ชมพู่มะเหมี่ยว/มะเหมี่ยว สรรพคุณ และวิธีปลูกชมพู่มะเหมี่ยว

Last Updated on 4 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ชมพู่มะเหมี่ยว หรือ มะเหมี่ยว (Pomerac) จัดเป็นชมพู่ชนิดหนึ่งที่นิยมนำผลสุกมารับประทานสด เนื่องจาก เนื้อผลหนา เนื้อมีความนุ่ม มีรสเปรี้ยวอมหวาน และมีกลิ่นหอม นอกจากนั้น ยังใช้ประโยชน์เพื่อประกอบอาหาร และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ แยม ไวน์ และน้ำผลไม้ เป็นต้น

• วงศ์ : MYRTACEAE
• วิทยาศาสตร์ : Eugenia malaccensis Linn.
• ชื่อสามัญ :
– Pomerac
– Malay Apple
• ชื่อท้องถิ่น :
– ชมพู่มะเหมี่ยว
– มะเหมี่ยว
– ชมพู่สาแหรก
– ชมพู่แดง

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ชมพู่มะเหมี่ยว/มะเหมี่ยว มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียเหมือนกับชมพู่ชนิดอื่นๆ จากนั้นค่อยแพร่มายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ปัจจุบัน ชมพู่มะเหมี่ยวพบปลูกในทุกภาคของไทย

e8029005-44

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ชมพู่มะเหมี่ยว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งมาก และเป็นกิ่งขนาดใหญ่ มีกิ่งขนาดเล็กเฉพาะปลายยอด เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน ผิวลำต้นขรุขระ และสากมือ

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%8a%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%b9%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7

ใบ
ใบชมพู่มะเหมี่ยว ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวตรงข้ามสลับกันเป็นคู่ๆบนกิ่ง ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีชมพู ใบแก่ขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม ใบมีรูปรี โคนใบมน ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา เป็นมัน และค่อนข้างแข็งเหนียว แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีขาวอมเขียวชัดเจน และมีเส้นแขนงใบ 20-26 คู่ ปลายเส้นแขนงใบสิ้นสุดก่อนถึงขอบใบ

ดอก
ดอกชมพู่มะเหมี่ยวออกเป็นช่อ และออกเป็นช่อกระจุกใกล้กันบนกิ่งขนาดใหญ่ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-5 ดอก ดอกตูมมีลักษณะเป็นก้อนทรงกลมที่ห่อหุ้มด้วยกลีบเลี้ยง ดอกบานจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล จำนวน 5 กลีบ ถัดมาเป็นกลีบดอกที่มีลักษณะวงกลม จำนวน 5 กลีบ แผ่นกลีบดอกมีสีชมพูเข้ม ถัดมาตรงกลางเป็นก้านเกสรตัวผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร สีก้านเกสรเป็นสีชมพูเข้ม ส่วนด้านในสุดจะเป็นเกสรตัวเมีย และรังไข่ที่ฝังอยู่บริเวณฐานดอก และก้านเกสรตัวผู้จะร่วงหลังจากดอกบานแล้วเต็มที่แล้ว

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%8a%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7

ผล และเมล็ด
ผลชมพูมะเหมี่ยวมีรูประฆัง อวบอ้วน ขนาดผลประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอมขาว และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม และเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมแดง เนื้อผลหนา และนุ่ม มีสีขาว ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยเมล็ด 1-5 เมล็ด เกาะกันเป็นก้อนใหญ่ จนมีลักษณะเป็นพู ตัวเมล็ดแยกออกจากเนื้อผล ไม่เกาะกับเนื้อผล เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ เมล็ดในผลสุกจะปริแตกเป็นร่องของแต่ละเมล็ดจนให้เห็นเนื้อเมล็ด และต้นอ่อนด้านในที่มีสีขาวอมเขียว

%e0%b8%8a%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%b9%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7

ประโยชน์ชมพู่มะเหมี่ยว/มะเหมี่ยว
1. ผลสุกชมพู่มะเหมี่ยว นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด เนื่องจากมีเนื้อหนา กรอบ และมีรสเปรี้ยวอมหวาน
2. ยอดอ่อนชมพู่มะเหมี่ยว ใช้รับประทานคู่กับอาหาร อาทิ ซุปหน่อไม้ ลาบ หรือเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
3. ผลห่ามของชมพูมะเหมี่ยวใช้ประกอบอาหารจำพวกแกงต่างๆ
4. ผลสุกชมพู่มะเหมี่ยวนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ แยม น้ำชมพูมะเหมี่ยว และไวน์ เป็นต้น
5. เนื่องจากดอกชมพู่มะเหมี่ยวมีสีชมพูเข้มสวยงาม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับร่วมด้วยกับการปลูกเพื่อรับประทานผล

คุณค่าทางโภชนาการชมพู่มะเหมี่ยว (ผลที่กินได้ 100 กรัม)
– น้ำ : 93.8 กรัม
– พลังงาน : 24 กิโลแคลอรี
– โปรตีน : 0.5 กรัม
– ไขมัน : 0.1 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 53 กรัม
– ใยอาหาร : 1.3 กรัม
– เถ้า : 0.3 กรัม
– แคลเซียม : 1 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 8 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 0.7 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 21 RE
– ไทอะมีน (วิตามิน B1) : 0.34 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน (วิตามิน B3) : 0.5 มิลลิกรัม
– วิตามินซี : 18 มิลลิกรัม

ที่มา : 1)

สรรพคุณชมพู่มะเหมี่ยว/มะเหมี่ยว
ผล
– สารแอนโทไซยานิน ที่พบมากบริเวณผิวด้านนอกของผลมีคุณสมบัติช่วยต้านโรคมะเร็ง
– ช่วยย่อยอาหาร
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– แก้ลำคออักเสบ ทำให้ชุ่มคอ
– ช่วยขับเมหะ
– ช่วยบำรุงเลือด
– ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
– แก้อาหารท้องเสีย

ใบอ่อน และยอดอ่อน
– ต้านโรคมะเร็ง
– ช่วยย่อยอาหาร
– แก้อาการท้องอืด
– ช่วยขับลม
– แก้อาการท้องเสีย
– แก้อาการปวดฟัน
– แก้โรคบิด

ราก เปลือก และแก่นลำต้น
– รักษาอาหารผื่นคันตามผิวหนัง
– ช่วยในการลดไข้
– รักษาโรคบิด
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยขับประจำเดือน

เพิ่มเติมจาก : 2)

วิธีปลูกชมพู่มะเหมี่ยว/มะเหมี่ยว
วิธีปลูกชมพู่มะเหมี่ยว/มะเหมี่ยว สามารถเพาะขยายพันธุ์หรือการปลูกได้ด้วยเมล็ด ส่วนวิธีอื่นก็นิยมเช่นกัน อาทิ การตอนกิ่ง การปักชำกิ่ง และการเสียบยอด แต่ที่นิยม คือ การปลูกด้วยต้นกล้าจากการตอนกิ่ง และการเสียบยอด เพราะลำต้นไม่สูงมาก และที่สำคัญ คือ สามารถติดผลได้เร็วกว่าการปลูกต้นกล้าจากากรเพาะเมล็ด ซึ่งจะใช้เวลานานมากกว่า 4-6 ปี กว่าจะติดผล

%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7

การเพาะ และปลูกด้วยเมล็ด
เมล็ดชมพู่มะเหมี่ยวใน 1 ผล จะมีเมล็ดประมาณ 1-5 เมล็ด แต่เราจะเห็นเป็นเมล็ดเดียวเพราะแต่ละเมล็ดจะเกาะติดกันแน่น

เมล็ดที่ใช้ปลูกควรเป็นเมล็ดที่มาจากผลที่ร่วงจากต้นแล้ว ซึ่งจะมีอัตราการงอกสูง แต่สามารถใช้เมล็ดจากผลที่ซื้อตามร้านขายผลไม้ได้เช่นกัน

หลังจากได้ผลสุกของชมพู่มะเหมี่ยวแล้ว ให้แกะเมล็ดออก ซึ่งจะได้เมล็ดรวมที่เกาะกันแน่น จากนั้น นำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ โดยเกลี่ยดินกลบเพียงเล็กน้อย พร้อมรดน้ำทุกวันเพียงชุ่ม ซึ่งเมล็ดจะงอกต้นอ่อนให้เห็นจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ประมาณ 1 เดือน

หลังจากเพาะเมล็ดแล้ว ประมาณ 1 เดือน เมล็ดจะเริ่มแทงหน่ออ่อนให้เห็น จากนั้น ขุดเมล็ดขึ้นมาแล้วแกะเมล้ดย่อยออกจากกัน ก่อนนำเพาะต่อในถุงเพาะชำ หลังจากนั้น ดูแล และรดน้ำจนกว่าจะมีใบจริง 3-5 ใบ หรือต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ค่อยนำลงปลูกในแปลงต่อ ส่วนต้นกล้าที่ได้จากการตอนหรือการเสียบยอด ปัจจุบันมีการทำขายตามร้านขายกล้าไม้ทั่วไป

สำหรับการปลูกด้วยกล้าจากการเพาะเมล็ด ควรปลูกในระยะห่างประมาณ 6-8 เมตร ส่วนต้นกล้าจากการตอนกิ่งหรือการเสียบยอดจะปลูกในระยะที่ใกล้กว่าประมาณ 4-6 เมตร

การเก็บผล
สำหรับชมพู่มะเหมี่ยวที่ปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ปี กว่าจะให้ผล ส่วนการปลูกด้วยการตอนหรือการเสียบยอดจะติดผลได้ที่อายุ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับอายุกิ่งที่ใช้ แต่โดยมากจะเด็ดดอกทิ้งในปีแรกเพื่อให้ลำต้นแตกกิ่งมากก่อน ทั้งนี้ ชมพู่มะเหมี่ยวสามารถเก็บผลได้ประมาณ 55-65 วัน หลังติดผล ด้วยการใช้มือเด็ดที่ขั้วผลหรือใช้กรรไกรยาวช่วยเก็บหากผลสูงเกินเอื้อมถึง

การเก็บรักษาผลชมพู่มะเหมี่ยว
มะเหมี่ยวหลังเก็บผลมาแล้ว หากเก็บไว้ในห้องธรรมดาจะเก็บได้นาน 3-5วัน แต่หากเก็บไว้ในตู้เย็นจะเก็บได้นานประมาณ 7-14 วัน

ขอบคุณภาพจาก NanaGarden.com/, Pantip.com/, biogang.net/, ifreethai.com/

เอกสารอ้างอิง
1) กองโภชนาการ กรมอนามัย. 2544. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทย.
2) สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. ชมพู่มะเหมี่ยว. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2559. เข้าถึงได้ที่ : http://area-based.lpru.ac.th/veg/www/Native_veg/v094.htm/.