การปลูกไม้ประดู่

Last Updated on 5 เมษายน 2017 by puechkaset

ประดู่ เป็นไม้ผลัดใบที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ต้นที่มีอายุมากจะมีมีความสูงประมาณ 20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นมากกว่า 30 เซนติเมตร ขึ้นไป มีชื่อทางการค้าว่า Padauk หรือ Nara ลำต้นมีเปลือกหนาสีน้ำตาลออกเทาถึงเทาเข้ม เปลือกด้านในมีสีน้ำตาล ลักษณะเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง แกนเนื้อในมีสีน้ำตาลแดง มีลักษณะใบปกคลุมหนาตั่งแต่บริเวณปลายกิ่งแขนง ใบร่วงในฤดูแล้งในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ลักษณะผลเป็นฝักกลมใหญ่มีขนปกคลุม ผลแก่มีสีน้ำตาลแกมเทา ตรงกลางมีเปลือกคลุมแข็ง ประกอบด้วยเมล็ดแดงยาว 1-2 เมล็ด ยาว 0.4-0.5 นิ้ว เมล็ดจำนวน 1 กิโลกรัม จะมีจำนวนเมล็ดประมาณ 1200-1800 เมล็ด ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฝักจะแก่ในระยะเวลา 3 เดือน

ประดู่ เป็นไม้ที่ต้องการแสงแต่ไม่มากเท่ากับไม้สัก สามารถขึ้นได้ตามไหล่เขา ที่ราบ มีความสามารถทนต่อความเค็มของดินหรือดินเป็นกรดเป็นด่างได้สูง โตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง

ไม้ประดู่

การเพาะขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ในจำนวนมากๆนิยมใช้การเพาะเมล็ดเป็นหลัก เพราะสะดวกในการจัดหาเมล็ด และสามารถทำได้รวดเร็ว ประหยัดกว่าวิธีอื่นๆเมล็ดพันธุ์สามารถเก็บได้จากต้นแม่ที่เจริญเติบโตเต็ม ที่ ที่สามารถให้เมล็ดมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยการเลือกต้นแม่พันธุ์ที่เจริญเติบโตดี ไม่มีโรค ต้นตรง สูง ไม่มีกิ่งแขนงมาก มีทรงพุ่มที่ปลาย โดยควรมีความสูงของลำต้นที่ตรงไม่มีแขนง 2 ใน 3 ของความสูงทั้งหมด ทั้งนี้ การเก็บเมล็ดควรเก็บในระยะที่ฝักแก่เต็มที่หรือล่นจากต้นแล้ว พร้อมกับเก็บเมล็ดพันธุ์ในถุงที่สามารถระบายอากาศได้ดี เช่น ถุงปุ๋ย ถุงกระสอบ โดยเก็บให้ห่างจากความชื้น ละอองฝนเป็นดีที่สุด

การเตรียมแปลง และการเพาะเมล็ด
การเตรียมแปลงสามารถเตรียมได้ทั้งแบบเพาะกลางแจ้ง และแบบแปลงในโรงเรือน ควรเตรียมแปลงในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 0.70-1.0 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ควรทำการยกร่องสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ผสมในแปลงดินพร้อมไถพรวนก่อนทำการยกร่อง

การเตรียมเมล็ดก่อนเพาะให้สามารถใช้เครื่องตีเมล็ดหรือเครื่องขัดผิวเมล็ดก่อน จะเป็นการดีที่สุด เนื่องจากเปลือกนอกของเมล็ดมีลักษณะแข็ง และเหนียว และนำไปแช่น้ำครึ่งวัน ตากแดดอีกครึ่งวันสลับกันไปมา 3 ครั้ง และแช่น้ำก่อนเพาะเป็นเวลา 1 วัน แต่หากไม่มีเครื่องตีเปลือกหรือขัดผิวเปลือกอาจใช้วิธีการแช่น้ำนาน 1-2 วัน ก่อนการเพาะ

การเพาะเมล็ดให้ใช้วิธีการหว่านเมล็ดลงแปลงที่เตรียมไว้ ในอัตราส่วนเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม/ตารางเมตร หลังจากนั้นทำการคราดหน้าดินไปมาหนึ่งถึงสองครั้งพร้อมนำฟางข้าวหรือขี้เถ้า แกลบกลบเพื่อรักษาความชื้นให้แก่ดิน ซึ่งหลังจากหว่าน เมล็ดใช้เวลางอกประมาณ 7-20 วัน

การดูแล และการย้ายต้นกล้า

ใน ระยะแรกของการเพาะเมล็ดหลังจากหว่านเมล็ดแล้วให้ทำการรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น จนถึงระยะเมล็ดงอก และต้นกล้าตั้งตัวได้ความสูงประมาณ 4-6 เซนติเมตร หรือแตกใบคู่ที่2 อาจทำการให้น้ำเพียงวันละครั้งหรือ 2 ครังเช้าเย็น แต่เป็นวันเว้นวันก็ได้

เมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้ หรือหลังจากแตกใบคู่ที่2 สักประมาณหนึ่งอาทิตย์ ให้ทำการย้ายต้นกล้าจากแปลงเพาะเมล็ดใส่ในถุงเพาะกล้าไม้ขนาด 5×8 นิ้ว โดยใช้ดินผสมขี้เถ้าแกลบบรรจุถุง ซึ่งควรทำการย้ายกล้าไม้ในช่วงเช้าหรือเย็นหรือในวันที่อากาศเย็นไม่มีแดด ร้อน

สำหรับขั้นตอนการย้ายให้ใช้พลั่วเล็กตักคุ้ยดินใต้รากขึ้นมา และทำการย้ายกล้าโดยให้มีดินติดยึดรากมากที่สุด และทำการรดน้ำทันทีหลังการย้ายกล้าเสร็จ

เมื่อทำการย้ายกล้าเสร็จให้ ทำการรดน้ำเพียงเล็กน้อย 2 ครั้ง เช้าเย็นในช่วงอาทิตย์แรก หลังจากนั้นอาจรดน้ำเพียงวันละครั้งหรือวันเว้นวันเมื่อกล้าโตแล้ว สำหรับวัชพืชขณะดูแลในถุงกล้าไม้ให้ทำการกำจัดวัชพืชทุกๆ 2 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ ส่วนการให้ปุ๋ย ในระยะกล้าไม้นี้ให้ทำการให้ปุ๋ยโดยการละลายปุ๋ยในน้ำและรดกล้าไม้ทุกๆ 1 เดือนเมื่ออายุกล้าไม้ประมาณ 6 เดือนความสูงที่ 20 – 40 เซนติเมตร แล้วสามารถย้ายลงหลุมปลูกได้