ชงโค สรรพคุณ และการปลูกชงโค

Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset

ชงโค เป็นไม้ยืนต้นที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลถั่ว มีผลเป็นฝักคล้ายถั่ว แต่มีดอกคล้ายดอกกล้วยไม้สีม่วงอมชมพู แทงอกเป็นช่อสวยงาม ทำให้ชงโคเป็นไม้ที่นิยมปลูกเพื่อใช้ประดับต้น และเพื่อชมดอก รวมถึงใช้เป็นร่มเงาในสถานราชการ และตามบ้านเรือน

คำว่า ชงโค น่าจะเป็นชื่อเรียกที่ตั้งมาจากลักษณะของใบที่คล้ายกับกลีบเท้าวัว และมีความเชื่อว่า เป็นไม้ของพระนารายณ์ในศาสนาหรือวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู

• วงศ์ : Leguminosae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia purpurea Linn.
• ชื่อสามัญ :
– Orchid Tree
– Purple Orchid Tree
– Butterfly Tree
– Purple Bauhinia
– Hong Kong Orchid Tree
• ชื่อท้องถิ่น :
– ชงโค (กลาง และทั่วไป)
– เสี้ยวดอกแดง (ภาคเหนือ)
– เสี้ยวเลื่อย (ภาคใต้)
– เสี้ยวหวาน (แม่ฮ่องสอน)
– เสี่ยว/เสี้ยว (อีสาน)

ดอกชงโค

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ชงโค/เสี้ยว เป็นไม้ยืนต้นประเภทพลัดใบ มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งเป็นน้อย เปลือกลำต้นมีสีเทา ผิวเปลือกขรุขระ

ใบ
ใบชงโค เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แทงออกเป็นเดี่ยวสลับข้างกันบนข้อกิ่ง ใบมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวสด ใบมีลักษณะค่อนข้างมน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ โคนใบ และส่วนปลายจะหยักโค้งมนตรงกลาง ทำให้ใบแลดูคล้ายใบแฝดหรือคล้ายรูปไต ใบกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ใบอ่อนกางแผ่น้อยทำให้แลดูคล้ายปีกผีเสื้อ ส่วนการพลัดใบจะเริ่มพลัดใบไปเรื่อยตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม และจะเริ่มแทงยอด และใบอ่อนเมื่อเข้าสู่ต้นฤดูฝนเดือนเมษายน-พฤษภาคม หลังจากนั้น จะเริ่มแทงช่อดอกออกมาทีหลัง และเริ่มติดฝัก

ใบชงโค

ดอก (ดังรูปบนสุด)
ดอกชงโคเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีรูปร่างคล้ายดอกกล้วยไม้ ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 5-10 ดอก ดอกประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอมชมพู ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย เมื่อดอกบาน ดอกจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสามารถออกได้ตลอดทั้งปี

ผล
ผลหรือฝักชงโคมีลักษณะเป็นฝักคล้ายฝักถั่ว มีรูปร่างแบน ฝักมีขนปกคลุม ฝักมีขนาดกว้าง 1-2 ซม. ยาว 20-25 ซม. ฝักจะเริ่มทยอยติดตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม จนแก่ในช่วงเดือนกันยายน ฝักแก่จะมีสีน้ำตาล และเมื่อแก่จัดจะมีสีดำ

ฝักชงโค

สารสำคัญที่พบ
– สารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloids)
– สารในกลุ่มแทนนิน (tannins)

ประโยชน์
1. ดอกชงโคมีสีม่วงอมชมพู มีรูปร่างคล้ายดอกกล้วยไม้ และออกเป็นช่อ จึงนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับต้น และเพื่อชมดอก
2. นอกจากการปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับแล้ว ชงโคในช่วงแตกใบใหม่จะมีทรงพุ่มหนาทำให้เป็นร่มเงาได้เป็นอย่างดี
3. ชงโคใช้ปลูกเป็นไม้มงคล เนื่องจากมีความเชื่อว่า เป็นต้นไม้ของพระนารายณ์ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู รวมถึงตามความเชื่อของคนไทยเองตามวรรณกรรมต่างๆยังเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู ซึ่งจะช่วยปกปักษ์รักษาให้คนในครอบครัวมีความสุก ไม่มีอันตรายเข้ามาย่ำกราย
4. ยอดอ่อนใบชงโคนำมาใส่ในต้มส้ม ต้มยำ ช่วยดับกลิ่นคาว และช่วยเพิ่มรสให้แก่อาหาร
5. ยอดอ่อน และฝักอ่อนใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ

สรรพคุณชงโค
ใบ
– ใบนำมาตากแดด ใช้ชงเป็นชาดื่ม
– ใบนำมาขยี้ และผสมน้ำเล็กน้อยใช้ประคบรักษาแผล และช่วยในการห้ามเลือด
– ใบอ่อนใช้เคี้ยวเพื่อลดกลิ่นปาก
ดอก
– ดอก นำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยลดอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ
เปลือก
– เปลือกลำต้นนำมาต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาอาการท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ
– น้ำต้มจากเปลือกใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ราก
– ราก นำมาต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับลม
– น้ำต้มจากรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

การปลูกชงโค
ชงโคสามารถปลูก และขยายพันธุ์ทั้งการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง และการตอนกิ่ง แต่ทั่วไปนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ด เพราะง่าย และสะดวกกว่าวิธีอื่น ส่วนการตอนกิ่ง และการปักชำก็ยังเป็นที่นิยมอยู่บ้าง เนื่องจาก จะได้ลำต้นที่ไม่สูงมากนัก แต่มีข้อเสีย คือ ลำต้นจะแตกกิ่งน้อย

กิ่งพันธุ์ชงโค

การเตรียมเมล็ด และการเพาะเมล็ด
สำหรับเมล็ดที่ใช้ในการเพาะ ควรเป็นเมล็ดที่ได้จากฝักแห้ง ทั้งที่แห้งบนต้นหรือฝักที่ร่วงแล้ว ซึ่งจะเก็บได้ประมาณช่วงเดือนก่อนถึงปลายปี

การเพาะเมล็ดนั้น ให้เพาะในถุงพลาสติกเพาะชำ ด้วยการผสมวัสดุเพาะระหว่างดินกับวัสดุอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก แกลบดำ เป็นต้น อัตราส่วนดินกับวัสดุประมาณ 1:3 โดยก่อนลงเพาะให้นำเมล็ดมาแช่น้ำนาน 1 วัน ก่อน

การปลูก
การนำลงปลูก ควรใช้กล้าชงโคที่มีลำต้นสูงประมาณ 25-30 ซม. หรือมีอายุประมาณ 1-2 เดือน หลังแตกหน่อ หากปลูกมากว่า 2 ต้น ที่อยู่ใกล้กัน ให้เว้นระยะห่างประมาณ 5-8 เมตร