในช่วงปี ค.ศ. 647 โดยกษัตริย์แห่งเนปาล ได้นำปวยเล้งเข้ามาถวายแก่จักรพรรดิจีน ต่อมาจึงนิยมรับประทาน และปลูกมากขึ้นจนเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ คำว่า “ ปวยเล้ง “ หรือ poh ts, ai เป็นคำเรียกภาษาจีน แปลว่า ผักจากเปอร์เซีย

ในสมัยที่นกรบชาวเปอร์เซียยกทัพไปบุกสเปนในศตวรรษที่ 11 ได้นำปวยเล้งเป็นเสบียงอาหารในยามสู้รบ และปวยเล้งได้แพร่เข้ายุโรปในช่วงศตวรรษที่ 14 ผ่านทางประเทศสเปน และมีการเรียกชื่อในภาษาละตินว่า spinachia ส่วนภาษาอังกฤษใช้เรียกว่า spinach

ปวยเล้งในประเทศตะวันตกในช่วงแรกยังไม่นิยมมากนัก แต่เมื่อมีการผลิตการ์ตูน Popeye the Sailor ในปี ค.ศ. 1929 ซึ่งมีการเผยแพร่ผักปวยเล้ง ในระยะหนึ่ง จึงทำให้ปวยเล้ง เป็นผักที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆชาวอเมริกัน [1] อ้างถึงใน ทวีทอง (2545)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ปวยเล้ง เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสั้น แตกใบเวียนล้อมรอบลำต้น สูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ส่วนระบบรากประกอบด้วยรากแก้ว และแตกรากฝอยออกด้านข้าง โคนต้น และโคนรากมักมีสีชมพู

ใบ
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนล้อมรอบลำต้น ใบประกอบด้วยก้านใบเรียวยาว ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ก้านใบด้านล่างมน ก้านใบด้านบนเว้าเป็นร่องตรงกลาง ถัดมาเป็นแผ่นใบ มีลักษณะรูปไข่ กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบมีทั้งชนิดหยักย่น และเรียบ แผ่นใบมีขนาดใหญ่ แผ่นใบค่อนข้างหนา มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ใต้แผ่นใบมีขนอ่อนปกคลุม

ดอก
ปวยเล้ง ออกเป็นช่อตรงกลางของลำต้น ดอกปวยเล้งเป็นดอกแยกเพศ มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศ ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น และดอกแยกเพสแต่อยู่บนต้นเดียวกัน แต่ส่วนมากการผสมเกสรจะเกิดแบบผสมข้ามดอก เพราะดอกสมบูรณ์เพศจะมีเกสรตัวผู้ที่แก่เร็วกว่าเกสรตัวเมีย ทำให้ผสมเกสรในดอกเดียวกันไม่ทัน

เมล็ด
เมล็ดปวยเล้งมี 2 ลักษณะ คือ เมล็ดกลม ที่เป็นพันธุ์ปลูกมากในแถบพื้นที่อากาศหนาว และเมล็ดหนาม ที่เป็นพันธุ์ปลูกมากในในประเทศอบอุ่น [2]

ขอบคุณภาพจาก สวนนิลละไมนานาพันธุ์พืชสวน

ชนิดปวยเล้ง/ปวยเหล็ง
1. ชนิดใบเรียบ (Smooth leaf) ได้แก่
– พันธุ์ Hybrid 424
– พันธุ์ Viroflay
2. ชนิดใยย่น (Savoy leaf) ได้แก่
– พันธุ์ Marathon
– พันธุ์ Virginia Savoy
3. ชนิดใบกึ่งย่น (Semi- Savoy leaf) ได้แก่
– พันธุ์ Early Hybrid 7 Chesapeake
– พันธุ์ Grandstand

ประโยชน์ปวยเล้ง/ปวยเหล็ง
1. ปวยเล้งรับประทานได้ทั้งก้านใบ ใบ และดอก เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นิยมรับประทานเป็นผักสด ผักลวก และใช้ประกอบอาหารหลายเมนู
2. ปวยเล้งทั้งลำต้นหรือตัดเฉพาะใบมาคั้นทำผักดอง
3. ใบแก่ปวยเล้งใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะหมู และเป็ด

คุณค่าทางโภชนาการปวยเล้ง (100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 93.1
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 25
โปรตีน กรัม 2.6
ไขมัน กรัม 0.9
คาร์โบไฮเดรต กรัม 1.6
ใยอาหาร กรัม 0.7
เถ้า กรัม 1.8
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 54
เหล็ก มิลลิกรัม 0.1
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 60
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 15
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.05
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.48
ไนอะซีน มิลลิกรัม 0.4
เบต้า-แคโรทีน ไมโครกรัม 2520
วิตามิน A, RAE ไมโครกรัม 420

ที่มา : [4]

สรรพคุณปวยเล้ง/ปวยเหล็ง
– ช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้มองเห็นได้ดีในกลางคืน
– ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ผุดผ่อง
– ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
– ช่วยบำรุงประสาท แก้โรคซึมเศร้า
– ช่วยบำรุงสมอง แก้โรคสมองเสื่อม ช่วยกระตุ้นความจำ
– ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ลดอาการเจ็บคอ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ใช้แก้อาการเหน็บชา
– แมกนีเซียม ช่วยให้ผ่อนคลาย และนอนหลับง่าย
– แคลเซียม ช่วยการสร้างกระดูก และต้านกระดูกพรุน
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยป้องกันโรคในระบบเส้นเลือด และหัวใจ
– แก้อาการท้องร่วง

เพิ่มเติมจาก : [1]

การปลูกปวยเล้ง/ปวยเหล็ง
ปวยเล้งเป็นพืชที่ปลูกมากในแถบประเทศอากาศหนาว แต่บางพันธุ์เติบโตได้ดีในแถบประเทศอบอุ่น โดยแถบประเทศตะวันตก พบปลูกในอิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนในเอเชียพบปลูกมากในประเทศจีน และประเทศที่มีอากาศหนาวใกล้เคียง ส่วนประเทศไทยมีการปลูกในภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง

ปวยเล้งเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในพื้นที่อากาศอบอุ่นถึงหนาว ปวยเล้งจะเติบโตช้าหากมีอุณหภูมิสูง การเติบโตหยุดชะงัก ทำให้ลำต้นแคระแกร็น และเมล็ดป่วยเล้งจะไม่งอก หากมีอุณหภูมิสูงกว่า 30 ºC [3] อ้างถึงใน Work และCarew (1955)

การเตรียมดิน เตรียมแปลง
แปลงปลูกจะต้องไถพรวนดินอย่างน้อย 1 ครั้ง และตากดินนาน 5-7 วัน ก่อนไถพรวนให้หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองพื้น อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ พร้อมกำจัดวัชพืชทิ้งให้หมด จากนั้น ไถยกร่อง กว้างประมาณ 1-1.5 เมตร ยาวตามขนาดของพื้นที่หรือตัดแบ่งความยาวออกเป็นช่วงๆตามความเหมาะสม

วิธี และขั้นตอนการปลูก
การปลูกปวยเล้ง แบ่งเป็น 3 แบบ คือ
1. การหว่านเมล็ด
ควบคุมการหว่านเมล็ดให้มีระยะห่าง ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก่อนคราดเกลี่ยหน้าดิน แล้วรดนำให้ชุ่ม

2. การหยอดเมล็ด
ใช้ไม้ขีดลากเป็นร่องตื้นๆตามแนวยาวของแปลง ระยะห่างระหว่างร่อง 15-20 เซนติเมตร ก่อนหยอดเมล็ดเป็นจุดๆ ห่างกันแต่ละจุด 10-15 เซนติเมตร แล้วคราดเกลี่ยกบร่อง และรดน้ำให้ชุ่ม

3. การปลูกจากต้นกล้า
หว่านเมล็ดลงแปลงเพาะหรือหยอดเพาะในกระบะเพาะชำ หลังการหว่านหรือหยดเมล็ดเกลี่ดินกลบเล็กน้อย จากนั้น รดน้ำ และดูแลจนต้นกล้าอายุ 7-10 วัน จึงถอนต้นย้ายลงปลูกในแปลง ระยะปลูก 15-20 เซนติเมตร ทั้งระยะต้น และระยะแถว

การดูแลรักษา
1. การใส่ปุ๋ย
– หลังการปลูก 10-15 วัน ให้ใส่ปุ๋ยคอก 1 ถังเล็ก/ 2 ตารางเมตร หรือประมาณ 1.5-2.5 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8 อัตรา 1 กำมือ/2 ตารางเมตร หรือประมาณ 10-20 กิโลกรัม/ไร่
2. การให้น้ำ
หลังจากการปลูก 5-7 วันแรก ให้รดน้ำทุกวันเพียงพอชุ่ม หลังจากนั้น เว้นระยะการให้น้ำเป็นวันละครั้งหรือ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์

3. การกำจัดวัชพืช
มั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกด้วยการถอนมือ เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ไม่แนะนำการใช้สารเคมี

การเก็บผลผลิต
ปวยเล้ง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 30-45 วัน หลังหว่านเมล็ด หากปล่อยให้เติบโตต่อ ปวยเล้งจะแทงช่อดอก และใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

การเก็บปวยเล้ง นิยมเก็บทั้งต้นในระยะที่แตกใบแล้ว 20-25 ใบ และมีใบขนาดใหญ่ประมาณ 5-8 ใบ ทั้งนี้ การเก็บปวยเล้ง นิยมเก็บถอนในช่วงเช้าตรู่ถึงสายหรือช่วงเย็น หากเก็บในช่วงแดดร้อน มักทำให้ใบแห้งเหี่ยว ใบเปราะหักง่าย เมื่อถอนต้นแล้ว ให้นำต้นมาล้างทำความสะอาด และตัดรากออก แล้ววางผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ก่อนบรรจุถุงรอจำหน่าย

เอกสารอ้างอิง
[1] เกรียงศักดิ์ สุขสบาย และบุญโชติ ดีพร้อม, 2551, การศึกษาประสิทธิภาพของผักปวยเล้ง
ในการยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน-
ของน้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร.
[2] ณัฏฐิณี บัวพงษ์ , 2547, การตรวจสอบดีเอ็นเอเมทิลเลชันในลำไย-
และปวยเล้ง ในระยะการชักนำการออกดอก-
โดยเทคนิคเอชเอที-อาร์เอพีดี.
[3] วิลาวัลย์ คำปวน, 2535, ผลของการใช้ระบบความเย็นต่อเนื่อง-
ต่อการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของ-
กระเทียมต้น และปวยเหล็ง.
[4] กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544, ตารางแสดงคุณค่าทาง-
โภชนาการของอาหารไทย.