ข้าวโพดหวาน และการปลูกข้าวโพดหวาน

Last Updated on 19 สิงหาคม 2018 by puechkaset

ข้าวโพดหวาน (sweet corn) เป็นข้าวโพดที่นิยมปลูก และนำมารับประทานมากที่สุดในบรรดาข้าวโพดชนิดต่างๆ เนื่องจากให้ความหวานสูง ไขมันต่ำ สามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร ของหวานหรือแปรรูปได้หลากหลายอย่าง รวมถึงการนิยมรับประทานเป็นอาหารโดยตรงด้วยการต้มหรือคั่ว

ข้าวโพดหวาน เป็นข้าวโพดที่ปลูกมากทั่วโลก ผู้ปลูกรายใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฮังการี และแคนาดา ส่วนเอเชียมีผู้ปลูกรายใหญ่ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย โดยประเทศไทยมีแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ได้แก่ ภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดหนองคาย นครพนม ภาคกลาง เช่น จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ส่วนภาคใต้ เช่น จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล

เกษตรกรมักปลูกข้าวโพดหวานในฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และตุลาคม และปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม การจำหน่ายผลผลิตมีทั้งการจำหน่ายแก่โรงงานเพื่อแปรรูปเป็นข้าวโพดหวานกระป๋อง การส่งออกต่างประเทศ และนำมาบริโภคภายในประเทศ รูปแบบการจำหน่ายในประเทศมักพบนำฝักสดมาขายตามท้องตลาดการเกษตร ตลาดสด และมักพบการขายเป็นข้าวโพดหวานต้มหรือข้าวโพดหวานย่างไฟตามข้างถนนของพื้นที่แปลงปลูก

ประโยชน์ และคุณค่าทางอาหาร
ฉลอง เกิดศรี และไพโรจน์ สุวรรณจินดา (2551) พบว่า ข้าวโพดหวานต้มช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และมะเร็งได้ ข้าวโพดหวานต้มสามารถปลดปล่อยสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญชื่อ กรดเฟอรูลิก (ferulic acid) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กรดเฟอรูลิกยังนิยมใช้สำหรับต้านการแก่ของเซลล์ ป้องกันเซลล์มะเร็ง โรคหัวใจ ไข้หวัด ต้านผลกระทบจากรังสีอัลตราไวโอเลต ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังจากแสงแดด

sweet-corn

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ข้าวโพดหวานเป็นล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยว อายุสั้น จัดอยู่ในตระกูล Gramineae เป็นพืชตระกูลเดียวกับหญ้าที่ผสมข้ามพันธุ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays Line.Var Saccharata.

ราก
ข้าวโพดหวานเป็นพืชไม่มีรากแก้ว มีเพียงระบบรากฝอยที่เจริญจาก 2 ส่วน คือ รากส่วนที่หนึ่ง เจริญมาจากคัพภะ เรียกว่า primary root เป็นรากที่พัฒนาจาก radical มีรากแขนงที่แตกออกจาก primary root เรียกว่า lateral root และระบบรากที่เกิดขึ้นจาก scutellar node เรียกว่า seminal root รากทั้งหมดจะเติบโตในระยะเวลาสั้นในระยะที่ข้าวโพดหวานเป็นต้นกล้า และจะตายเมื่อต้นข้าวโพดเจริญเติบโตมากขึ้น ส่วนที่ 2 เป็นรากที่เจริญจากลำต้น เรียกว่า adventitious root โดยแตกออกจากส่วนข้อช่วงข้อล่างของลำต้น ประมาณข้อที่ 1-2 ซึ่งจะแทงรากลงดิน

ลำต้น
ลำต้นประกอบด้วยข้อ และปล้อง มีลักษณะแก่นเนื้อไม่กลวง บริเวณข้อมีเนื้อเยื่อเจริญที่เป็นจุดกำเนิดของราก (ข้อ 1-2) ตา และกาบใบ มีลักษณะปล้องสั้น ใหญ่ที่โคนต้น และปล้องยาว เล็กตามระยะตามความสูงเพิ่มขึ้น

ใบ
ใบประกอบด้วยกาบใบที่หุ้มลำต้น และแผ่นใบแผ่กาง มีเส้นกลางใบชัดเจน ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวแก่ตามอายุของใบ

ช่อดอก
– ช่อดอกตัวผู้ เรียกว่า tassel และช่อดอกตัวเมีย เรียกว่า ear อยู่บนต้นเดียวกัน แต่แยกอยู่คนละดอก โดยช่อดอกตัวผู้จะอยู่ที่ส่วนยอดของลำต้น
– ช่อดอกตัวเมีย เกิดบริเวณตาที่มุมใบบริเวณส่วนบนของข้อ ประมาณข้อที่ 6 นับจากใบธงลงมา ช่อดอกตัวเมียมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ที่เรียกว่า ไหม ไหมอ่อนจะมีสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือสีเหลืองปน ม่วงอ่อนๆ ผิวเส้นมันค่อนข้างเหนียว เมื่อฝักแก่เส้นนี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เรียกว่า “Corn Silk”

ฝักข้าวโพด
ส่วนของฝักจะเป็นส่วนที่พัฒนามาจากช่อดอกตัวเมีย ประกอบด้วยผล และเมล็ด ที่เป็นแบบ caryopsis คือ มีเยื่อหุ้มผลติดกับเยื่อหุ้มเมล็ด ที่มีลักษณะเป็นเยื่อบางใสไม่มีสี เยื่อหุ้มผล และเยื่อหุ้มเมล็ด เรียกรวมกันว่า hull เมล็ดจะเป็นส่วนสะสมแป้งบริเวณส่วนของเอนโดสเปิร์ม การสะสมแป้งจะเต็มที่เมื่อข้าวโพดแก่จัด ซึ่งระยะนี้จะพบแผ่นเยื่อสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำบริเวณโคนเมล็ด

ผลผลิตข้าวโพดหวาน
ผลผลิตข้าวโพดหวาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. ผลผลิตทางชีวภาพ หมายถึง ผลผลิตโดยรวมของใบ กิ่ง ลำต้น ราก และเมล็ด ซึ่งก็คือ ผลผลิตทางชีวภาพเป็นผลผลิตรวมทุกส่วนของต้นข้าวโพดหวาน
2. ผลผลิตทางเศรษฐกิจ หมายถึง ผลผลิตของต้นข้าวโพดหวานเฉพาะส่วนที่มนุษย์เก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ เช่น ฝักข้าวโพด ใบข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์ เป็นต้น

พันธุ์ข้าวโพดหวานที่นิยมอื่น
พันธุ์ข้าวโพดหวานที่กำลังนิยมในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์อินทรีย์ พันธุ์ไฮบริกซ์3,53,58,59 พันธุ์จ้มโบ้สวีทหรือของศรแดงเป็นต้น

ข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรี 2
ข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรี 2 เป็นพันธุ์ที่พัฒนามาจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ SSWI 114 กับสายพันธุ์แท้ KSei 14004 พัฒนาโดยศูนย์วิจัยข้าวโพด และข้าวฟ่างแห่งชาติ และได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เ็นต้นมา ปัจจุบันความต้องการเมล็ดพันธุ์อินทรี 2 ปีละหลายตัน
ข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรี 2 มีลักษณะ ดังนี้
– ความสูงของต้นประมาณ 198 ซม.
– น้ำหนักฝักสดรวมเปลือก 2,097 กก./ไร่ (น้ำหนักฝักสดปอกเปลือก 1,422 กก./ไร่)
– ฝักมีสีเหลือง รูปทรงกระบอก เมล็ดเป็นแถว 14-16 แถว เรียงตัวสม่ำเสมอ ฝักยาว 17 ซม. กว้าง 4.5 ซม. เปลือกหุ้มฝักปิดชิด ให้ความนุ่ม และรสหวาน ความหวานประมาณ 15% brix
– เมล็ดไม่ยุบตัวเร็วเมื่อแห้ง คงความเต่งตึงได้นาน 2-3 วัน
– ต้านทานโรคทางใบได้สูง ทั้งโรคราสนิม?โรคใบไหม้แผลใหญ่ โรคใบไหม้แผลเล็ก และโรคไวรัสใบด่างอ้อย

สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการปลูก
1. พื้นที่ปลูก
พื้นที่ปลูก ควรเป็นพื้นที่ราบ มีระดับสม่ำเสมอ และมีความลาดเอียงไม่เกิน 5% ไม่มีน้ำท่วมขัง หากเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง ควรขุดร่องเพื่อระบายน้ำ สำหรับพื้นที่บางส่วนที่เป็นพื้นที่ปลูกพืชหลักในระยะ 1-3 ปีแรก เช่น สวนยางพารา สวนไม้โตเร็ว เป็นต้น สามารถปลูกข้าวโพดแซมได้

2. ลักษณะดิน
ข้าวโพดหวานชอบดินร่วน ดินร่วนเหนียว ดินร่วนปนทราย ที่ระบายน้ำดีเนื้อดินไม่แน่น ความเป็นกรดด่างประมาณ 5.5 – 6.5 ควรเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีอินทรียวัตถุ

3. สภาพภูมิอากาศ
ข้าวโพดหวานชอบแสงแดดจัดตลอดอายุการปลูก อุณหภูมิที่เหมาะสม ประมาณ 24 -35 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000-1,200 มม./ปี ในฤดูฝนช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคมทีีมีอากาศเย็นมักทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากช่อดอกตัวผู้ไม่กระจายละอองเกสรได้น้อย หากปลูกในช่วงฤดูแล้งจะเป็นการดี เนื่องจากช่อดอกตัวผู้จะกระจายเกสรได้ดีกว่า แต่หากการปลูกในฤดูแล้งจำเป็นต้องมีระบบชลประทาน และนำที่เพียงพอจึงจะให้ผลผลิตดี

4. แหล่งน้ำ
ข้าวโพดหวานต้องการน้ำที่เพียงพอเพื่อการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำ เช่น บ่อดิน บ่อบาดาล โดยเฉพาะการปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือการปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าว แต่พื้นที่ปลูกในช่วงฤดูฝนจะสามารถช่วยให้ข้าวโพดหวานเจริญเติบโตโดยอาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำเพิ่ม

การปลูกข้าวโพดหวาน และการดูแลรักษา
การเตรียมดิน
เตรียมดินโดยการไถดะ และตากดินประมาณ 3-5 วัน แล้วจึงไถแปรให้ดินละเอียดอีกครั้ง และตากดินประมาณ 3-5 วัน ก่อนไถแปรควรหว่านปุ๋ยคอก เช่น ปุ๋ยขี้ไก่ อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ เพื่อให้ดินร่วนชุย และเพิ่มธาตุอาหารให้กับข้าวโพดหวาน

วิธีการปลูก
ขุดหลุมปลูกหรือใช้วิธีหยอดเมล็ด โดยให้ระยะห่างระหว่างต้นที่ 25 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร หรือที่ระยะ 50×50 เซนติเมตร โดยหยอดเมล็ดพันธุ์หลุมละ 2-3 เมล็ด พร้อมกลบดิน ทั้งนี้ ให้นำเมล็ดมาแช่น้ำนาน 2-3 ชั่วโมง ก่อนนำไปบ่ม 1-2 วัน แล้วจึงนำเมล็ดหยอดลงหลุม

วิธีการบ่มเมล็ด คือ นำเมล็ดที่แช่น้ำห่อใส่ผ้าแล้วห้อยทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ นำผ้าขนหนูชุบน้ำให้ชุ่มวางรองใส่ก้นถัง ก่อนนำห่อผ้าวางทับ แล้วปิดฝาถังทิ้งไว้ 1-2 วัน

การให้น้ำ
เมื่อหยดเมล็ด และกลบดินเสร็จทั่วแปลง ควรให้น้ำทันที แต่หากปลูกในฤดูฝน อาจรอวันฝนตกหรือปลูกในขณะที่ดินชื้น ในระยะแรกหากเป็นดินร่วนหรือดินร่วนเหนียว ควรให้น้ำข้าวโพดหวานอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง และเมื่อข้าวโพดตั้งต้นได้อาจให้เพียง 4-6 วัน/ครั้ง ในอัตราที่ดินไม่แฉะ และไม่เกิดน้ำท่วมขัง หากเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินทราย ควรให้น้ำข้าวโพดหวานของระยะแรกอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง และเมื่อข้าวโพดตั้งต้นได้อาจให้เพียง 2-3 วัน/ครั้ง ในอัตราที่ดินไม่แฉะ และไม่เกิดน้ำท่วมขังเช่นกัน และหากพบข้าวโพดหวานมีลักษณะใบม้วนในช่วงเวลาแสงแดดจัด แสดงว่าดินมีความชื้นน้อย และข้าวโพดมีอาการขาดน้ำ ควรรีบให้น้ำทันที ส่วนก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 5-7 วันควรหยุดให้น้ำเพื่อให้ข้าวโพดหวานสะสมแป้ง และน้ำตาลในเมล็ดให้มากที่สุดก่อนการเก็บฝัก

การใส่ปุ๋ย
ควรใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง ดังนี้
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ที่ 14 วันหลังปลูก โดยดินร่วนปนทราย ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ดินเหนียวใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อต้นข้าวโพดอายุ 25 – 30 วัน ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตรา 25-30 กิโลกรัม/ไร่ หากสภาพดินทรายให้เพิ่มสูตร 21-0-0 เป็น 80 กิโลกรัม/ไร่ หรือปุ๋ยยูเรียเป็น 44 กิโลกรัม/ไร่
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 เมื่อต้นข้าวโพดอายุ 40-45วัน โดยใส่ปุ๋ยสูตร และอัตราเดียวกันกับครั้งที่ 2

sweet-corn2

ตารางการใส่ปุ๋ยปลูกข้าวโพดหวานตามลักษณะดิน
1. ดินเหนียว
– หลังปลูก 14 วัน สูตร 16-20-0 อัตราปุ๋ย 50 กก./ไร่
– ข้าวโพดอายุ 25-30 วัน สูตร 21-0-0 อัตราปุ๋ย 50 กก./ไร่
– ข้าวโพดอายุ 40 -45 วัน สูตร 21-0-0 อัตราปุ๋ย 50 กก./ไร่
– พร้อมดายหญ้า ใส่ปุ๋ย และใช้ดินกลบ

2.ดินร่วนปนทราย
– หลังปลูก 14 วัน สูตร 15-15-15 อัตราปุ๋ย 25-30 กก./ไร่
– ข้าวโพดอายุ 25-30 วัน สูตร 46-0-0 อัตราปุ๋ย 25-30 กก./ไร่
– ข้าวโพดอายุ 40 -45 วัน สูตร 46-0-0 อัตราปุ๋ย25-30 กก./ไร่

3. ดินทราย
– หลังปลูก 14 วัน 21-0-0 อัตราปุ๋ย 50 กก./ไร่
– ข้าวโพดอายุ 25-30 วัน 21-0-0 อัตราปุ๋ย 80 กก./ไร่ หรือ ยูเรีย อัตราปุ๋ย 44 กก./ไร่
– ข้าวโพดอายุ 40 -45 วัน 21-0-0 อัตราปุ๋ย 80กก./ไร่ หรือ ยูเรีย อัตราปุ๋ย 44 กก./ไร่

ตารางการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
1. อินทรียวัตถุ OM (%)
น้อยกว่า 1 : อัตราปุ๋ยที่ใส่ N 20 กก./ไร่
มีค่า 1-2 : อัตราปุ๋ยที่ใส่ N 10-15 กก./ไร่
มากกว่า 2 : อัตราปุ๋ยที่ใส่ N 5-10 กก./ไร่

2. ฟอสฟอรัส P (mg kg-1)
น้อยกว่า 5 : อัตราปุ๋ยที่ใส่ P2O5 10 กก./ไร่
มีค่า 5-10 : อัตราปุ๋ยที่ใส่ P2O5 5-10 กก./ไร่
มากกว่า 10: อัตราปุ๋ยที่ใส่ P2O5 0-5 กก./ไร่

3. โพแทสเซียม K (mg kg-1)
มีค่าน้อยกว่า 60 : อัตราปุ๋ยที่ใส่ K2O 10 กก./ไร่
มีค่า 60-80 : อัตราปุ๋ยที่ใส่ P2O5 0-5 กก./ไร่
มากกว่า 80 : อัตราปุ๋ยที่ใส่ P2O5 0-5 กก./ไร่

การดูแลข้าวโพดหวานระยะแรก
การอดูแลข้าวโพดหวานในระยะแรกของการเติบโต ได้แก่ การควบคุมวัชพืช การป้องกันกำจัดโรคและแมลง มีวิธีปฏิบัติ ต่อไปนี้
1. วิธีเขตกรรม
ด้วยการควบคุมวัชพืช ใน 2 แนวทาง ได้แก่ เตรียมดิน การดายหญ้า และการพรวนดินพูนโคน
– การควบคุมวัชพืชด้วยการเตรียมดิน เป็นขั้นตอนสำคัญในการปลูกข้าวโพดหวานเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง เพราะดินที่ร่วนซุยจะเหมาะกับการงอกของเมล็ด ทำให้รากหยั่งลึก แทรกตัวในดิน และนำสารอาหาร และแร่ธาตุได้ดี ทำให้ผลผลิตต่อไร่จะสูงตาม
– การควบคุมวัชพืชด้วยการดายหญ้า และการพรวนดินพูนโคน โดยการถากด้วยจอบให้วัชพืชหลุดจากดิน หลังจากนั้น ทำการพูนโคนต้นด้วยจอบจากดินบริเวณร่องแปลงให้สูงขึ้น โดยทั่วไปการดายหญ้า และพูนโคนนิยมทำหลังจากต้นข้าวโพดหวานงอกแล้ว 3-4 สัปดาห์ ซึ่งพร้อมกับการใส่ปุ๋ยครั้งแรกพอดี

2. การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชแบ่งเป็นการใช้สารก่อนปลูก การใช้ก่อนวัชพืชงอก และการใช้หลังวัชพืชงอก
– การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชก่อนการปลูกพืช (pre-planting) มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดวัชพืชในขั้นตอนการเตรียมดินเพื่อช่วยลดวัชพืช โดยฉีดพ่นก่อนเตรียมดิน 3-10 วัน ขึ้นกับชนิดวัชพืช โดยเฉพาะกรณีเร่งปลูก และไม่มีเวลาไถตากดิน แต่ทั้งนี้ ควรใช้สารกำจัดวัชพืชที่ไม่มีฤทธิ์ตกค้าง เช่น พาราควอท (paraquat) หรือไกลโฟเสท (glyphosate)
– การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชก่อนข้าวโพดงอก (pre-mergence) เป็นการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเลือกทำลายวัชพืชสำหรับป้องกันเมล็ดวัชพืชงอก และยับยั้งการเติบโตหรือทำลายต้นกล้าวัชพืชที่งอกแล้วที่ยังอยู่ใต้ดิน โดยการพ่นสารเคมีทันทีหลังการปลูกข้าวโพดหวาน สารเคมีที่ใช้ เช่น พาราควอท ไกลโฟเสท อะลาคลอร์ เป็นต้น
– การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชหลังข้าวโพดงอก (post-emergence) เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชหลังจากข้าวโพดหวาน และวัชพืชงอก ทั้งในระยะต้นกล้าหรือเติบโตแล้ว ซึ่งควรใช้ก่อนข้าวโพดหวานหรือวัชพืชออกดอก แต่การใช้สารกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเมื่อหลังพ่นควรให้มีการปลอดฝนประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ พาราควอท ไกลโฟเสท อะลาคลอร์ เป็นต้น

ชนิดสารเคมีกำจัดวัชพืช วิธีการใช้ และอัตราการใช้ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวาน
1. อะลาคลอร์ (48% อีซี)
– อัตราที่ใช้ 125-150 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ( 1 ไร่ ใช้น้ำ 80 ลิตร)
– ใช้ก่อนข้าวโพดหวาน และวัชพืชงอก
– ฉีดพ่นหลังหยอดเมล็ดข้าวโพดหวานขณะดินยังมีความชื้น

2. พาราควอท (27% เอสแอล)
– อัตราที่ใช้ 75-100 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ( 1 ไร่ ใช้น้ำ 80 ลิตร)
– ใช้กำจัดวัชพืชก่อนการเตรียมดิน
– ฉีดพ่นก่อนเตรียมดิน 3-7 วัน และวัชพืชมีความสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร

3. ไกลโฟเสท (48% เอสแอล)
– อัตราที่ใช้ 120-160 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ( 1 ไร่ ใช้น้ำ 80 ลิตร)
– ใช้กำจัดวัชพืชก่อนการเตรียมดิน
– พ่นก่อนการเตรียมดิน 7-15 วัน

โรค และแมลงที่สาคัญของข้าวโพดหวาน
โรคราน้ำค้างหรือโรคใบลาย
1. สาเหตุเกิดจากเชื้อราเพอโรโนสเคอโรสปอร่า ชอใจ (Peromosclerspora sorghi) ที่สามารถติดในเมล็ดพันธุ์ได้
2. ลักษณะอาการ ในระยะต้นกล้าพบใบมีทางสีขาว เขียวอ่อนหรือเหลือง ที่เห็นได้ชัดจากฐานใบถึงปลายใบ ทำให้ต้นกล้าตาย ระยะข้าวโพดโตแล้วจะทำให้ต้นข้าวโพดแห้งตายก่อนออกดอก มักระบาดในฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิ้นสุดฤดูฝน
3. การป้องกันกำจัด
– หมั่นตรวจแปลงปลูก ตั้งแต่เริ่ม หากพบข้าวโพดแสดงอาการ ให้ถอน และเผาทำลายทันที
– ใช้พันธุ์ต้านทานโรค เช่น พันธุ์ซุปเปอร์สวีท ดีเอ็มอาร์
– ใช้สารเคมีป้องกัน เช่น เอพรอน 35 เอสดี คลุกกับลเมล็ดก่อนปลูก อัตรา 7 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม

แมลงศัตรูข้าวโพดหวาน
แมลงศัตรูสาคัญที่ทาลายข้าวโพดหวานมีหลายชนิด ได้แก่ หนอนเจาะลาต้น ข้าวโพด หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยอ่อนข้าวโพด มอดดิน และหนอนกระทู้หอม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด
ลักษณะ และการทำลาย
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ที่มีสีทองแดง วางไข่เป็นกลุ่มซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลา การทำลายจะเริ่มในระยะหนอนตั้งแต่ข้าวโพดหวานอายุ 20 วัน จนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยจะเข้าทำลายส่วนยอด ช่อดอก และลำต้น ทำให้ต้นเติบโตชะงัก และเหี่ยวตาย

การป้องกันกำจัด
ก. หมั่นสำรวจแปลงปลูก โดยให้หากลุ่มไข่ ตัวหนอน หรือรูเจาะ และยอดที่ถูกทำลายอย่าง
สม่ำเสมอ
ข. เมื่อพบการทำลาย ควรพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ไซเพอร์เมทริน (15% อีซี) อัตรา 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรฟลูมูรอน (25% ดับบลิวพี) อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทั้งนี้ ควรหยุดใช้ยาเหล่านี้ก่อนการเก็บเกี่ยว 5-14 วัน

2. หนอนเจาะสมอฝ้าย
ลักษณะ และการทำลาย
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง วางไข่เป็นฟองเดี่ยว โดยมักวางไข่บริเวณช่อดอกตัวผู้ และเส้นไหม การมำลายจะเกิดจากระยะหนอนที่กัดกินเส้นไหม และเจาะกัดกินปลายฝัก ทำให้คุณภาพฝักเสียหาย

การป้องกันกำจัด
– หากเป็นพื้นปลูกขนาดเล็ก ควรจับ และทำลายหนอนด้วยมือ
– สำรวจหนอนที่ปลายฝักในระยะผสมเกสร หากพบควรพ่นสารป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช เช่น ฟลูเฟนนอกซูรอน (5 % อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเฉพาะบริเวณฝักที่พบการถูกทำลาย และหยุดใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 7 วัน

3. เพลี้ยอ่อนข้าวโพด
ลักษณะ และการทำลาย
เพลี้ยอ่อนเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก มีทั้งชนิดมีปีก และไม่มีปีก ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนยอด ใบอ่อน ช่อดอกตัวผู้ ปลายไหม และฝัก ทำให้ข้าวโพดหวานติดเมล็ดไม่สมบูรณ์ มีลักษณะฝักลีบ รวมถึงการถ่ายมูลของเพลี้ยที่ทำให้เกิดราดำ คุณภาพฝักลดลง มักระบาดรุนแรงในสภาพอากาศแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วง

การป้องกันกำจัด
หากพบการระบาดในระยะมีช่อดอกตัวผู้ ควรพ่นด้วยสาร คาร์บาริล (85% ดับบลิวพี) อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ ไบเฟนทริน (10 % อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเฉพาะบริเวณที่ถูกทำลาย และควรหยุดการใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 4 วัน

4. มอดดิน
ลักษณะ และการทำลาย
ตัวเต็มวัยจะเป็นด้วงงวง สีเทาดำ ชอบกัดกินใบตั้งแต่เริ่มงอกถึงอายุ 14 วัน ทำให้ต้นอ่อนตายหรือชะงักการเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัด
– ปลูกข้าวโพดหวานในแหล่งที่มีน้ำเพียงพอ และหลีกเลี่ยงการปลูกในฤดูฝน ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
– กำจัดวัชพืชที่เป็นที่อาศัยของมอดดินรอบแปลงปลูก
– ให้คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกัน และกำจัดแมลง เช่น อิมิดาโคลพริด (70% ดับบลิวพี) อัตรา 5 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม

5. หนอนกระทู้หอม
ลักษณะและการทำลาย
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีสีน้ำตาลเข้มปนเทา วางไข่เป็นกลุ่มสีขาวใต้ใบ การทำลายจะเกิดในระยะหนอนที่ชอบกัดกินทุกส่วนในระยะต้นอ่อน ทำให้ต้นข้าวโพดหยุดการเติบโต และแห้งตาย

การป้องกันกำจัด
– เก็บกลุ่มไข่ และหนอนทำลาย
– ใช้ชีวินทรีย์ เช่น นิวเคลียร์โอโพลีฮีโดรซีสไวรัส อัตรา 20-30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นช่วงเย็น 1-2 ครั้ง ห่าง 5 วัน และหยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 1 วัน

การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดหวาน และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว
ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
ระยะเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากเก็บเกี่ยวเร็วเกินไปข้าวโพดจะหวานน้อย หากเก็บเกี่ยวช้าเกินไป ข้าวโพดหวานจะมีความหวานลดลงเช่นกัน ระยะการเก็บเกี่ยวาที่เหมาะสม คือ หลังข้าวโพดออกไหม 18-20 วัน หรือ พบว่า ไหมข้าวโพดเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือเมล็ดส่วนปลายของฝักเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หากเมล็ดสีขาวแสดงว่าข้าวโพดอ่อนเกินไป หากเมล็ดสีเหลือง และเมล็ดเริ่มเหี่ยวแสดงว่าแก่จัดเกินไป

วิธีการเก็บเกี่ยว
ให้ใช้มือหักฝักสดบริเวณก้านฝักที่ติดลำต้น ฝักข้าวโพดหวานจะคงความสดได้ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ยืดอายุความสดได้ด้วยการตัดให้มีส่วนลำต้นปล้องด้านบน และด้านล่างติดที่ฝัก ซึ่งยืดอายุความสด และความหวานได้อีก 24 ชั่วโมง รวมเป็น 48 ชั่วโมง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การจัดการหลังเก็บเกี่ยว
การรักษาผลผลิต
หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรเก็บฝักข้าวโพดหวานในที่ร่ม และไม่ให้รับแสง ไม่กองฝักข้าวโพดบนพื้นดิน ควรวางบนพื้นที่ยกสูงด้วยไม้หรือวางกองบนพื้นซีเมนต์ที่ทำความสะอาดแล้ว และไม่กองสูงในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ข้าวโพดร้อน เกิดการช้ำ ความหวานลดลงเปลือกหุ้มฝักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

วิธีการขนส่ง
ควรเตรียมยานพาหนขนส่งก่อนล่วงหน้าการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อขนส่งให้เร็วที่สุด หลังปลิดฝัก และขนส่ง ควรส่งถึงตลาดหรือมือผู้บริโภค ไม่เกิน 24 ชั่วโมง และควรขนส่งเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงผลผลิตรับแสงแดด