ถั่วฝักยาว และการปลูกถั่วฝักยาว

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

ถั่วฝักยาว (Snake bean) เป็นพืชล้มลุกปีเดียวที่นิยมปลูก และนิยมรับประทานมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีรสหวานกรอบ ใช้รับประทานเป็นผักสด ผักจิ้มน้ำพริก นอกจากนั้น ยังส่งจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง และยุโรป

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vigna unguiculata L. Walp.
• ชื่อสามัญ :
– Yard long bean
– Snake bean
– String bean
– Asparagus bean
– Bodie bean

ถั่วฝักยาวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนและอินเดีย จัดเป็นพืชผักในตระกูลถั่วที่นิยมรับประทานกัน
ทั่วไปในทวีปเอเชียโดยเฉพาะประเทศไทย ถั่วฝักยาวยังถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยอีกทั้งยังเป็นพืชที่ปลูกได้ ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายน (ศรานนท์, ม.ป.ป.)(1)

ถั่วฝักยาว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
ลำต้นถั่วฝักยาวมีลักษณะเลื้อยพัน ต้องการสิ่งค้ำจุน ลำต้นมีข้อปล้อง เป็นตายอดที่พัฒนาเป็นใบ และกิ่งก้าน มีมือเกี่ยวสำหรับเกี่ยวพันเพื่อยึดลำต้น มีลักษณะการเกี่ยวพันแบบทวนเข็มนาฬิกา

ราก มีทั้งรากแก้ว และรากแขนง ในระดับที่ไม่ลึกมากนัก รากแขนงจะมีปมของแบคทีเรียไรโซเบียมที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศสะสมไว้สำหรับ ต้นถั่วนำไปใช้ประโยชน์

2. ใบ
ใบเป็นใบประกอบ แบบสามใบ เกิดสลับบนต้นหรือกิ่ง ใบจริงคู่แรกเกิดด้านบนใบเลี้ยง และใบที่เกิดต่อๆไป เป็นแบบใบประกอบ ใบมีขนาดเล็ก ค่อนข้างแหลมถึงกลมรี รูปร่างของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอก ใบมีสีเขียวถึงเขียวเข้ม ก้านใบยาว ที่โคนใบมีหูใบ 2 อัน

Yard long bean1

3. ดอก
ถั่วฝักยาวออกดอกเป็นช่อกระจะ แทงออกตามซอกมุมใบ แต่ละช่อมี 1-6 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 เซนติเมตร ด้านล่างดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียว ตัวดอกที่เป็นกลีบดอก ประกอบด้วยกลีบชั้นนอก เรียกว่า standards ทำหน้าที่ห่อหุ้มกลีบดอกชั้นใน และกลีบชั้นใน 2 กลีบ กลีบชั้นในกลีบแรก เรียกว่า wings และกลีบชั้นในสุด เรียกว่า keel มีลักษณะเป็นกรวย ทำหน้าที่ห่อหุ้มเกสรตัวเมีย และเกสรตัวผู้ ส่วนเกสร มีเกสรตัวผู้มี 10 อัน เกสรตัวผู้ 9 อัน ล้อมรอบรังไข่ ส่วนอีก 1 อัน อยู่ตัวแยกเป็นอิสระ ส่วนเกสรตัวเมียเป็นรังไข่ยาว สีเขียว มีก้านชูเกสร และยอดเกสรมีขนฟูสีขาว

Yard long bean3

ดอกถั่วฝักยาวจะออกดอกโดยไม่ขึ้นกับช่วงแสง มีอายุการออกดอกแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ได้แก่
– พันธุ์เบา ดอกบาน 50% เมื่ออายุ 33-42 วัน
– พันธุ์ปานกลาง ดอกบาน 50% เมื่ออายุ 43-52 วัน
– พันธุ์หนัก ดอกบาน 50% เมื่ออายุ 53-60 วัน

ดอก ถั่วฝักยาวจะบานในช่วงเช้า และหุบในช่วงบ่ายในวันเดียวกัน และมีการผสมเกสรในวันที่ดอกบาน และหลังจากผสมเกสรแล้ว กลีบดอกจะร่วง และจะมีการพัฒนาของฝัก คุณภาพฝักสดที่ดีจะอยู่ในช่วง
วันที่ 6-8 หลังดอกบาน มีรสกรอบ หวาน และมีสารอาหารสูง ฝักยาว 20-60 เซนติเมตร มีสีเขียว
อ่อนถึงสีเขียวเข้ม ปลายฝักมีสีเขียวหรือสีม่วง

4. ฝัก และเมล็ด
ฝักมีลักษณะทรงกลม ผิวขรุขระ สีเขียว ยาวประมาณ 20-60 ซม. ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีร่องแบ่งสีเขียวเข้มตรงกลางผล 2 เส้น อยู่คนละฝั่งตลอดแนวความยาวผล ด้านในมีเมล็ดตลอดความยาวเป็นช่วงๆ เมล็ดมีรูปร่างคล้ายไต มีหลายสี เช่น สีขาว น้ำตาล ดำ และสีสลับน้ำตาล-ขาว, ดำ-ขาว และแดง-ขาว

Yard long bean
Yard long bean4

ประโยชน์ถั่วฝักยาว
• ฝักอ่อนใช้รับทานสดหรือรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ผักรับประทานกับอาหารจำพวกลาบ น้ำตก ซุบหน่อไม้ เป็นต้น
• ฝักอ่อนใช้ประกอบอาหาร เช่น ตำถั่ว แกงเลียง ผัดถั่ว เป็นต้น
• ยอดอ่อนจากการเพาะเมล็ด นำมาประกอบอาหารจำพวกผัด ให้รสหวานกรอบ
• เมล็ดถั่วฝักยาวชนิดสีแดงหรือแดงเข้มนิยมนำมาทำของหวาน
• เมล็ดถั่วฝักยาวชนิดสีแดงหรือแดงเข้มใช้บดเป็นแป้งสำหรับผสมอาหารหรือทำขนมหวาน
• เมล็ด ยอด และลำต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนสูง

คุณค่าทางโภชนาการถั่วฝักยาว (104 กรัม)
• พลังงาน : 48.9 กิโลแคลอรี่
• โปรตีน : 2.6 กรัม
• ไขมัน : 0.1 กรัม
• คาร์โบไฮเดรต : 9.5 กรัม
• วิตามิน
– วิตามิน A : 468 IU
– วิตามิน C : 16.8 มิลลิกรัม
– วิตามิน D : ไม่พบ
– วิตามิน E : ไม่พบ
– วิตามิน K : ไม่พบ
– วิตามิน B6 : ไม่พบ
– วิตามิน B12 : ไม่พบ
– ไทอามีน : 0.1 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน : 0.1 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน : 0.7 มิลลิกรัม
– โฟเลท : 46.8 ไมโครกรัม
– กรดเพนโทเทนิก : 0.1มิลลิกรัม
• แร่ธาตุ
– แคลเซียม : 45.8 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 1.0 มิลลิกรัม
– แมกนีเซียม : 43.7 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 59.3 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม : 302 มิลลิกรัม
– โซเดียม : 4.2 มิลลิกรัม
– สังกะสี : 0.4 มิลลิกรัม
– แมกนีเซียม : 0.2 มิลลิกรัม
– ซีลีเนียม : 1.6 ไมโครกรัม

ที่มา : http://nutritiondata.self.com/facts/vegetables-and-vegetable-products/2434/2

พันธุ์ถั่วฝักยาว
1. พันธุ์ของทางราชการ ได้แก่
– พันธุ์ ก 2-1A พัฒนาโดยกรมวิชาการเกษตร
– พันธุ์ มก. 8 พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2. พันธุ์ของบริษัทเอกชน ได้แก่
– พันธุ์ RW 24
– พันธุ์สองสี
– พันธุ์เขียวดก
– พันธุ์กรีนพอท
– พันธุ์แอร์โรว์
– พันธุ์เอเชียนนิโกร
– พันธุ์เกาชุง

3. พันธุ์พื้นเมือง ได้แก่
– พันธุ์ถั่วด้วง จ.สระบุรี
– พันธุ์ดำเนิน จ.ราชบุรี
– พันธุ์พื้นเมืองตรัง
– พันธุ์พื้นเมืองหนองคาย

พันธุ์แบ่งตามสีเมล็ด
1. พันธุ์เมล็ดสีแดง ออกดอกสีม่วง ฝักสีเขียว
2. พันธุ์เมล็ดสีแดงเข้ม ออกดอกสีม่วง ฝักสีม่วงเข้ม
3. พันธุ์เมล็ดสีขาว ออกดอกสีครีม ฝักสีเขียว
4. พันธุ์เมล็ดสีดำ ออกดอกสีม่วง ฝักสีเขียวเข้ม
5. พันธุ์เมล็ดสีแดงด่างขาว ออกดอกสีม่วง ฝักสีเขียว

การปลูกถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาวสามารถเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน และปลูกได้ตลอดปี เป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนดินเหนียว หรือดินร่วนปนทราย ดินระบายน้ำดี ไม่ชอบดินชื้นแฉะมาก แต่ไม่ทนต่อดินที่แห้งแล้ง ต้องการดินชื้นพอสมควร

การเตรียมดิน
การเตรียมดินปลูกด้วยการไถพรวนดินลึกประมาณ 30 ซม. และตากดินนาน 5-7 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช หลังจากนั้น ให้หว่านโรยด้วยปุ๋ยหมัก อัตรา 2-4 ตัน/ไร่ หากพื้นที่ปลูกมีดินเป็นกรด โดยเฉพาะแปลงปลูกในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง และแถบภาคตะวันออก ควรหว่านปูนขาวร่วมด้วย อัตรา 300-500 กก./ไร่ หลังจากนั้น ไถพรวนดินอีกครั้ง และตากดินนาน 3-5 วัน และทำการไถยกร่องแปลง โดยการปลูกแถวเดี่ยวให้ยกร่องแปลงกว้างประมาณ 80 ซม. แถวคู่ กว้างประมาณ 150 ซม. เว้นทางเดินประมาณ 50 ซม. ในระหว่างแถว

การคัดเลือดเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด ซึ่งมีให้เลือดหลายสายพันธุ์ แต่หากเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากแปลงปลูกของตนเองจำเป็นต้องคัดแยกเมล็ด พันธุ์ก่อนปลูก ด้วยการนำเมล็ดแช่น้ำ เมล็ดที่ลอยน้ำให้คัดทิ้ง ส่วนเมล็ดที่จมน้ำถือเป็นเมล็ดที่ดี และให้แช่น้ำที่ผสมยาฆ่าเชื้อรานาน 60 นาที ก่อนลงหยอดในแปลงปลูก

การปลูก
การปลูกจะใช้วิธีหยอดเมล็ดด้วยการขุดเป็นหลุมหรือขุดเป็นร่องลึกประมาณ 3-5 ซม. โรยรองพื้นด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กก./ไร่ หยอดเมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด ระยะห่างระหว่างหลุม 40-50 ซม. แล้วกลบด้วยหน้าดิน และรดน้ำ หลังจากนั้น เมล็ดจะงอกประมาณวันที่ 5-7 หลังการปลูก เมล็ดจะเริ่มงอกหลังจากที่หยอดเมล็ดประมาณ 5-7 วัน

การถอนต้นอ่อน
เมื่อต้นอ่อนมีใบจริง 3-4 ใบ หรือสูงประมาณ 10 ซม. ให้เลือกถอนต้นที่เล็กทิ้ง ให้เหลือเพียง 2 ต้น/หลุม พร้อมพรวนดินรอบหลุม

Yard long bean5

การให้น้ำ
หลังจากการปลูกจะให้น้ำพอชุ่มวันละ 1 ครั้ง และหลังถอนต้นแล้วจะให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดิน และฤดูกาลปลูก โดยพิจารณาจากความชื้นของดินเป็นหลัก

การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยจะใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในระยะก่อนออกดอก อัตราปุ๋ย 30 กก./ไร่ ใส่ให้ห่างจากโคนต้น 8-10 ซม. พร้อมพรวนดินกลบ และรดน้ำ

การทำค้าง
การทำค้างจะเริ่มเมื่่อต้นถั่วมีความสูงประมาณ 15-20 ซม. ซึ่งต้นถั่วจะเริ่มมีมือเกาะ โดยการใช้ไม้ไผ่ปักระหว่างหลุม ความสูงประมาณ 2-3 เมตร ปักระยะห่าง 2-3 เมตร แล้วรัดขึงด้วยเชือกหรือลวดตามความสูงเป็นชั้นๆ ห่างกัน 30-40 ซม. หรืออาจใช้ปลายไม้ไผ่ที่มีแขนงปักเป็นช่วงๆตามระยะความกว้างของแขนงไม้ไผ่

การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอในระยะ 1 เดือนแรก ควรทำอย่างน้อย 2 สัปดาห์/ครั้ง จนต้นถั่วมีความสูงได้มากกว่า 30-50 ซม. จึงหยุด ซึ่งต้นถั่วจะสามารถเติบโตแข่งกับวัชพืชอื่นได้แล้ว

การเก็บเกี่ยว
ถั่วฝักยาวจะเริ่มเก็บผลอ่อนได้ ประมาณ 60-80 วัน หลังปลูก หรือหลังจากออกดอกประมาณ 15-20 วัน โดยทะยอยเก็บฝักอ่อนเป็นระยะ ทุกๆ 2-4 วัน สามารถเก็บฝักได้นานประมาณ 1-2 เดือน หรือเก็บได้ 20-40 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการดูแล

โรค และแมลง
1. โรคที่เกิดจากเชื้อรา Cercospopra sp.
พบอาการบริเวณใต้ใบ ของใบส่วนล่างก่อน ใบมีจุดสีสนิมสีน้ำตาลแดง แล้วลุกลามขึ้นส่วนบนของลำต้น ทำให้ใบแห้ง และลำต้นเหี่ยวตาย มักเกิดในระยะออกดอก

• การป้องกันกำจัด
เมื่อพบระบาดให้ฉีดพ่นด้วยยากำจัดเชื้อรา เช่น ไดเทนเอ็ม 45 หรือ เบนเลท ทุกๆ 5-7 วัน

2. โรคที่เกิดจากเชื้อรา Uromyces fabae
พบอาการของใบที่มีมีผงแป้งจับด้านบน หากเป็นมากผงแป้งจะเคลือบใบทำให้ใบสังเคราะห์แสงไม่ได้ ใบเหี่ยว และต้นเหี่ยวตายตามมา

• การป้องกันกำจัด
– ใช้กำมะถันละลายน้ำ 30-40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1 ครั้ง/สัปดาห์ ไม่ควรฉีดพ่นขณะแดดร้อน
– ฉีดพ่นด้วยแพลนท์แวกช์ (Plantvax) ละลายน้ำ 10-20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 5-7 วัน

3. โรคที่เกิดจากเชื้อรา Oidium sp.
พบอาการใบมีจุดด่างเหลืองหรือเหลืองอ่อนแกมขาว สลับกับสีเขียวของใบ หากเป็นมากใบจะเป็นคลื่น ใบม้วนงอ ใบเหี่ยวแห้งทำให้ลำต้นเหี่ยวตายตามมา

• การป้องกันกำจัด
– ใช้กำมะถันผงละลายน้ำฉีดพ่น
– ใช้คาราเทนหรือซาพรอน  ฉีดพ่นทุกๆ 7-10 วัน

4. หนอนเจาะต้นถั่ว และหนอนเจาะฝัก
เป็นหนอนของแมลงวันขนาดเล็ก สีดำ ที่ไข่ไว้ตามใบ มักพบระบาดในทุกระยะของต้นถั่ว ตั้งแต่ระยะใบงอกจนถึงออกฝัก ชอบกัดกินใบอ่อนทำให้ใบแหว่ง จนลำต้นตาย และชอบกินฝักอ่อนทำให้ผลผลิตเสียหาย ฝักลีบ เป็นรู

• การป้องกันกำจัด
สำหรับหนอนเจาะต้นถั่ว ให้ใช้ฟูราดานรองก้นหลุม 2 กรัม/หลุม ไม่ควรใช้ในระยะที่ต้นถั่วเติบโตแล้ว เพราะอาจทำให้มีพิษตกค้างบนต้นถั่ว หากพบระบาดหลังถั่วเติบโตแล้วให้ใช้ ไดเมทโธเอท ฉีดพ่น ทุกๆ 5-7 วัน

5. เพลี้ยอ่อน
เป็นเพลี้ยที่มักระบาดในทุกระยะ ชอบดูดกินน้ำเลี้ยงของยอดอ่อน ใบ และฝักถั่ว ทำให้ใบเหี่ยวตาย ลำต้นแคระแกร็น หากดูดกินฝักอ่อนจะทำให้ฝักลีบ บิดงอ

• การป้องกันกำจัด
เมื่อพบระบาดให้ใช้ทามารอน หรือ โซนาต้ามอลต้า ผสมน้ำฉีดพ่น

เอกสารอ้างอิง
1. ศรานนท์ เจริญสุข. ม.ป.ป. ผักสวนครัว. เพชรกะรัต จำกัด, กรุงเทพฯ. 78 น.