ถั่วพู สรรพคุณ และการปลูกถั่วพู

Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset

ถั่วพู (Wing Bean) จัดเป็นพืชตระกูลถั่วที่นิยมนำฝักอ่อนมารับประทาน ทั้งจิ้มน้ำพริก และประกอบอาหารจำพวกแกง เนื่องจาก เนื้อฝักมีความกรอบ และให้รสมัน ซึ่งแต่ก่อนเป็นผักที่ปลูกตามครัวเรือนสำหรับรับประทานเอง แต่ปัจจุบัน มีการปลูกในแปลงใหญ่สำหรับการค้ามากขึ้น เนื่องจากเป็นที่ต้องการรับประทานมาก

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psophocarpus tetragonolobus Linn.
• ชื่อสามัญ :
– Wing bean
– Princess bean
– Goa bean
– Manila bean
– Four angled bean
– Four angled bean
– Cornered bean
• ชื่อท้องถิ่น : ถั่วพู

การแพร่กระจาย
ถั่วพูเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อน ได้แก่ ป่าในแถบปัวปัวนิวกีนี และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งทั่วโลกมีมากกว่า 122 สายพันธุ์ โดยในประเทศไทยสามารถพบถั่วพูได้ในทุกภาพ

ถั่วพูฝักเขียว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น และราก
ต้นถั่วพูเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเถายาวเลื้อยเกาะตามวัสดุหรือต้นไม้อื่น ลำต้นมีลักษณะกลม โคนต้นหรือโคนเถามีสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนเถาส่วนปลายมีสีเขียวสด ลำต้นแตกกิ่งสาขาจำนวนมาก ขนาดความยาวของเถาได้มากกว่า 3-4 เมตรโดยเฉพาะลำต้นที่มีค้างให้เลื้อย

รากถั่วพูมีลักษณะเป็นปมหรือกลายเป็นหัวอยู่ใต้ดินจำนวนหลายหัว และมีรากแขนงแตกออกเล็กน้อย ส่วนปลายด้านล่างของหัวจะเป็นรากยาวแทงลงดิน หัวหรือปมรากนี้สามารถนำมารับประทานหรือประกอบอาหารได้

ใบ
ถั่วพู เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ชนิดใบประกอบที่ออกเยื้องสลับกันตามเถา และกิ่งแขนง ก้านใบมีขนาดเล็กสีเขียวสด ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนปลายของก้านใบประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ แตกออกส่วนปลายสลับกันเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยมีใบย่อยคู่แรกตรงข้ามกัน และมีขนาดใบใกล้เคียงกัน ส่วนอีก 1 ใบ จะอยู่ระหว่างใบย่อยทั้งสองใบ

ใบย่อยคู่แรกที่มีขนาดใกล้เคียงกันจะมีก้านใบสั้นหรือโคนใบติดกับส่วนยอดของก้านใบหลัก ใบมีลักษณะคล้ายใบโพธิ์ มีฐานใบกว้าง ปลายใบแหลม ส่วนอีกใบจะมีก้านใบยาวออกมา และขนาดใบใหญ่กว่า 2 ใบแรก

ใบย่อยแต่ละใบจะมีแผ่น และขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวสด มีเส้นกลางใบเป็นสีเหลืองมองเห็นชัดเจน และมีเส้นแขนงใบเรียงสลับออกจากเส้นกลางใบ 6-8 เส้น

ดอก
ถั่วพูจะออกดอกเป็นช่อ แต่ละช่อมีดอก 3-12 ดอก แต่จะบานได้เพียง 2-4 ดอก เท่านั้น ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวสดหุ้มบริเวณฐานดอก ส่วนกลีบดอกมีสีต่างกันตามสายพันธุ์ กลีบดอกเรียงซ้อนกันเป็นกระจะ ไม่เลี้ยงซ้อนเป็นวงกลมเหมือนดอกไม้อื่น ด้านในมีเกสรตัวผู้ 10 อัน ทั้งนี้ ดอกถั่วพูจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สามารถผสมเกสรได้ในดอกตัวเอง ดอกมักจะบานในช่วงเช้า 08-10.00 น. และเกสรตัวผู้จะปล่อยละอองเกสรในช่วงเวลา 01.00-02.00 น.

ดอกถั่วพูฝักสีเขียว

ดอกถั่วพูมีหลายสีตามชนิดของถั่วพู แต่ที่พบมากในไทย คือ ดอกสีขาวอมม่วงของพันธุ์ฝักเขียว และดอกสีม่วงของพันธุ์ฝักม่วง ทั้งนี้ดอกจะเริ่มออกในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงต้นหนาว และดอกจะเริ่มบานหลังจากปลูกแล้วประมาณ 100-120 วัน

ดอกถั่วพูฝักสีม่วง

ผล/ฝัก
ผลถั่วพูเรียกเป็นฝัก ยาวประมาณ 10-35 เซนติเมตร สีของฝักมีหลายสีจามชนิดพันธุ์ แต่ส่วนมากมักปลูกฝักสีเขียว ฝักสีเขียวนี้ เมื่อแก่มีสีเขียวอมเหลือง สีเหลือง และแห้งจนเป็นสีน้ำตาล ลักษณะของฝักแบ่งเป็น 4 แฉก ขอบแฉกเป็นแผ่นบางๆ และหยักเป็นฟันเลื่อย ตรงกลางฝักเป็นที่อยู่ของเมล็ด เรียงชิดกันตามความยาวของฝัก ทั้งนี้ ชนิดฝักหรือพันธุ์ที่พบปลูกในไทยจะมี 2 ชนิด คือ พันธุ์ฝักสีเขียว และพันธุ์ฝักสีม่วง

เมล็ดถั่วพูมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วเหลือง มีลักษณะค่อนข้างกลม และแบนเล็กน้อย เปลือกเมล็ดแข็ง และมีตาต้นอ่อนสีขาวอยู่ขอบด้านในของเมล็ด เปลือกเมล็ดมีหลายสีตามชนิดพันธุ์ อาทิ สีขาว สีน้ำ และสีดำ เมล็ดในฝักเขียวอ่อนจะมีเปลือกสีเขียว เนื้อเมล็ดมีสีขาว สามารถเคี้ยวรับประทาน เมื่อแก่หรือเมื่อฝักแห้งจะมีเปลือกเมล็ดเป็นสีน้ำตาล เปลือกเมล็ดเป็นมันวาว ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดได้ประมาณ 5-20 เมล็ด

ถั่วพูสีม่วง

เมล็ดถั่วพู

ขอบคุณภาพจาก www.pantip.com และ www.biogang.net

ประโยชน์ถั่วพู
1. ฝักถั่วพูอ่อน ถือเป็นผักอีกชนิดที่นิยมนำมารับประทานคู่กับน้ำพริก เนื้อฝักมีความกรอบ เนื้อให้รสมันอร่อย อีกทั้งทุกส่วนยังให้โปรตีนสูง
2. เมล็ดถั่วพูนาสกัดน้ำมันสำหรับใช้ประกอบอาหาร ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องสำอาง โดยน้ำมันในเมล็ดจะสกัดได้ประมาณ 16-18%
3. เมล็ดถั่วพูนำมาบดเป็นผงสำหรับทำขนมหวาน รวมถึงใช้ต้มน้ำรับประทานเป็นอาหารเสริม
4. ถั่วพูในทุกส่วนทั้งหัว ลำต้น ใบ ดอก และฝัก สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี เนื่องจากให้โปรตีนค่อนข้างสูง อาจเก็บฝักให้สัตว์หรือปลูกปล่อยให้สัตว์กินทั้งแปลง
5. ถั่วพู สามารถปลูกเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันการชะหน้าดินได้ดี รวมถึงช่วยในการบำรุงดิน โดยเฉพาะการเสริมธาตุไนโตรเจนให้แก่ดิน
6. รากปมหรือหัวถั่วพูนำมาใช้ประกอบอาหารจำพวกแกงต่างๆ รวมถึงนำเนื้อหัวมาสับ และตากแห้ง ก่อนจะบดทำเป็นแป้งถั่วพูสำหรับใช้ทำขนม
7. แป้งจากหัวถั่วพูนำมาหมักทำไวน์หรือเหล้าสาโท

คุณค่าทางโภชนาการฝักถั่วพูอ่อน (ร้อยละใน 100 กรัม)

คุณค่าทางอาหาร

ฝักอ่อน

เมล็ด

ใบ

หัว

ความชื้น 90.4 8.5 78.9 9.0
โปรตีน 2.9 41.9 6.3 24.6
ไขมัน 0.2 13.1 1.0 1.0
คาร์โบไฮเดรต 5.8 31.2 7.9 56.1
กาก 1.3 4.1 5.4
ขี้เถ้า 0.7 5.3 1.8 3.9
โพแทสเซียม 205
แคลเซียม 63 0.37
ฟอสฟอรัส 37 0.12
เหล็ก 0.3
โซเดียม 3.1
ไทอามีน 0.24
ไรโบฟลาวิน 0.09
กรดนิคโคตินิค 1.2
กรดแอสคอร์บิค 19
ไวตามินเอ 595 IU/100 กรัม

ที่มา : 1)

สรรพคุณถั่วพู
ฝักถั่วพู
– กระตุ้น และเสริมสร้างการเติบโต
– กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์
– กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมน
– ช่วยในการขับถ่าย แก้อาการท้องผูก
– แก้อาการอักเสบในปากหรือแผลในปาก
– บำรุงหัวใจ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด
– เสริมสร้างกระดูก และลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน

ใบถั่วพู
– ช่วยแก้กระหายน้ำ
– ช่วยแก้ร้อนใน
– ช่วยให้ผิวแลดูเปล่งปลั่ง
– ช่วยแก้อาการช้ำใน

ราก และเถาถั่วพู
– ช่วยบำรุงเลือด
– ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการท้องเสีย

ข้อแนะนำการทาน
1. การนำถั่วพูมาแช่น้ำแข็งก่อนรับประทานจะช่วยให้ได้รับความกรอบ และความสดมากขึ้น
2. ฝักถั่วพูที่เก็บมา ควรรับประทานภายใน 3 วัน หรือหากเก็บไว้นานควรแช่เย็นไว้ เพราะเก็บไว้นานจะทำให้ฝักถั่วพูเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้เร็ว ทำให้ไม่น่ารับประทาน และความกรอบจะน้อยลง

ข้อควรระวัง
ในทุกส่วนของถั่วพู ถึงแม้จะมีโปรตีนสูง แต่ก็มีสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทริปซิน ซึ่งจะทำให้โปรตีนที่ได้รับจากอาหารไม่ย่อยหรือย่อยได้น้อยลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายที่ช้าลงเช่นกัน ดังนั้น การรับประทานถั่วพูที่ให้ได้โปรตีนสูง ควรทำถั่วพูให้สุกก่อนทุกครั้ง

การปลูกถั่วพู
การปลูกถั่วพูใช้เพียงวิธีเดียว คือ การปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่เกิน 1 ฤดูเก็บเกี่ยว จึงเปลี่ยนปลูกรุ่นใหม่

สายพันธุ์ถั่วพู
– พันธุ์เลย
– พันธุ์แพร่
– พันธุ์ภูเก็ต
– พันธุ์ราชบุรี
– พันธุ์ฟลอริดา

การเตรียมแปลง
สำหรับการปลูกในแปลงขนาดใหญ่เพื่อการค้า จำเป็นต้องเตรียมแปลงก่อนทุกครั้ง เริ่มจากการไถพรวนดิน 1 รอบ และตากดินนาน 7 วัน พร้อมกับกำจัดวัชพืชด้วย หลังจากนั้น จึงหว่านปุ๋ยคอก 2-4 ตัน/ไร่ พร้อมไถกลบทิ้งไว้ 3-5 วัน

วิธีการปลูก
หลังจากเตรียมแปลงเสร็จแล้ว ให้ใช้คราดแหลม คราดแปลงในแนวยาวเป็นร่องตื้นๆตามแนวยาวของแปลง โดยให้ระยะห่างระหว่างร่องที่ 60 เซนติเมตร จากนั้น โดยนำด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 บางๆ ตลอดแนวร่อง พร้อมหยอดเมล็ดเป็นจุดๆหรือเป็นหลุม หลุมหรือจุดละ 3-4 เมล็ด ระยะห่างของหลุมหรือแต่ละจุดประมาณ 60 เซนติเมตร เช่นกัน ก่อนจะคราดหน้าดินกลบ

การถอนต้นถั่วพู
เมื่อเมล็ดงอกแล้วจึงปล่อยให้ต้นโตได้ประมาณ 1 อาทิตย์ โดยหากหลุมใดเกิดมากกว่า 2 ต้น ให้ถอนต้นถั่วพูที่เล็กออก และคงเหลือไว้ที่ 2 ต้น/หลุม

การทำค้าง
การทำค้างเพื่อให้เถาถั่วพูเลื้อยถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ถั่วพูเติบโตได้ดีกว่าการไม่ทำค้างหรือปล่อยเลื้อยตามดิน

การทำค้างจะเริ่มทำหลังจากปลูกถั่วพูไปแล้วประมาณ 7-14 วัน หรือ ยอดถั่วพูเริ่มแทงยอดยาว ส่วนไม้ทำค้างนิยมใช้ไม้ไผ่ โดยการทำค้างสำหรับการปลูกเพียงไม่กี่หลุมจะใช้ไม่ไผ่ ปักรอบหลุมเป็น 3 เหลี่ยม และด้านบนขึงรัดด้วยไม้ในแนวนอนเป็นสามเหลี่ยมเช่นกัน แต่หากปลูกเป็นแถวยาวในแปลงใหญ่จะนิยมทำค้างในแนวยาว โดยปักเสาไม้ไผ่ค้ำยันเรียงเป็นแถว

การเก็บผลผลิต
ถั่วพูจะปลูกเพื่อรับประทานฝักอ่อนเป็นหลัก ซึ่งมักจะเก็บฝักในระยะที่ฝักยังเป็นสีเขียวอ่อนหรือมีอายุหลังการปลูกประมาณ 140-160 วัน หรือหลังจากติดฝักแล้ว 20-40 วัน ซึ่งจะต้องทยอยเก็บในทุกๆวัน เพราะถั่วพูจะมีฝักที่เติบโตไม่พร้อมกัน

ผลผลิตของถั่วพูในระยะปลูกที่ 60×60 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะให้ผลผลิตในส่วนต่างๆ ได้แก่
– เมล็ด 190-200 กิโลกรัม/ไร่
– ฝักแห้ง 250-260 กิโลกรัม/ไร่
– ใบ และเถา 290-300 กิโลกรัม/ไร่
– หัว 200-400 กิโลกรัม/ไร่

เอกสารอ้างอิง
Untitled