ตะบูน/ตะบูนขาว ประโยชน์ และสรรพคุณตะบูน

Last Updated on 8 กรกฎาคม 2017 by puechkaset

ตะบูนขาว จัดเป็นไม้ป่าชายเลนชนิดหนึ่ง พบขึ้นปะปนกับไม้ป่าชายเลนอื่น ทำหน้าที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า แหล่งอนุบาลปลา ช่วยดักตะกอน รวมถึงประโยชน์ในด้านสมุนไพรต่างๆ

• วงศ์ : MELIACEAE (วงศ์กระท้อน)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylocarpus granatum Koen
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และภาคใต้
– ตะบูน
– ตะบูนขาว
– กระบูน
– กระบูนขาว
ภาคใต้
– หยี่เหร่

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ตะบูน เป็นไม้ชายเลนที่พบแพร่กระจายตามป่าชายเลนทั่วไปในเขตร้อน พบกระจายในอเมริกา แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย มักพบขึ้นปะปนกับไม้ชายเลนชนิดอื่น อาทิ โกงกาง แสม และหัวสุมดอกขาว เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ตะบูน เป็นไม้ยืนต้นไม่พลัดใบ แตกใบใหม่ได้รวดเร็ว ลำต้นมีขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงประมาณ 8-20 เมตร โคนลำต้นเป็นพูพอน และมองเห็นรากแตกออกเป็นแขนง ลำต้นแตกกิ่งสาขาตั้งแต่ระดับต่ำ และแตกกิ่งปานกลาง แต่มีกิ่งแขนงมากจนแลดูเป็นทรงพุ่มหนา และแผ่กว้าง ลำต้นมีรูปทรงไม่แน่นอน และไม่เพลาตรง เปลือกลำต้นบาง แตกร่อนเป็นแผ่น สีน้ำตาลแดงหรือสีเทาอมขาว คล้ายต้นตะแบก เนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง

ใบ
ตะบูนเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกใบออกเป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดปลายคู่ ไม่มียอดแขนงใบ ใบย่อยมี 1-2 คู่ ในก้านใบหลัก ใบย่อยมีก้านใบสั้น สีน้ำตาล ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร แต่ละใบอยู่ตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะรูปไข่กลับ โคนใบแสบแคบ แล้วค่อยขยายกว้างที่ปลายใบ ขนาดใบกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-14 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา แต่ค่อนข้างเปราะ มีสีเขียวเข้ม บนแผ่นใบมีเส้นแขนงใบข้างละ 6-9 เส้น

ดอก
ดอกตะบูนออกเป็นช่อบริเวณง่ามของซอกก้านใบหลักที่ปลายกิ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางของช่อประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร แต่ละช่อแตกออกเป็นช่อแขนงย่อย ช่อแขนงยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ใน 1 ช่อ มีดอกประมาณ 8-20 ดอก ดอกเป็นดอกแยกเพศ ดอกย่อยมีก้านดอกยาว 0.5-1 เซนติเมตร ตัวดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และกลีบดอก 4 กลีบ แต่ละกลีบแยกออกจากกัน แผ่นกลีบดอกมีสีขาวครีม ด้านในตรงกลางมีเกสรตัวผู้ 8 อัน เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอมตั้งแต่บ่ายจนถึงค่ำ ทั้งนี้ ตะบูนจะเริ่มออกดอกตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

ผล
ผลตะบูนออกเป็นผลเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกในขั้วผลเดียว มีก้านผลสีน้ำตาล ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลมีลักษณะกลม ขนาดผลประมาณ 15-20 เซนติเมตร และมีน้ำหนักผลประมาณ 1-2 กิโลกรัม เปลือกผลดิบมีสีเขียว เปลือกผลสุกจะแห้ง แข็ง มีสีน้ำตาลอมแดง คล้ายผลทับทิม

ภายในผลแบ่งเป็น 4 พู เท่าๆ กัน แต่ละพูมีเม็ดแทรกอยู่ รวมกันแล้วใน 1 ผล จะมีเมล็ดประมาณ 4-17 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะโค้งนูนในด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ที่ปลายขั้วเมล็ดสอบแคบ ขนาดเมล็ดประมาณ 6-10 เซนติเมตร ผลตะบูนจะเริ่มติดผลในช่วงเดือนมิถุนายน-กุมภาพันธ์ [1], [2]

ประโยชน์ตะบูน
1. เนื้อไม้แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง ใช้ทำเสาบ้าน ไม้วงกบ ไม้แป รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ต่างๆ
2. แก่นไม้ใช้เผาถ่านสำหรับใช้ในครัวเรือนหรือเผาทำถ่านกัมมันต์สำหรับปรับปรุงคุณภาพน้ำ
3. เปลือกนำมาต้มย้อมผ้า แห และอวน
4. ยางไม้ใช้ทาแก้พิษสัตว์ทะเล
5. รากต้นตะบูนเป็นที่อาศัยของหนอนต้นไม้ คนท้องถิ่นจะใช้มีดถากเอาตัวหนอนสำหรับประกอบอาหาร
6. ต้นตะบูนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และอนุบาลปลา

สรรพคุณตะบูน
เปลือก และแก่น
– ช่วยบรรเทาอาการไอ
– บรรเทาอาการท้องร่วง
ใช้เป็นยาแก้บิด
– น้ำต้มจากเปลือกใช้ล้างแผล

ผล และเมล็ด
– รักษาอหิวาต์
– ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง แก้โรคบิด
– ต้มดื่ม เป็นยาแก้ไอ

ที่มา : [3], [4]

ขอบคุณภาพจาก lookforest.com/

เอกสารอ้างอิง
[1] อุดมวิชช์ พลเยี่ยม, 2551, การสกัดและฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากพืชสมุนไพร.
[2] ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ตะบูนขาว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://marinegiscenter.dmcr.go.th/km/xylocarpus-granatum/#.WVZuHrakLcc/.
[3] พื้นที่งวนชีวมณฑล ระนอง, ตะบูนขาว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://digital.forest.ku.ac.th/RBIO/index_.php?action=biodiversity&action2=plant&id=11/.
[4] สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, ตะบูนขาว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb_18-3.htm/.