ตาลโตนด(Palmyra Palm) ประโยชน์ และสรรพคุณตาลโตนด

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

ต้นตาลโตนด (Palmyra Palm) เป็นไม้ในตะกูลเดียวกันกับปาล์ม และมะพร้าว จัดเป็นไม้ชนิดให้ผลที่พบได้ทั่วไปในทุกภาค มีประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ ลูกตาลอ่อน น้ำตาลสด ผลแก่ใช้ทำขนมตาล แก่นไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

• ชื่ออังกฤษ : Palmyra Palm, Lontar, Fan Palm
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Borassus flabellifer Linn.
– ภาคกลาง และทั่วไป เรียก ต้นตาลโตนด, ต้นตาล
– ภาคใต้ เรียก  ตาลโตนด หรือ ต้นโตนด
– ยะลา และปัตตานี เรียก ปอเก๊าะตา

ประวัติต้นตาลโตนด
ต้นตาลโตนดเป็นพืชในตระกูลปาล์ม มีการสันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปแอฟริกา ต่อได้มีการกระจายพันธุ์มาทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย และแพร่มาสู่แถบประเทศเอเชียอาคเนย์ รวมถึงประเทศไทยที่น่าจะเริ่มการปลูกครั้งแรกบริเวณแถบจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะเมืองท่าที่มีการค้าขายกับชาวอินเดียในสมัยนั้น

พบบันทึกเกี่ยวกับตาลโตนดที่เก่าแก่ในคัมภีร์พระพุทธประวัติที่ปรากฏคำว่า “ตาล” หรือ “ตาละ” ที่หมายถึงต้นตาลโตนด ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรณไม้ที่ถูกกล่าวถึงขณะที่พระองค์เสด็จไปประทับ ณ ลัฏฐิวนอุทยาน (ลัฏฐตาล) ในพรรษที่สองหลังจากสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพื่อโปรดพระเจ้าพระพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ รวมทั้งบริวาร  ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงดำรัสว่า ป่าไผ่นั้นร่วมเย็นดีกว่าป่าตาล นอกจากนั้นในพุทธประวัติยังมีช่วงหนึ่งที่กล่าวถึง พระวินัยที่ทรงห้ามนำผลไม้หรือพืช 10 ชนิด ใช้ทำน้ำอัฐบาน เพราะเป็นผลไม้ที่ห้ามรับประทานหลังเที่ยงแล้ว ซึ่ง 1 ใน 10 เป็นลูกตาลด้วย

ประวัติต้นตาลโตนดที่พบบัทึกในประเทศไทยนั้นเริ่มพบหลักฐานในสมัยทวราวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ที่มีการใช้ตราประทับรูปคนปีนตาล นอกจากนั้น มีการพบบันทึกเกี่ยวกับตาลโตนดในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงในช่วงหนึ่งที่แปลได้ว่า ในปีมะโรง ศกที่ 1214 พ่อขุนรามคำแหงขณะพระชนมายุ 14 พรรษา ได้ทรงปลูกไม้ตาลไว้กลางเมืองสุโขทัย

แหล่งของต้นตาลโตนดในไทย พบได้ทั่วไปในทุกภาค แต่พบมากที่สุด คือ พื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา ที่พบมากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดอื่น ส่วนภาคกลางพบรองลงมาจากภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดชัยนาท โดยแบ่งพันธุ์ตามลักษณะผลที่พบ คือ พันธุ์ที่มีผลสีดำ เรียก ตาลโตนดกา และพันธุ์ที่มีผลสีแดง เรียก ตาลโตนดข้าว

tal

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ตาลโตนด เป็นไม้วงศ์ปาล์ม และมะพร้าว แต่มีลำต้นแข็งแรง และอายุยืนยาวมากกว่า อายุยืนประมาณ 80-100 ปี โตเต็มที่สูงได้กว่า 18- 25 เมตร หรือมากกว่า เริ่มให้น้ำตาล และลูกได้เมื่ออายุประมาณ 10-15 ปี เป็นพืชที่ขึ้นได้บนดินทุกชนิด ทนแล้ง และน้ำท่วมได้ดี ไม่มีผลต่อพืชอื่นๆรอบข้าง เช่น นาข้าว สวนผัก

1. ราก
รากมีลักษณะเป็นกลมยาว สีน้ำตาล คล้ายรากมะพร้าว แต่หยั่งลึกได้ลึกมาก และไม่แผ่ไปตามผิวดิน ทำให้ไม่โค่นล้มง่าย

2. ลำต้น
ลำต้นตาลโตนดคล้ายต้นมะพร้าว เปลือกลำต้นขรุขระ และมีสีขี้เถ้าออกดำ มีลักษณะลำต้นกลม ตรง สูงชะลูด ความสูงประมาณ 18-25 เมตร หรือมากกว่า บางต้นอาจสูงถึง 30 เมตร ต้นที่มีอายุน้อยจะมีโคนต้นอวบใหญ่ (ประมาณ 1 เมตร) แต่เมื่อสูงได้ประมาณ 4 เมตร ลำต้นจะเรียวลง (ประมาณ 40 เซนติเมตร) และเริ่มขยายใหญ่ที่ความสูงประมาณ 10 เมตร (ประมาณ 50 เซนติเมตร) และคงขนาดจนถึงยอด เนื้อไม้เป็นเสี้ยนแข็ง เหนียว ไม่หักง่าย

tal5

3. ใบ
ใบมีสีเขียวเข้ม มีลักษณะเป็นรูปพัด ขนาดใหญ่ แข็งและหนา มีใบย่อย เรียกว่า Segment ที่แตกออกจากปลายก้านใบ ใบแตกออกบริเวณเรือนยอดเป็นกลุ่มแน่น ประมาณ 25-40 ใบ  ใบแก่จะมีสีน้ำตาลอ่อน ใบกว้างประมาณ 50-70 เซนติเมตร ก้านใบหรือทางตาลยาวประมาณ 1-2 เมตร ด้านขอบทางตาลมีหนามแหลมสั้น ขนาดไม่สม่ำเสมอกัน อายุใบประมาณ 3 ปี

4. ดอก
ดอกตาลโตนดออกดอกเป็นช่อ แบ่งเป็นดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย ซึ่งอยู่แยกต้นกัน ช่อดอกต้นผู้เรียก “งวงตาล” ต้นหนึ่งมีช่อดอก 3-9 ช่อ ช่อดอกแตกแขนง 2-4 งวงต่อช่อ หนึ่งงวงยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร  ส่วนช่อดอกต้นตัวเมีย เรียก “ปลีตาล” หรือบางที่เรียก งวงตาล เหมือนกัน ออกช่อหลังต้นตัวผู้ หนึ่งต้นมีประมาณ 10 ช่อ

5. ผล
ผลตาลโตนดจะออกที่ต้นตัวเมียเท่านั้น ที่เจริญมาจากช่อดอก เรียกว่า ทะลาย เก็บผลอ่อนได้ที่ประมาณ 75-80 วัน หลังออกดอก ในแต่ละทะลายมี 10-20 ผล ผลอ่อนมีสีเขียว จาวตาลอ่อนนุ่มหรือด้านในยังเป็นน้ำ ส่วนผลแก่ มีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ผิวเป็นมัน เนื้อจาวตาลเป็นเส้นใยละเอียด เหนียว มีสีขุ่นขาวจนถึงเหลืองแก่ตามอายุผล และมีกลิ่นหอม เปลือก และจาวตาลแก่นิยมนำไปใช้ทำขนมตาล และใช้แต่งสีขนมต่างๆ

tal2

ประโยชน์ตาลโตนด
1. ต้นตาล
– ใช้เป็นเชื้อเพลิง
– ใช้สำหรับงานก่อสร้า้ง เช่น เสาเรือน กระดานพื้นบ้าน เสาสะพานปลา ใช้ทำเป็นที่เกาะของหอยนางรม เป็นต้น โดยเฉพาะต้นตาลแก่
– ใช้ประดิษฐ์ของใช้ต่างๆ เช่น ขันตักน้ำ เครื่องเล่น โต๊ะ ม้านั่ง เก้าอี้ กล่องใส่ของ และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นต้น

2. กาบตาลหรือทางตาล
– ใช้ทำฟืน เป็นเชื้อเพลิง
– ทำรั้วบ้าน รั้วไร่นา คอกสัตว์
– เส้นใยกาบตาล ใช้ทำเชือก เครื่องจักสานต่างๆ เช่น หมวก กระเป๋า ไม้กวาด และกล่องใส่กระดาษทิชชู่ เป็นต้น

3. ใบตาล
– คนโบราณใช้แทนกระดาษเขียนหนังสือ เขียนบันทึกตำรา คัมภีร์ต่างๆ
– ใช้ทำของเล่นเด็ก เช่น กังหันลม สานเป็นตะกร้อ ปลาตะเพียน
– ใช้สานเป็นของใช้ เช่น หมวก ภาชนะใส่สิ่งของ ทำถาดอาหาร ใช้ทำพัดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ตาลปัตร” เป็นต้น
– ใช้ในงานก่อสร้าง มุงหลังคา กั้นฝาบ้าน
– ใช้ทำอาหาร ขนมหวาน เช่น เผาเป็นขี้เถ้าละลายน้ำสำหรับทำขนมเปียกปูน
– ใช้หมักทำปุ๋ย

4. ผลอ่อนหรือลูกตาลอ่อน
– ผลอ่่อนตาลที่เก็บหลังจากออกจั่น 2-3 เดือน นำมาเฉาะเอาเนื้อด้านใน ที่เรียกว่า “จาวตาล” ตาล 1 ลูก จะมีลอนตาลประมาณ 3 ลอน นำมารับประทานเป็นผลไม้ มีรสนุ่มหอมหวาน
– ลูกตาลที่แก่จัดจะมีจาวตาลเหนียว แข็ง ใช้ทำจาวตาลเชื่อม
– ลูกตาลที่แก่จัดจะมีสีเหลืองสด นำมาคั้นน้ำ และเอาเส้นใยออกจะได้น้ำสีเหลือง มีกลิ่นหอม ใช้ต้มดื่มหรือทำอาหารคาวหวาน เช่น แกงหัวตาล ขนมตาล
– ลูกตาลแก่ใช้ประดิษฐ์เป็นของเล่น เช่น ทำล้อรถเด็ก ตุ๊กตา กะลาตาล
– เนื้อตาลแก่ใช้เผาทำถ่านสำหรับผสมยาสีฟัน ผลอ่อน และจาวตาล ใช้ทำอาหารคาวหวาน

tal3

5. ผลแก่
– ผลแก้นำมาฝานเปลือก นำเปลือกที่เป็นเส้นใยสีเหลืองคั้นเอาน้ำสำหรับทำขนมตาล
– น้ำคั้นลูกตาลแ่ก่ ใช้เป็นส่วนผสมของสบู่ ยาสระผม
– ใยลูกตาลแก่ที่เหลือจากคั้นแล้ว ใช้เป็นฝอยล้างจาน หรือนำมาเป็นฝอยขัดตัว
– ผลตาลแก่นำมาเพาะขายพันธุ์

6. ช่อดอก และน้ำตาล
– ช่อตาลหรืองวงตาล เมื่อปาดขณะมีดอก จะได้น้ำหวาน เรียกว่า “น้ำตาลสด หรือ น้ำตาลโตนด” ใช้รับประทานสดๆ
– น้ำตาลโตนดใช้เคี่ยวทำน้ำตาลปึก น้ำตาลปี๊ป ทำน้ำผึ้งตังเม
– น้ำตาลโตนดนำมาหมักทำเป็นน้ำส้มสายชู กะแช่ หรือกลั่นเหล้าน้ำตาล

ที่มา : สำนักงานการเกษตรจังหวัดสงขลา, 2542.(1)

สรรพคุณตาลโตนด
1. ช่อดอก และน้ำตาล
– น้ำตาลสดใช้เป็นยาระบาย เป็นกระสายยาบำรุง
– ช่อดอกหรืองวงตาลที่ยังอ่อนนำมาฝานต้ม เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาเจริญอาหาร รักษาตาลโขมยในเด็ก ฝนทำยารักษาแผล แก้ร้อนใน ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับพยาธิ

2. ผลตาล
ผลตาลแก่ คั้นเอาน้ำจากเปลือกผล ใช้ต้มดื่ม กินแก้โรคตานขโมย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข ร้อนในกระหายน้ำ หรือใช้แช่น้ำอาบ แก้ผดผื่นคัน

3. ก้านตาล และใบตาล
– ก้านตาลหรือทางตาลสดนำมาเผาไฟแล้วคั้นเอาน้ำดื่มสำหรับเป็นยาแก้ท้องร่วง ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย
-นำใบมาต้มน้ำดื่ม แก้อาการกระสับกระส่ายหลังคลอด แก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย และช่วยลดความดันโลหิต

4. รากตาลโตนด
รากนำมาต้มดื่ม แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ซางเด็ก บำรุงร่างกาย ขับปัสาสาวะ และใช้ขับพยาธิ

ที่มา : สำนักงานการเกษตรจังหวัดสงขลา, 2542.(1), พระสมพงษ์ เนาสันเทียะ, 2552.(2), สมเกียรติ ขันอ่อน, 2552.(3)

ผลผลิต และการเก็บผลิตตาลโตนด
1. ผลตาล
เป็นส่วนของผล สามารถเก็บเกี่ยวหลังจากออกจั่นแล้ว 2 -3 เดือน นำมาเฉาะเอาเมล็ดข้างในที่ยังอ่อนอยู่ออกมา เรียกว่า ลอนตาล ในลูกตาล 1 ลูก จะมีลอนตาลประมาณ 3 ลอน ลูกตาลอ่อนที่เหมาะรับประทาน เมื่อปอกเปลือกจะมีสีขาว ตาลโตนด 1 ต้น ให้ทะลาย 10 – 15 ทะลาย/ปี ใน 1 ทะลายให้ผลประมาณ 5 – 10 ผล

2. น้ำตาลสด
น้ำตาลสดจะเก็บได้จากต้นช่อดอกตัวผู้ และช่อดอกต้นตัวเมีย ที่เรียกว่า “งวงตาล” ที่อายุต้นตาลประมาณ 10-15 ปี งวงยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ดอกบานพอประมาณ โดยปกติจะเริ่มประมาณเดือนธันวาคม ของทุกปี เนื่องจากปริมาณฝนเริ่มลดน้อยลง และงวงตาลหรือช่อดอกของต้นตาลโตนดจะเจริญเติบโตเต็มที่ในช่วงนี้ ส่วนระยะเวลาการผลิตจะสิ้นสุดปลายฤดูแล้วประมาณเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม

ขั้นตอนที่ 1 การทำทางขึ้น
ทางขึ้นเก็บน้ำตาลหรือลูกตาลโตนด จะใช้วิธีปีนขึ้นเก็บโดยใช้ “ไม้คาบตาล” ที่ทำจากไม้ไผ่ ตีแนบขนานลำต้นจนถึงยอดตาล

ขั้นตอนที่ 2 การนวดงวงตาล
การนวดงวงตาล หรือ การคาบช่อดอก เพื่อให้งวงตาลสร้าง และเก็บน้ำหวาน ทั้งต้นดอกตัวผู้ และตัวเมียจะคล้ายกัน จะแตกต่างกันเฉพาะไม้นวดช่อดอกของต้นตัวผู้จะใช้ไม้นวดที่แบน และสั้นกว่า ส่วนของต้นตัวเมียจะใช้ไม้กลม และยาวกว่า

การนวดจะนวดที่บริเวณปลายของงวงตาล ประมาณ 3 – 4 ข้อ โดยใช้คีมไม้สอดรวบงวงตาลเข้าหากัน และนวดอย่างสม่ำเสมอด้วยไม้คาบตาลเบาๆ ทำติดกันประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้น ผูกงวงตาลเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการใช้กระบอกไม้ไผ่รองรับน้ำตาลต่อไป

tal4

ขั้นตอนที่ 3 การปาดตาล
การปาดตาล จะใช้ “มีดปาดตาล” ปาดที่ปลายงวงตาลบางๆ แล้วผูกกระบอกไม้ไผ่ให้แน่นกับงวงตาลสำหรับรองรับน้ำตาล ตาลต้นหนึ่งจะรองรับได้ 5 –7 กระบอก ปาดวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้า รอประมาณ 6 – 10 ชั่วโมง แล้วขึ้นเก็บ พร้อมปาดใหม่อีกครั้ง และไปเก็บตอนเย็น แต่สามารถเปลี่ยนเวลาปาดให้คลุมช่วงกลางคืนได้ เพราะการปาด และรองน้ำตาลช่วงกลางคืนจะได้น้ำตาลมากเป็น 2 เท่า ของช่วงกลางวัน แต่จะทำให้งวงตาลผลิตน้ำตาลได้น้อยลงอย่างรวดเร็ว โดย 1 ช่อดอกจะปาด และให้น้ำตาลนานประมาณ 3 – 4 เดือน  1 ต้นจะให้น้ำหวานเฉลี่ยวันละ 20 – 40 ลิตร (2 ครั้ง)

กระบอกไม้ไผ่สำหรับเก็บรองน้ำตาล เกษตรกรมักรมควันไฟก่อนเพื่อให้มีสีนวล และมีกลิ่น
หอม ก่อนเก็บมักถากไม้เคี่ยมหรือไม้พะยอม แต่นิยมใช้ไม่เคี่ยมมากกว่า จำนวน 2 – 3 ชิ้น ใส่ลงในกระบอกทุกกระบอก เพื่อช่วยชะลอการบูดของน้ำตาลโตนดได้

ขั้นตอนที่ 4 การแช่งวงตาล
การแช่งวงตาลด้วยน้ำ หลังจากการนวดหรือคาบช่อดอกแล้ว เกษตรกรจะแช่ช่อดอกหรืองวงตาลที่มีดรวมกันไว้แล้ว ในกระบอกใส่น้ำเปล่า จากภูมิปัญญาของเกษตรกรพบว่าน้ำที่ใช้แช่งวงตาลควรเป็นน้ำขุ่นหรือน้ำดินโคลน เพื่อให้มีน้ำตาลสดในปริมาณที่มากขึ้น ถ้าเป็นน้ำใสจะทำให้น้ำตาลสดไหลออกไม่ดี การแช่ต้องแช่ให้ครบ 2 วัน 2 คืน พอดี ถ้าแช่น้ำนานเกินไปจะทำให้ใส่ไส้ของงวงตาลอุดตัน ทำให้น้ำตาลสดไหลไม่ดีเช่นกัน

ที่มา : พระสมพงษ์ เนาสันเทียะ, 2552.(2)

ผลิตภัณฑ์ตาลโตนด
1. เครื่องดื่ม เช่น น้ำตาลสด และเหล้าตาลหมัก
2. น้ำตาลเข้มข้น ได้แก่ น้ำตาลปี๊ป น้ำตาลปึก น้ำตาลแว่น น้ำตาลผง
3. น้ำส้มสายชูหมักจากตาลโตนด
4. อาหาร เช่น แกงขั้วตาลอ่อน แกงลูกตาล เป็นต้น
4. ขนม ของหวาน เช่น จาวตาลเชื่อม ไอศครีมลูกตาล และขนมตาล เป็นต้น

ที่มา : สำนักงานการเกษตรจังหวัดสงขลา, 2542.(1)

เอกสารอ้างอิง
1. สำนักงานการเกษตรจังหวัดสงขลา, 2542. ตาลโตนดสงขลา.
2. พระสมพงษ์ เนาสันเทียะ, 2552. การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าตาลโตนดในวัดตามวิถีพุทธจังหวัดนครราชสีมา.
3. สมเกียรติ ขันอ่อน, 2552. การพัฒนาและการผลิตสารสกัดจากไม้พะยอมในรูปแบบผงเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลสด.