ดอกหน้าวัว

Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset

ต้นดอกหน้าวัว (Anthurium andraeanum Lind) มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอเมริกาใต้ ประเทศไทยนำเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยติดมากับต้นไม้ที่พระองค์เจ้าพร้อมสั่งมาจากกัลกัตตา ปัจจุบันเป็นไม้ตัดดอกที่นิยมปลูก และขายกันมากในท้องตลาดภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ

ดอกหน้าวัว มีหลากหลายสี และมีสีสันสดใส ไม่เหี่ยวง่าย สามารถประดับได้นาน 15-20 วัน นิยมนำมาจัดแจกัน จัดซุ้มประดับตามโรงแรม จัดซุ้มประดับงานในวาระสำคัญต่างๆ ผู้ที่มีการชื้อมากจะเป็นร้านรับจัดสวน รับจัดซุ้มไม้ประดับ ร้านจัดดอกไม้ เป็นต้น และผู้ชื้อต้นไปปลูกประดับตามสวน ตามบ้านตัวเอง

ต้นดอกหน้าวัวมีลักษณะค่อนข้างเป็นไม้เลื้อย อายุ 5-8 ปี เจริญเป็นกอ และแตกหน่อ ลำต้นมีข้อสั้นๆ เมื่อลำต้นสูง รากจะลอยตามข้อ ทำหน้าที่ดูดน้ำ และความชื้นในอากาศ ใบมีลักษณะเรียวรี คล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลมยาว เส้นใบเป็นร่างแห ใบจะแตกออกเหนือก้านใบบริเวณข้อ ใบแก่จะทิ้งลงด้านล่างทำให้เกิดเป็นทรงพุ่ม

ดอกหน้าวัวในโรงเรือน

ดอกหน้าวัว เป็นส่วนสำคัญที่เป็นจุดเด่น โดยดอกจะแทงออกเหนือก้านใบสลับกันไปในแต่ละข้อของต้น จะประกอบด้วยส่วนของก้านดอก จานรองดอก และปลีดอก ส่วนที่เป็นจุดเด่น และให้สีสันจะเป็นส่วนจานรองดอก ซึ่งจะมีสีต่างๆ อาทิ สีแดง สีชมพู สีขาว สีส้ม เป็นต้น โดยขนาดของจานรอง และสีของดอกจะเป็นตัวกำหนดราคาของต้น และดอก

ส่วนของปลีจะเป็นดอกที่อยู่เหนือจานรองดอก ประกอบด้วยดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกัน ถือเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีเกสรตัวเมีย และเกสรตัวผู้อยู่ในดอกเดียวกัน

พันธุ์ที่ปลูก
– พันธุ์ดวงสมร ลำต้นมีรากลอยมาก ใบมีจีบสองข้าง เส้นใบมีข้างละ 3 เส้น ใบมีลักษณะป้อม คุ้ม ใบเมื่อถูกแดดจะมีสีออกแดง ดอกมักเกิดพร้อมกันกับใบ ก้านใบแข็งแรง จานดอกมีสีแดงเข้ม หูดอกชิด และมีรอยย่นลึก ดอกมักเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง ปลีแทงขนานกับจานรองดอก สีปลีมีสีขาวออกชมพู เมื่อบานเต็มที่จานรองดอกจะลู่ลงตั้งฉากกับปลี
– พันธุ์จักรพรรดิ์ ลำต้นมีรากมาก
– พันธุ์ศรีสง่า
– พันธุ์ชิงดาง
– พันธุ์เหลืองรัตน์
– พันธุ์ผกาวลี
– พันธุ์ผกามาศ
– พันธุ์แดงนุกูล
– พันธุ์นายพล
– พันธุ์กษัตย์ศึก
– พันธุ์ดาราทอง
– พันธุ์โพธิ์ทอง
– พันธุ์สุหรานากง
– พันธุ์ศรียาตรา
– พันธุ์ขาวนายหวาน
– พันธุ์นครธน

การขยายพันธุ์
1. การปักชำ
เป็นวิธีที่ใช้การตัดยอดหรือการตัดต้นที่มีลักษณะลำต้นสูงหรือตัดแยกต้นที่มีหน่อเยอะแยกออกมาชำปลูกเพื่อขยายต้นใหม่ ต้นหรือยอดที่ตัดหากมีรากลอยติดมาด้วยยิ่งเป็นการดีที่สุด เพราะจะทำให้การปักชำนั้นติดง่าย และเร็วขึ้น

2. การแยกหน่อ
เป็นวิธีที่ใช้วิธีการแยกหน่อจากต้นแม่ โดยคัดเลือกหน่อใหม่ที่มีราก 3-5 ราก ติดมาด้วย แล้วแยกปลูกในกระถางใหม่

3. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถือเป็นวิธีที่ต้องใช้ต้นทุนสูง และต้องมีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะที่ต้องทำในห้องปฎิบัติการ ด้วยการนำส่วนต่างของดอกหน้าวัว เช่น ตา ข้อ ปล้อง ใบ ดอก มาเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ภายใต้ภาวะปลอดเชื้อ และควบคุมอุณหภูมิ และแสงในห้องปฏิบัติการวิธีนี้มีความสำคัญสำหรับพันธุ์พืชที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์

การปลูกดอกหน้าวัว
1. สำหรับค้าขาย
การปลูกเพื่อการค้ามักปลูกในโรงเรือนที่มีพื้นที่มาก โรงเรือนอาจทำด้วยไม่ไผ่หรือโครงเหล็ก ด้านบนขึงด้วยผ้าสแลนสีดำหรือสีเขียว 2 ชั้น สำหรับบังแดดให้แดดส่องพอพรางๆ

การเตรียมดินแบบปลูกลงแปลง
วิธีการปลูกในแปลงเป็นวิธีที่นิยมสำหรับการปลูกเพื่อตัดดอกจำหน่าย และการขยายพันธ์ โดยจะเตรียมแปลงในโรงเรือนด้วยการยกร่องแปลงสูง 20-30 ซม. หรือกั้นแปลงด้วยอิฐบล็อกสูง 2 ก้อนอิฐ หรือ ประมาณ 30-40 ซม.

ดินที่ใช้ควรเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ อาจเป็นดินร่วน ดินร่วนปนดินเหนียว พร้อมผสมดินกับปุ๋ยคอก และเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น เศษใบไม้ ขี้เถ้า แกลบ ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วนดินต่อวัสดุอินทรีย์ 2:1 หรือ 1:1 ขึ้นอยู่กับเงินทุน

การเตรียมดินปลูกลงกระถาง
การเตรียมดินสำหรับการปลูกด้วยกระถางถือเป็นวิธีค่อนข้างนิยมสำหรับปลูกเพื่อเลี้ยงให้ต้นโตเพื่อการจำหน่ายต้นพร้อมกระถาง

ดินที่ใช้ให้ผสมกับปุ๋ยคอกหรือวัสดุทางการเกษตรต่างที่กล่าวข้างต้น ในอัตราส่วน 1:1

วิธีการปลูก
– การปลูกในแปลง ควรใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือหากหาไม่ได้จริงๆก็ใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการชำหรือจากการแยกเหง้า ปลูกในระยะ 30×30 หรือ 30×40 ซม.
– การปลูกในกระถางจะใช้ต้นพันธุ์ในลักษณะเดียวกัน เพียง 1-2 ต้น/กระถาง และกระถางที่ใช้ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เพื่อให้มีระยะห่างระหว่างต้นของกระถางเพียงพอ

การดูแลรักษา
การให้น้ำ ดอกหน้าวัวเป็นพืชที่ต้องการความชื้นตลอดจึงต้องให้อย่างสม่ำเสมอ น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาด หากเป็นน้ำคลองควรทำการพักน้ำในบ่อพักเพื่อตกตะกอนเสียก่อน การให้น้ำแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

– การให้น้ำบริเวณโคนต้น โดยอาจให้ด้วยระบบน้ำหยดหรือระบบสปริงเกอร์ในระดับโคนต้น วันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น

– การให้น้ำเพื่อรักษาความชื้น จะให้เป็นระบบสปิงเกอร์ด้านบนยอดของต้นไม้ เพื่อให้รักษาความชื้น และให้ความเย็นแก่บริเวณโดยรอบ

การใส่ปุ๋ย จะให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำจะได้ผลที่สุด ด้วยการละลายปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตราส่วน 30 กก./ไร่ ทุกๆ 3 เดือน ในระยะก่อนออกดอก และในระยะที่เริ่มให้ผลผลิตควรใช้สูตร 12-12-24 ในอัตราเท่ากัน

ดอกหน้าวัวในกระถาง

2. สำหรับปลูกประดับ

การปลูกประดับเองภายในบ้านมักจะได้จากการชื้อต้นที่ติดกระถางมากจากผู้ขายอีกที จึงต้องเลี้ยง และดูแลให้ต้นหน้าวัวเติบโตออกดอกอย่างสม่ำเสมอซึ่งใช้หลัก และวิธีการเหมือนกับที่ได้กล่าวข้างต้น

สำหรับการวางกระถางถือเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เลี้ยงควรวางกระถางในพื้นที่ที่มีแสงรำไรในที่ร่มไม้ใหญ่ หรือ ภายในบ้านที่มีสิ่งบังแดด

การแยกขยายพันธุ์ มักใช้วิธีแยกเหง้าปลูกจากต้นแม่ที่เลี้ยงไว้เพื่อขยายเป็นต้นใหม่ โดยมักใช้ปลูกในกระถางต่อ การแยกเหง้านั้นให้ใช้วิธีการที่กล่าวในข้างต้น