ตะขบ สรรพคุณตะขบ และทำไมจึงนิยมปลูกตะขบ

Last Updated on 4 กุมภาพันธ์ 2017 by puechkaset

ตะขบ หรือ ตะขบฝรั่ง จัดเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในต่างถิ่นที่ปัจจุบันนิยมปลูกมากในบ้านเรือน เนื่องจาก ต้นตะขบมีลำต้นไม่สูง ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก กิ่งแผ่กางขนานไปกับพื้นเป็นวงกว้าง และมีใบดอกเขียว ทำให้ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นร่มเงาได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่น นอกจากนั้น ผลของตะขบยังนิยมนำมารับประทานเป็นผลไม้สดที่ให้รสหวาน และหอม

• วงศ์ : TILIACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muntingia calabura Linn.
• ชื่อสามัญ :
– Jamaican cherry
– Malayan Cherry
– Calabura
– Jam tree
– West Indian Cherry
•ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ตะขบ/ตาขบ
– ตะขบฝรั่ง
อีสาน
– ตากบ
ภาคใต้
– ครบฝรั่ง

ลูกตะขบ

การแพร่กระจาย
ตะขบเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากอเมริกาใต้ พบการแพร่กระจายทั่วไปในแถบประเทศอบอุ่น รวมถึงประเทศไทย และประเทศเพื่อบ้าน ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะแพร่กระจายมาจากนกอพยพที่มาจากประเทศอื่น ผ่านทางมูลที่ขับถ่าย

ตะขบที่พบในประเทศไทย พบได้ทั่วไปตามชุมชนบ้านเรือน ที่รกร้าง และตามป่าต่างๆ เนื่องจาก ตะขบเป็นอาหารของนกหลายชนิดจึงทำให้เมล็ดตะขบแพร่กระจายไปได้ทั่วทุกแห่ง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ตะขบ
ราก
รากตะขบ เป็นระบบรากแก้ว มีรากแขนงแตกออกด้านข้าง มีระบบรากไม่ลึกนักประมาณ 1 เมตร ในส่วนเฉพาะที่เป็นรากแก้วเท่านั้น ส่วนรากแขนงจะแทงออกด้านข้างขนานไปกับพื้นดิน รากแขนงนี้มีความยาวได้มากกว่าทรงพุ่มของลำต้น อาจยาวได้ถึง 10 เมตร และหากรากแขนงมีส่วนที่สัมผัสกับอากาศ ส่วนนั้นมักจะแตกยอดออกมาเป็นลำต้นใหม่ได้

ลักษณะการแทงยอดใหม่จากรากแขนงของต้นตะขบจะพบเห็นได้บ่อยในรากที่สัมผัสอากาศ โดยเฉพาะต้นตะขบที่ปลูกริมขอบสระน้ำ ซึ่งจะมีรากแขนงบางส่วนแทงขนานไปตามขอบสระ

ลำต้น
ตะขบ จัดเป็นไม้เนื้ออ่อนยืนต้นขนาดเล็ก และเป็นไม้โตเร็ว เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นบาง มีสีเทา ผิวลำต้นเรียบ ไม่แตกสะเก็ด ลำต้นแตกกิ่งบริเวณส่วนปลายของลำต้น ในลักษณะขนานไปกับพื้นดิน ทำให้มีลักษณะคล้ายร่ม กิ่งมีจำนวนมาก กิ่งอ่อนหรือยอดอ่อนมีขนปกคลุม แตกกิ่งก้านแผ่ขนานกับพื้นดิน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม

เนื้อไม้ตะขบ เป็นเนื้อไม้อ่อน มีความเปราะ และหักง่าย ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านงานก่อสร้างส่วนกิ่งยิ่งเปราะหักง่าย จึงต้องระวังเป็นพิเศษหากขึ้นปีนบนต้นตะขบ ทั้งนี้ ประโยชน์จากไม้ตะขบส่วนมากจะใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น

ใบ
ใบตะขบ จัดเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แทงออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่ง มีก้านใบสีเขียว นาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ใบมีรูปไข่แกมขอบขนาน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลม โคนใบมน แผ่นใบทั้งสองด้านมีขนปกคลุม เมื่อจับจะรู้สึกนุ่ม และเหนียวหนืดมือ ด้านใบมองเห็นเส้นใบไม่ชัดเจน ส่วนด้านล่างใบมองเห็นเส้นใบนูนเด่นชัดเจน แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่า ขนาดของใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร

ใบตะขบ

ดอก
ดอกตะขบ แทงออกบริเวณซอกใบ อาจพบออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นดอกคู่ ดอกประกอบด้วยก้านดอกยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวหุ้มฐานดอกไว้ ถัดมาเป็นกลีบดอกสีขาว จำนวน 5-6 กลีบ กลีบดอกมีรูปไข่ ขนาดของกลีบแต่ละกลีบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ขนาดดอกรวมยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ถัดเป็นตรงกลางดอกเป็นเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก โดยด้านร่างเป็นรังไข่ที่มีไข่จำนวนมาก โดยรังไข่นี้ต่อมาเจริญเป็นผล

ดอกตะขบ

ผล
ผลตะขบ/ลูกตะขบ มีลักษณะทรงกลม ขนาดผลเมื่อสุกประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลดิบมีสีเขียว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียมอมเหลือง สีส้ม และสีชมพู จนสุกเต็มที่จะมีสีแดงเข้ม เปลือกผลค่อนข้างบาง และนุ่ม ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก ขนาดเมล็ดประมาณ 1 มิลลิเมตร ผลดิบหากรับประทานจะมีรสฝาด เมื่อเริ่มสุกเป็นสีเหลืองจนถึงสุกจัดจะมีรสหวาน

ตะขบ

ประโยชน์ของตะขบ
1. ประโยชน์จากต้นตะขบที่เห็นได้เด่นชัด และเป็นเหตุผลสำคัญที่มีผู้นิยมปลูกต้นตะขบไว้ภายในบ้าน คือ การปลูกเพื่อเป็นร่มเงา เพราะต้นตะขบมีลำต้นไม่สูงมาก ลำต้นมีกิ่งจำนวนมาก กิ่งกางแผ่เป็นวงกลมรอบลำต้น กิ่งกางขนานกับพื้นดิน ประกอบกับใบที่แตกออกมีจำนวนมาก ทำให้เป็นร่มเงาได้ดี แต่ต้นตะขบจะทิ้งใบบางส่วนในช่วงแล้ง แต่จะให้ใบเขียวดกมากในช่วงฤดูฝน-ต้นฤดูแล้ง
2. ผลสุกเป็นที่นิยมนำมารับประทาน โดยนิยมเก็บผลสุกจากต้น และรับประทานในขณะนั้น
3. ผลสุกเก็บรวบรวมให้ได้จำนวนมาก ใช้นำมาหมักไวน์ตะขบ ให้รสหวาน และให้แอลกอฮอล์ไม่แพ้ไวน์จากผลไม้ชนิดอื่น
4. ใบสดนำมาตากแห้งใช้ชงเป็นชาดื่ม
5. ต้นตะขบเป็นไม้เนื้ออ่อน เยื่อนี้สามารถนำมาใช้ทำกระดาษได้
6. ลำต้น และกิ่งของต้นตะขบนำมาใช้เป็นไม้ใช้สอย เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงประกอบอาหาร กิ่งใช้ทำค้างผักสำหรับเลื้อย กิ่งใช้ทิ้งลงสระหรือบ่อปลาสำหรับเป็นที่พักอาศัยหรือหลบภัยของปลาวัยอ่อน รวมถึงลำต้น และใช้ทำแนวรั้วสำหรับป้องกันสัตว์ในแปลงเกษตร เป็นต้น
7. ใบสดตะขบนำมาต้มเอาเฉพาะน้ำที่ให้สีเขียวเข้ม เพื่อใช้สำหรับย้อมผ้า แต่ให้เติมสารช่วยยึดติดสีร่วมด้วยในขณะย้อม เช่น สารส้ม
8. ผลตะขบใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ ห่าน หมูป่า เป็นต้น ซึ่งมักจะพบเห็บไก่ เป็ด หรือ ห่าน มักมาพักหากินลูกตะขบเป็นประจำ รวมถึงการเป็นอาหารปลา โดยเฉพาะการปลูกตะขบตามขอบบ่อเลี้ยงปลา
9. ผลตะขบจัดเป็นอาหารสัตว์ป่าตามธรรมชาติ โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ

ต้นตะขบ

สรรพคุณตะขบ
จากการรวบรวมสรรพคุณของต้นตะขบที่ได้จากส่วนต่างๆของต้นในเว็บไชต์ต่างๆ ได้แก่
ผลสุก (รับประทานสด)
– ให้พลังงาน บำรุงร่างกาย และช่วยให้เจริญอาหาร
– เป็นยาเสริมแคลเซียม ป้องกันโรคกระดูกพรุน
– ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็ง และการเสื่อมสภาพของเซลล์
– ช่วยในการขับถ่าย
ใบ (มีรสฝาดใช้ตากแห้งสำหรับชงเป็นชาดื่ม)
– ใช้เป็นยาระบาย
– ช่วยระงับอาการไอ อาการเจ็บคอ
ดอก (ตากแห้งนำมาต้มหรือชงเป็นชาดื่ม)
– บรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอ
– บำรุงตับ ป้องกันการเสื่อสภาพของตับ
– บรรเทาอาการเป็นหวัด และลดไข้
– แก้อาการท้องเสีย อาการอาหารเป็นพิษ
– ลดอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อแขนขา
– บรรเทาอาการปวดศรีษะ ปวดไมเกรน
ราก ลำต้น และเปลือกลำต้น (นำมาต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยเป็นยาระบาย
– ช่วยในการย่อยอาหาร
– บรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ
– ช่วยขับเสมหะ และบรรเทาอาการอักเสบบริเวณคอ
– ช่วยลดไข้
– บรรเทาอาการท้องเสีย ท้องร่วง
– ช่วยในการขับระดู
– ลดอาการท้องผูก
ราก และลำต้น (บดทา หรือ ต้มใช้ภายนอกร่างกาย)
– นำมาบดทารักษาอาการผื่นคัน

การปลูกตะขบ
ตะขบที่ปลูกตามบ้านเรือนต่างๆ มักได้มาจากกล้าตะขบที่หาได้ตามที่รกร้างหรือบริเวณใกล้ต้นตะขบต้นแม่ นอกจากนี้ ยังได้มาจากการเพาะเมล็ดตะขบด้วย

การปลูกตะขบนั้นถือว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะตะขบเป็นไม้ที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน และมีความทนต่อความแห้งแล้งได้ดี รวมถึงไม่มีศัตรูตามธรรมชาติมากนัก

กล้าที่ใช้ปลูกควรมีความสูงของลำต้นประมาณ 20-30 ซม. เพื่อให้กล้าสามารถตั้งตัวได้เร็ว ส่วนหลังการปลูกแล้วไม่จำเป็นต้องดูแลพิถีพิถันอะไรมากนัก เพียงคอยให้น้ำหลังปลูกในช่วงแรกเพื่อให้ต้นตั้งตัวได้เท่านั้น และคอยกำจัดวัชพืชให้บ้างเป็นครั้งคราว หลังจากนั้น จึงปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ