ถั่วแขก ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกถั่วแขก

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ถั่วแขก (Snap bean) เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสูง นิยมรับประทานทั้งถั่วสด และถั่วแห้ง รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วต่างๆ อาทิ ถั่วกระป่อง และถั่วอบแห้ง รวมถึงอาหารเสริมในรูปแบบผงชงดื่มหรือเม็ดรับประทาน

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phaseolus vulgaris L.
• ชื่อสามัญ :
– Snap bean
– Fresh bean
– French bean
– String bean
– Graden bean
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ถั่วแขก
– ถั่วแขกพุ่ม
– ถั่วฝรั่งเศส
– ถั่วบุ้ง
– ถั่วฝรั่ง

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย

ถั่วแขก มีถิ่นกำเนิดบริเวณหุบเขา Tehuacan ประเทศแม็กซิโก แล้วแพร่เข้ามาในอเมริกากลาง และประมาณปี ค.ศ. 1594 ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศอังกฤษ ต่อมาประมาณศตวรรษที่ 16 ถูกนำเข้ามาปลูกในแถบประเทศในยุโรป โดยชาวสเปน และโปตุเกส แล้วแพร่กระจายในประเทศต่างๆของเขตร้อนชื้น และเขตอบอุ่น (1), ((6) อ้างถึงใน Purseglove, 1977)

%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b9%81%e0%b8%82%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%ad%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น
ถั่วแขก เป็นพืชล้มลุกอายุ 2-3 ปี มีทั้งพันธุ์ที่เป็นไม้ยืนต้นเป็นทรงพุ่ม กึ่งเลื้อย และไม้เลื้อย ลำต้นแข็ง แตกกิ่งก้านน้อย โดยพันธุ์ยืนเป็นทรงพุ่มมีลักษณะลำต้นเป็นข้อสั้นๆ 4-8 ข้อ ลำต้นสูงประมาณ 25-30 เซนติเมตร พันธุ์กึ่งเลื้อย มีลำต้นสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร ส่วนพันธุ์เลื้อยมีลำต้นสูงประมาณ 1.8-3 เมตร ส่วนระบบรากประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนงที่หยั่งลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร (3)

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b9%81%e0%b8%82%e0%b8%81

ใบ
ใบถั่วแขกออกเป็นประกอบ แทงออกบริเวณข้อของลำต้น แต่ละใบมีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะใบย่อยแตกต่างกันตามสายพันธุ์ โดยทั่วไปมักมีฐานใบกว้าง ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ และมีขนปกคลุม แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวจางๆ

ดอก
ถั่วแขก ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบที่ปลายยอด ประกอบด้วยดอกย่อยที่มีสีหลากหลายตามสายพันธุ์ อาทิ สีเหลือง สีขาว และสีชมพู ดอกย่อยแต่ละดอกมีก้านดอกสั้น ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวที่ฐานกลีบเชื่อมติดกันเป็นกรวยล้อมรอบกลีบดอก ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ ดอกจะบานจากดอกโคนสู่ไปสู่ปลายช่อ ทั้งนี้ ดอกถั่วแขกจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสรได้ในดอกตัวเอง ทำให้ติดฝักได้ครบตามจำนวนดอกที่ออก ดอกจะร่วงภายใน 2-3 หลังบาน

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b9%81%e0%b8%82%e0%b8%81

ฝัก และเมล็ด
ฝักถั่วแขก มีลักษณะคล้ายกับฝักถั่วเขียว แต่มีขนาดสั้นกล่าว ฝักมีลักษณะทรงกระบอกกลม และเรียวยาว ผิวฝักเรียบ และอาจโค้งเล็กน้อย ขนาดฝักประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก เรียงเป็นแถวตามแนวยาวของฝัก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต มีหลายสีตามสายพันธุ์ อาทิ สีดำ สีขาว สีเหลืองครีม สีชมพู สีเขียว สีแดงม่วง หรือสีน้ำตาล ใน 1 ฝัก จะมีเมล็ดประมาณ 5-8 เมล็ด ใน 100 เมล็ด จะหนักประมาณ 20-60 กรัม (2)

%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b9%81%e0%b8%82%e0%b8%81

ประโยชน์ถั่วแขก

1. เมล็ดถั่วแขกนำมาต้มรับประทาน ทำซุปถั่วแขก หรือใช้ผสมในขนมหวานต่างๆ
2. เมล็ดถั่วแขกนำมาบดสำหรับทำแป้งเพื่อใช้ทำวุ้นเส้นหรือขนมหวาน
3. เมล็ดถั่วแขกแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารเสริมในรูปแบบเม็ดหรือผง อาทิ ซุปถั่วแขกในกระป๋อง ถั่วแขกผสมคอลลา และผงถั่วแขกพร้อมชงดื่ม เป็นต้น
4. ถั่วแขกใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์หรือใช้เลี้ยงสัตว์

คุณค่าทางโภชนาการถั่วแขก (เมล็ด 100 กรัม)

ถัวแขกเขียวดิบ ถั่วแขกเขียวปรุงสุก (ไม่ใส่เกลือ)
Proximates
น้ำ กรัม 90.32 89.22
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 31 35
โปรตีน กรัม 1.83 1.89
ไขมัน กรัม 0.22 0.28
คาร์โบไฮเดรต กรัม 6.97 7.88
เส้นใย กรัม 2.7 3.2
น้ำตาลทั้งหมด กรัม 3.26 3.63
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 37 44
เหล็ก มิลลิกรัม 1.03 0.65
แมกนีเซียม มิลลิกรัม 25 18
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 38 29
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 211 146
โซเดียม มิลลิกรัม 6 1
สังกะสี มิลลิกรัม 0.24 0.25
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 12.2 9.7
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.082 0.074
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.104 0.097
ไนอะซีน มิลลิกรัม 0.734 0.614
วิตามิน B-6 มิลลิกรัม 0.141 0.056
โฟเลต ไมโครกรัม 33 33
วิตามิน B-12 ไมโครกรัม 0.00 0
วิตามิน A, RAE ไมโครกรัม 35 32
วิตามิน A, IU IU 690 633
วิตามิน E มิลลิกรัม 0.41 0.46
วิตามิน D (D2 + D3) ไมโครกรัม 0 0.0
วิตามิน K ไมโครกรัม 43.0 47.9
Lipids
กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด กรัม 0.05 0.064
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดสายเดี่ยวทั้งหมด กรัม 0.01 0.011
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหลายสายทั้งหมด กรัม 0.113 0.145
คอลเลสเตอรอล มิลลิกรัม 0 0
Caffeine มิลลิกรัม 0 0

 ที่มา : ถั่วแขกเขียวดิบ : USDA Nutrient Database, ถั่วแขกเขียวอบสุก : USDA Nutrient Database

%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b9%81%e0%b8%82%e0%b8%81

สรรพคุณถั่วแขก

– ถั่วแขกพุ่มมีธาตุเหล็กสูง ช่วยในการสร้างเม็ดเลือก (8)
– ช่วยบำรุงร่างกาย (9)
– ช่วยแก้ดับร้อน (9)
– ช่วยขับปัสสาวะ (9)
– ช่วยรักษาอาการบวมน้ำ (9)

นอกจากนี้ เมล็ดของพืชสกุลถั่วยังมีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเส้นเลือด กระตุ้นการนำไขมันที่สะสมมาใช้ ทำให้ร่างกายผอมลง ช่วยลดความอ้วนได้ (10)

การปลูกถั่วแขก

ถั่วแขก สามารถปลูกได้ในทุกภาคของไทย เติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 19-27 ºC ดังนั้น การปลูกในฤดูหนาวจะได้ผลดีกว่าฤดูอื่นๆ ซึ่งทั่วไปมักปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หากปลูกในช่วงหน้าแล้งหรือหน้าฝนที่ฝนตกชุมมักมีผลทำให้ดอกร่วงง่าย ส่วนดินปลูก ถั่วแขกชอบดินร่วนปนทราย (5) อ้างถึงใน Tindall (1983)

ถั่วแขกที่พบปลูกในไทยได้แก่ ถัวแขกพุ่ม และถั่วแขกเลื้อย ส่วนถัวแขกที่สามารถให้ผลผลิตดี ได้แก่ ถั่วแขกพุ่มพันธุ์โบรเคอร์ (Broker) ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย มีลำต้นสูงประมาณ 40-45 เซนติเมตร ทรงพุ่มกว้างประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใบกว้างประมาณ 9-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว เริ่มออกดอกประมาณ 34 วัน หลังปลูก และติดฝักที่อายุประมาณ 46-52 วัน หลังปลูก ให้ฝักประมาณ 142 ฝัก/ต้น ฝักกว้าง 0.6-0.9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 14-15 เซนติเมตร มีเมล็ดในฝักประมาณ 6-8 เมล็ด เก็บเกี่ยวเมล็ดที่อายุ 90-100 วัน หลังปลูก (7)

การเตรียมแปลงปลูก
– ไถพรวนแปลง 1 รอบ และตากดินนาน 7-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช
– หว่านด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่
– หว่านด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่
– หลังจากนั้น ทำการไถกลบ และไถยกร่อง

การปลูก
– การปลูกถั่วแขก นิยมปลูกด้วยวิธีการหยอดเมล็ดเป็นแถวๆ โดยมีระยะห่างระหว่างหลุม และแถว ประมาณ 50×50 เซนติเมตร
– ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก่อนหยอดเมล็ดถั่วหลุมละ 3-4 เมล็ด พร้อมเกลี่ยหน้าดินกลบ

%e0%b9%81%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b9%81%e0%b8%82%e0%b8%81

การถอนต้น
– หลังปลูก 7 วัน หากหลุมใดมีต้นถั่วงอกเพียง 1 ต้น หรือไม่งอก ให้หยอดเมล็ดถั่วใหม่
– หากหลุมที่เมล็ดถั่วงอกทั้งหมด ให้ถอนต้นถั่วทิ้ง เหลือไว้หลุมละ 2 ต้น โดยคัดเลือกไว้เฉพาะต้นที่ขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ ไม่มีรอยแมลงกัดกินใบหรือยอด

การทำค้าง และกำจัดวัชพืช
– หลังปลูกแล้วประมาณ 15-20 วัน ให้ปักค้างด้วยไม้ไผ่ข้างต้นถั่ว เพราะช่วงนี้ ถั่วแขกจะเริ่มแทงยอดยาว
– กำจัดวัชพืชรอบต้นถั่วด้วยจอบถาก ก่อนการปักค้าง (พันธุ์เลื้อยหรือกึ่งเลื้อย) หลังจากนั้น อีกประมาณ 1 เดือน ให้กำจัดวัชพืชอีกรอบ

%e0%b8%84%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b9%81%e0%b8%82%e0%b8%81

การให้น้ำ
– หากปลูกในช่วงต้นฤดูฝนให้ปล่อยเติบโตตามธรรมชาติ หากฝนทิ้งช่วงนานหรือฝนไม่ตกหลายวัน ให้น้ำวันละ 1 ครั้ง
– การปลูกปลายฤดูฝนจนถึงฤดูแล้ง ควรมีระบบน้ำติดตั้ง อาทิ ระบบสปริงเกอร์ ให้วันเว้นวัน หรือปล่อยน้ำเข้าแปลงในทุกๆ 7-10 วัน

การใส่ปุ๋ย
– ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หลังปลูก 7 วัน และ30 วัน
– ใส่ปุ๋ยสูตร 10-10-20 หลังปลูก 45 วัน

การกำจัดโรค และแมลงศัตรูพืช
– หากพบหนอนซอนใบ หนอนเจาะฝัก หรือแมลงวันจะลำต้น ให้ฉีดพ่นด้วยโมโนโครโตฟอส
– หากพบอาการของโรคโคนเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อรา ให้ฉีดพ่นด้วยควินโทซีน และอีทริไดอะโซล

การเก็บฝัก
ถั่วแขกจะเริ่มออกดอกประมาณ 35-40 วัน หลังปลูก ฝักอ่อนจะเติบโตในช่วง 10-22 วัน หลังดอกบาน ซึ่งจะมีฝักเป็นสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่ออายุ 25 วัน ต่อเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มที่ระยะ 28 วัน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนประมาณวันที่ 30-35วัน หลังดอกบาน
– การเก็บฝักอ่อนเพื่อใช้ประกอบอาหาร สามารถเก็บได้ในช่วงอายุ 15-20 วัน หลังดอกบาน
– การเก็บฝักเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์สามารถเริ่มเก็บตั้งแต่อายุ 28-30 วัน หลังดอกบาน ซึ่งจะมีอัตราการงอกสูงสุด (3)
– ฝักถั่วแขกเพื่อนำเมล็ดไปรับประทาน สามารถเก็บได้เมื่อฝักแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อน ใบเริ่มเหลือง หรืออยู่ในช่วง 30-35 วันหลังดอกบาน

ตัวอย่างงานทดลองปลูกถั่วแขกพันธุ์จากร้านค้าบนที่ราบในช่วงอากาศหนาว สามารถให้ฝักสด ประมาณ 57 ฝัก/ต้น ผลผลิตน้ำหนักฝักรวม ประมาณ 3,370 กิโลกรัม/ไร่ (4)

ขอบคุณภาพจาก bankaset-foodfarm.com/, hua-hin.org/, plantvillage.org/, ginraidee.com/, http://hubpages.com/

เอกสารอ้างอิง

(1) ดำเกิง ป้องพาล, 2542, ถั่วแขก, เอกสารประกอบการบรรยายวิชา พส 452 เทคโนโลยีการผลิตพืช, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
(2) ต่อพงษ์ สุทธิรางกูล, 2549, การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ –
ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วแขกในระบบเกษตรอินทรีย์, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
(3) มาริษา สงไกรรัตน์ ขวัญจิตร สันติประชา และวัลลภ สันติประชา, 2550, การพัฒนาและการสุกแก่ของเมล็ดพันธุ์ถั่วแขก, วารสารสงขลานครินทร์, 29(3) พฤษภาคม-มิถุนายน 2550.
(4) ดำเกิง ป้องพาล และคณะ, 2544, รายงานผลการวิจัยเรื่องการศึกษาแนวทาง-
ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วแขก, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
(5) มาริษา สงไกรรัตน์, 2550, อายุการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์-
และผลผลิตผักสดของถั่วแขก, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
(6) รัตนาภรณ์ รัตนานุกูล, 2539, อิทธิพลของพาโคลบิวทราโซล เมพิควอท คลอไรด์-
และคามิโนไซด์ต่อการเจริญเติบโต-
และผลผลิตของถั่วแขกพุ่ม, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(7) สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ, 2536, ข้อมูลลักษณะถั่วแขกพุ่มพันธุ์ดปรเคอร์.
(8) http://hkm.hrdi.or.th/, องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน : ถัวแขก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://hkm.hrdi.or.th/knowledge/detail/14/.
(9) คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์, เรื่องน่ารู้ของถั่ว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ วันที่ 21 มกราคม 2559, เข้าถึงได้ที่ : http://medinfo2.psu.ac.th/healthpromotion/images/stories/Banner_personel/p_2.pdf/.
(10) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, ยาแผนโบราณ กับการลดน้ำหนัก , ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : masterorg.wu.ac.th/file/rsomya-20111124-142752-re3UN.doc.