กะหล่ำปลี พันธุ์ การใช้ประโยชน์ สรรพคุณ และวิธีปลูกกะหล่ำปลี

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

กะหล่ำปลี (Cabbage) จัดเป็นพืชผักสวนครัวที่นิยมรับประทานมากในปัจจุบัน เนื่องจาก มีเนื้อกรอบ และหวาน สามารถประกอบอาหารได้หลายเมนู อาทิ แกงจืดหรือต้มจืดกะหล่ำปลี และผัดกะหล่ำปลี เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นที่นิยมรับประทานสดหรือลวกสุกคู่กับกับข้าวเมนูอื่น อาทิ น้ำพริก ลาบ และไส้กรอก เป็นต้น

อนุกรมวิธาน [1]
• วงศ์ (family): Brassicaceae, Cruciferae

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Brassica oleracea Linn. Var. capitata
• ชื่อสามัญ:
– Cabbage
– White Cabbage (กะหล่ำปลีธรรมดา)
– Red Cabbage (กะหล่ำปลีแดง)
• ชื่อท้องถิ่น :
– กะหล่ำ
– กะหล่ำหัว
– กะหล่ำปลี

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย [1], [2]
กะหล่ำปลีมีถิ่นกำเนิด และเป็นพืชดั้งเดิมในยุโรปตอนใต้แถบประเทศเมดิเตอร์เรเนียนของทวียุโรป โดยชาวกรีก เป็นชนชาติแรกที่ริเริ่มการปลูกกะหล่ำปลีในราว 600 ปี ก่อนคริสตกาล และเป็นผักที่รู้จักกันมาตั้งแต่ประมาณ 2000 ปี ก่อนคริสตกาล และริเริ่มรับประทานกันในยุโรปในราว ปี พ.ศ. 1443

กะหล่ำปลีพันธุ์เริ่มแรกจะเป็นสายพันธุ์ป่าที่มีเฉพาะใบ ไม่มีการห่อหัว ซึ่งพบได้ทั่วไปในยุโรปแถบชายฝั่งทะเลของประเทศอังกฤษ เดนมาร์ก และฝรั่งเศส และเริ่มพัฒนาพันธุ์จนได้พันธุ์แบบห่อหัว และเป็นที่รู้จักกันในพันธุ์แบบห่อหัวในราว ปี พ.ศ. 2079

ในประเทศไทย มีการนำกะหล่ำเข้ามาปลูก และรู้จักกันในราวก่อนปี พ.ศ. 2470 เล็กน้อย โดยเริ่มแรกมีการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน และปลูกมากเฉพาะในฤดูหนาว แต่ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2505 ได้เริ่มปลูกกันในฤดูอื่นๆเพิ่มมากขึ้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
กะหล่ำปลีเป็นพืชล้มลุกอายุมากกว่าหนึ่งปี ลำต้นมีลักษณะกลม สั้น สีขาว เป็นแก่นตรงกลางที่ถูกห่อหุ้มด้วยแผ่นใบ

ระบบรากกะหล่ำปลีจะปะกอบด้วยรากแก้ว และรากฝอย รากแก้วมีลักษณะกลม ปลายรากแหลม แทงลึกลงดินยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ส่วนรากฝอยจะแตกออกด้านข้างรากแก้ว เป็นรากขนาดเล็ก ยาวได้กว่า 1 เมตร

ใบ
ใบกะหล่ำปลีออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับซ้อนกันแน่นรอบลำต้น เรียกว่า หัวกะหล่ำปลี ที่มีลักษณะกลม และแบนเล็กน้อย โดยใบจะห่อหุ้มซ้อนกันแน่นตั้งแต่ปลายยอดของลำต้น โดยส่วนใบที่ปลายยอดจะอยู่ตรงกลางด้านในสุดของหัวกะหล่ำ เป็นส่วนที่มีการแตกใบใหม่ห่อหุ้มซ้อนกันเรื่อยจนกลายเป็นหัวขนาดใหญ่

ใบกะหล่ำปลีส่วนด้านนอกจะมีสีเขียว เพราะเป็นใบแรก และเป็นใบแก่ ส่วนใบด้านในจะค่อยๆเป็นใบอ่อนเรื่อยจนถึงยอดตรงกลาง ซึ่งจะมีสีขาวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวใบแต่ละใบจะมีรูปรีอวบ ผิวใบเกลี้ยง มีลักษณะเป็นคลื่น โดยใบนอกสุดจะมีไขขี้ผึ้งปกคลุม

ดอก
กะหล่ำปลีออกดอกเป็นช่อ เป็นช่อดอกแบบช่อกระจะ แทงช่อดอกออกตรงกลางหัว มีก้านช่อดอกยาว ปลายก้านช่อดอกแตกแขนงออกเป็นช่อดอกย่อย

ตัวดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีรังไข่อยู่เหนือกลีบรองดอก แต่ละดอกมีก้านดอกเล็ก และสั้น ถัดมาเป็นกลีบรองดอก มี 4 อัน ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ สีเหลือง ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ 6 อัน เรียงตัวกันเป็นวง 2 ชั้น ชั้นนอก 2 อัน และชั้นใน 4 อัน ถัดมาตรงกลางเป็นเกสรตัวเมียที่เป็นก้านเกสรเชื่อมต่อกับรังไข่

ผล และเมล็ด
ผลกะหล่ำปลีมีลักษณะเป็นฝักแบบตะเข็บ 2 ข้าง ฝักมีลักษณะเรียวยาว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีดำ และปริแตกเมื่อฝักแก่เต็มที่ ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก เรียงกันเป็นแถวเดียว

เมล็ดมีลักษณะกลม มีขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 1.6 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดมีสีดำหรือน้ำตาลอมดำ ผิวเมล็ดเรียบ

การใช้ประโยชน์กะหล่ำปลี
1. กะหล่ำปลีถูกใช้ประโยชน์หลักเพื่อการประกอบอาหารในหลากหลายเมนู เนื่องจาก ใบ หรือ หัว กะหล่ำปลีมีรสหวาน กรอบ อาทิ แกงจืดหรือต้มจืดกะหล่ำปลี ผัดกะหล่ำปลี รวมถึงนิยมใช้รับประทานสดหรือลวกคู่กับอาหารอย่างอื่น อาทิ น้ำพริก เมนูลาบ และไส้กรอก เป็นต้น
2. กะหล่ำปลีแปรรูปเป็นอาหารจำพวกผักดองเค็มสำหรับรับประทานยามขาดแคลน
3. ใบกะหล่ำปลีที่เหลือทิ้งจากการคัดแยกใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร อาทิ ใช้เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงโค กระบือ เลี้ยงเป็ด ห่าน รวมถึงใช้สำหรับทำปุ๋ยหมักใส่ลงแปลงเพาะปลูก

คุณค่าทางโภชนาการกะหล่ำปลี (กะหล่ำปลีเขียวสด 100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 92.18
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 25
โปรตีน กรัม 1.28
ไขมัน กรัม 0.1
คาร์โบไฮเดรต กรัม 5.8
ใยอาหาร กรัม 2.5
น้ำตาลทั้งหมด กรัม 3.2
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 40
เหล็ก มิลลิกรัม 0.47
แมกนีเซียม มิลลิกรัม 12
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 26
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 170
โซเดียม มิลลิกรัม 18
สังกะสี มิลลิกรัม 0.18
ทองแดง มิลลิกรัม 0.019
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 36.6
ไทอะมีน (B1) มิลลิกรัม 0.061
ไรโบฟลาวิน (B2) มิลลิกรัม 0.04
ไนอะซีน (B3) มิลลิกรัม 0.234
วิตามิน B-6 มิลลิกรัม 0.124
โฟเลต ไมโครกรัม 43
วิตามิน B-12 ไมโครกรัม 0
วิตามิน A, RAE ไมโครกรัม 5
Carotene (beta, alpha) ไมโครกรัม 42,33
วิตามิน E  (alpha-tocopherol) มิลลิกรัม 0.15
วิตามิน D (D2 + D3) ไมโครกรัม 0
วิตามิน K ไมโครกรัม 76
Lipids
กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด กรัม 0.034
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดสายเดี่ยวทั้งหมด กรัม 0.017
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหลายสายทั้งหมด กรัม 0.017
คอลเลสเตอรอล มิลลิกรัม 0
Caffeine มิลลิกรัม 0

[3] ที่มา : U.S. DEPARTMENT OF AGRICULTURE

สรรพคุณกะหล่ำปลี [4]
1. ในกะหล่ำปลีจะมีสารซัลเฟอร์ (sulfur) ทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยระงับประสาท ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดจึงทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
2. ในกะหล่ำปลีมีสารเอสเมธิลเมโธโอนิน สารชนิดนี้ มีคุณสมบัติรักษาโรคในกระเพาะอาหารได้ โดยเป็นสารต้านการอักเสบ และการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่กระตุ้นกระเพาะอาหาร และลำไส้สร้างน้ำคัดหลั่งสำหรับเคลือบกระเพาะอาหาร และลำไส้
3. ในกะหล่ำปลีมีสารหลายชนิดที่สามารถช่วยยับยั้งการเติบโตของมะเร็งลำไส้ได้ รับประทานได้ทั้งในแบบสุก และแบบสดก็ได้เช่นกัน โดยให้รับประทานเป็นประจำอย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์
4. ใบกะหล่ำปลีนำมาประคบเต้านม ช่วยบรรเทาอาการปวดคัดเต้านมได้
5. ช่วยลดความอ้วน โดยในกะหล่ำปลีมีสารทาร์ทาริกที่มีคุณสมบัติยับยั้งไม่ให้น้ำตาลในอาหารเปลี่ยนเป็นไขมัน และคอเลสเตอรอลที่สะสมในร่างกาย
6. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจาก ในกะหล่ำปลีมีวิตามิน C สูง ซึ่งวิตามิน C นี้ ยังมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด ช่วยให้เหงือก และฟันแข็งแรง
7. ช่วยบำรุงกระดูก และฟัน โดยเฉพาะในเด็ก และคนชรา เนื่องจากประกอบด้วยแคลเซียม และฟอสฟอรัสสูง
8. ช่วยการย่อยอาหาร และขับสารพิษออกจากร่างกาย เนื่องจาก ในกะหล่ำมีปริมาณไฟเบอร์สูงที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับสารพิษ และกระตุ้นการขับถ่ายได้

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1. มีการศึกษาคุณสมบัติของสาร 3 ชนิด ในกะหล่ำปลี ได้แก่ Indole-3-carbinole (I3C), Sulforaphane และ Indoles พบมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ [7] และยังค้นพบคุณของสารอีกชนิดในกะหล่ำปลี คือ I3C ซึ่งพบว่ามีคุณสมบัติลดการเกิดมะเร็งเต้านมในสตรีได้ หากได้รับสารชนิดนี้ ขนาด 6-7 มิลลิกรัม/กิโลกรัมร่างกาย/วัน

พันธุ์กะหล่ำปลีแบ่งตามลักษณะหัว
1. กะหล่ำปลีธรรมดา (Common Cabage)
เป็นกลุ่มกะหล่ำปลีใบสีเขียวที่นิยมปลูก และรับประทานมากที่สุด โดยเฉพาะในแถบประเทศเอเชีย หัวมีลักษณะหลายแบบ ทั้งหัวกลม หัวกลมแบน และหัวแหลม ลักษณะการห่อมีทั้งห่อแน่น และห่อหลวม ส่วนใบมีทั้งลักษณะใบหนา ใบบาง ใบมีทั้งสีเขียวเข้ม สีเขียว และสีเขียวอ่อน จัดเป็นพันธุ์ที่ทนร้อนได้ดี มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 50-60 วัน

2. กะหล่ำปลีแดง (Red Cabage)
เป็นกะหล่ำปลีที่มีสีแดง หรือ แดงทับทิม นิยมปลูก และรับประทานมากในแถบประเทศตะวันตก มักใช้เป็นผักตกแต่งอาหารให้สวยงาม หัวมีลักษณะหัวค่อนข้างกลม มีอายุเก็บเกี่ยวนานกว่าพันธุ์สีเขียว ประมาณที่ 90 วัน เป็นพันธุ์ที่ชอบอากาศเย็น จึงปลูกได้ดีในแถบยุโรป

3. กะหล่ำปลีใบย่น (Savoy Cabbage)
เป็นกะหล่ำปลีที่มีลักษณะผิวใบหยิกย่น หรือ แผ่นใบเป็นคลื่นมาก เป็นพันธุ์ต้องการอากาศหนาวเย็นจึงนิยมปลูกมากในแถบประเทศตะวันตก

พันธุ์กะหล่ำปลีที่นิยมปลูกในไทย
1. พันธุ์พานา986 ศรแดง
เมล็ดพันธุ์กะหล่ำปลีลูกผสม ขายเมล็ดพันธุ์ อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-90 วัน

2. พันธุ์นำเข้าของเจียไต๋
เป็นพันธุ์เบา บรรจุเป็นแบบซอง ขนาดบรรจุ 2 กรัม จำนวน 440 เมล็ด

3. กะหล่ำปลีอเล็กซ์ เจียไต๋
เป็นพันธุ์เบาลูกผสม น้ำหนักผล 1.5-1.8 กก.


4. กะหล่ำปลีเบอร์1 ตราช้าง
เป็นพันธุ์เบา ลำต้นสูง 20-30 เซนติเมตร อายุเกี่ยว 60-90 วัน หลังจากการย้ายกล้า

5. กะหล่ำปลี T 530 และ T 523 ของ takii seed
เป็นพันธุ์เบาลูกผสม ลำต้นสูงประมาณ 40-55 เซนติเมตร ขนาดหัวประมาณ 10-20 เซนติเมตร น้ำหนักต่อหัว 0.5-1.20 กิโลกรัม อายุการเก็บเกี่ยวในช่วง 60-90 วัน

พันธุ์ที่กล่าวข้างต้น เป็นพันธุ์หัวรูปทรงกลม และแบน ซึ่งนิยมปลูกมากที่สุด แต่ในบางพื้นที่ยังปลูกพันธุ์ที่มีลักษณะหัวแบบอื่นๆ เช่น กะหล่ำปลีหัวรูปหัวใจ และกะหล่ำปลีดาว เป็นต้น

วิธี และขั้นตอนการปลูกกะหล่ำปลี
กะหล่ำปลีสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด เติบโตได้ดีในดินร่วน หรือ ดินร่วนปนทราย ที่มีสภาพดินโปร่ง ความเป็นกรด-ด่างของดิน (pH) อยู่ในช่วง 6 – 6.5 แต่ไม่ชอบดินแน่น และมีสภาพชื้นแฉะ ชอบอุณหภูมิในช่วง 22-25 องศาเซลเซียส และได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน จึงมักให้ผลผลิตสูงในฤดูหนาว

1. การเตรียมดิน หรือ เตรียมแปลง
กะหล่ำปลีเติบโตได้ดีในดินที่มีความร่วนซุย หรือ ดินโปร่ง เพราะรากต้องการแทรกตามช่องว่างดินสำหรับหาน้ำ และอาหาร ดังนั้น การเตรียมดินก่อนปลูกจึงมีส่วนสำคัญสำหรับให้กะหล่ำปลีเติบโตได้ดี

การเตรียมดินทำได้โดยการไถพรวนแปลงปลูก 1-2 รอบ ด้วยการไถดะลงลึก 1 รอบ พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินประมาณ 5-7 วัน ก่อนหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยรองพื้นอื่นๆ แล้วไถยกแปลงหรือขุดยกแปลงอีก 1 รอบ พร้อมปลูก

การยกแปลงก่อนปลูก อาจใช้จอบขุด และตกแต่งแปลง หรือ ใช้รถไถต่อพ่วงอุปกรณ์ยกแปลง ระยะความสูงของแปลง 15-20 เซนติเมตร กว้าง 1-1.5 เมตร ส่วนความยาวตามที่ต้องการ โดยเว้นช่องง่าระหว่างแปลงประมาณ 30-50 เซนติเมตร หรือตามความสะดวกที่สามารถเดินหรือทำงานระหว่างแปลงได้

2. วิธีปลูกกะหล่ำปลีด้วยการย้ายกล้า
2.1 การเพาะกล้า
เมล็ดกะหล่ำปลี ขนาด 10 กรัม จะมีเมล็ดประมาณ 2,800-3,300 เมล็ด มีอัตราการงอกประมาณ 85% โดยการเพาะกล้าแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
– การเพาะกล้าบนแปลงเพาะ ทำได้โดยขุดเตรียมแปลง โดยขุดยกแปลงให้สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนความยาวตามที่ต้องการ จากนั้น โรยเมล็ดลงแปลง ด้วยการโรยเมล็ดห่างๆให้ทั่วแปลง ก่อนจะใช้คราด คราดเกลี่ยดินกลบ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
– การเพาะกล้าบนกะบะเพาะ โดยนำวัสดุเพาะใส่หลุ่มกระบะเพาะให้เกือบเต็ม หรือประมาณ 3 ส่วน 4 ส่วน จากนั้น หยอดเมล็ดลงหลุมกะบะ 2-3 เมล็ด ก่อนนำวัสดุโรยปิดหน้าหลุมกะบะให้เต็ม แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

หลังเพาะกล้า ให้ดูแลต้นกล้าด้วยการรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง และหากพบแมลงเข้าทำลาย ให้ฉีดพ่นด้วยยาอะลามอน หรือ เซฟวิน เมื่อกล้าอายุได้ 25-30 วัน หรือมีใบจริง 3-4 ใบ ค่อยย้ายปลูกลงแปลง

2.2 การย้ายกล้าลงปลูก
เมื่อเตรียมแปลงปลูกตามขนาดที่ต้องการในขั้นตอนการเตรียมดิน และเตรียมแปลงแล้ว ให้นำกล้าย้ายลงปลูกในแปลง

หากเป็นกล้าจากกะบะเพาะจะง่ายต่อการขนส่ง แต่หากเป็นกล้าจากแปลงเพาะต้องรดน้ำให้ชุ่มก่อน แล้วจึงถอนกล้าขึ้น โดยทยอยถอนให้เพียงพอต่อการปลูกในแต่ละแปลง และแต่ละวันเท่านั้น โดยกล้าที่ถอนให้นำใส่ในถัง และเติมน้ำให้ท่วมราก

การปลูกกะหล่ำปลีนิยมปลูกเป็นแถว และหลุม/ต้น โดยพันธุ์เบาที่มีอายุเก็บเกี่ยว 50-60 วัน ที่ระยะ 30 x 60 เซนติเมตร คือ แถวห่าง 40-60 เซนติเมตร หลุม/ต้นห่าง 30 เซนติเมตร ส่วนพันธุ์หนักจะมีระยะหลุม/ต้นห่างมากขึ้นที่ 40-50 เซนติเมตร ทั้งนี้ การย้ายกล้าปลูกจะนิยมทำกันในช่วงเย็น เพราะอากาศจะไม่ร้อนมาก ทำให้กล้าปลูกติดได้ง่าย

3. วิธีปลูกกะหล่ำปลีด้วยการหยอดเมล็ด
วิธีปลูกด้วยการหยอดเมล็ดนั้น จะใช้เชือกขึงเป็นเส้นยาวของแถว ระยะระหว่างแถว เช่นเดียวกับระยะแบบปลูกด้วยการย้ายกล้า จากนั้น ลากเป็นร่องตื้นๆตามแนวเส้นเชือก ก่อนหยอดเมล็ดลงร่อง โดยมีระยะจุดหยอดเมล็ด หรือ ระยะต้นในระยะเดียวกับวิธีปลูกแบบย้ายกล้าเช่นกัน จากนั้น เขี่ยดินกลบร่อง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

4. การดูแลรักษา
วิธีปลูกกะหล่ำปลี ไม่ว่าจะเป็นวิธีการย้ายกล้าปลูก หรือ การหยอดเมล็ด หลังจากปลูกแล้วจะมีขั้นตอนการดูแลรักษา ดังนี้
4.1 การให้น้ำ
– วิธีย้ายกล้าปลูก : ไม่ว่าจะปลูกหน้าฝนหรือหน้าแล้ง เมื่อย้ายกล้าลงหลุมแล้วต้องให้น้ำทันที หลังจากนั้น ให้น้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะหน้าแล้งควรให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
– วิธีหยอดเมล็ด : หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว หากหน้าแล้งดินแห้งต้องให้น้ำทันที อาจให้ด้วยบัวรด หรือให้ด้วยระบบน้ำหยด หากปลูกหน้าฝน ดินชื้น หลังปลูกไม่ต้องรดน้ำก็ได้ เมื่อเมล็ดงอกต้องให้น้ำเป็นระยะ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือพิจารณาว่าดินแห้งหรือไม่ ฝนตกหรือไม่
4.2 การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยนั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเตรียมแปลงหรือเตรียมหลุมจะใส่สูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนครั้งที่ 2 จะเป็นหลังย้ายกล้าปลูก หรือ หลังเมล็ดงอก (แบบหยอดหลุม) โดยการใส่ครั้งที่ 2 มีรายละเอียด ดังนี้
– วิธีย้ายกล้าปลูก : เมื่อย้ายกล้าปลูกแล้วประมาณ 7-10 วัน ให้ปุ๋ยสูตร 12-12-24 อัตรา 2-3 หยิบมือรอบโคนต้น
– วิธีหยอดเมล็ด : เมื่อเมล็ดงอกได้ประมาณ 25-30 วัน ใส่ในสูตร และอัตราเดียวกับวิธีย้ายกล้าปลูก
– การให้ธาตุอาหารรองอย่างอื่น เช่น แคลเซียม โบรอน และกำมะถัน สามารถให้ร่วมกับการใส่ปุ๋ยในครั้งที่ 2 หรือ การละลายน้ำแล้วฉีดพ่นรอบโคนต้น

4.3 การกำจัดวัชพืช
– วิธีย้ายกล้าปลูก : หลังย้ายกล้าปลูกในทุกๆ 15-20 วัน ให้มั่นกำจัดวัชพืชรอบข้างต้นเป็นประจำ โดยการใช้มือถอนต้นออก
– วิธีหยอดเมล็ด : กำจัดด้วยการถอนต้นออกในระยะ 15-20 วัน เช่นกัน

5. การเก็บเกี่ยว
กะหล่ำปลีที่นิยมปลูกในปัจจุบันจะเป็นพันธุ์เบาที่มีอายุการเก็บเกี่ยวในช่วง 50-60 วัน ส่วนพันธุ์ที่เป็นพันธุ์หนัก ซึ่งพบปลูกได้บ้างจะมีอายุการเก็บเกี่ยวที่ประมาณ 120 วัน

เมื่อถึงเวลาเก็บหรือได้อายุตามวันของแต่ละพันธุ์ให้ทำการเก็บเกี่ยวหัวทันที เพราะหากเลยอายุหลายวันจะทำให้หัวกะหล่ำปลีหลวม จากนั้น ใบกะหล่ำปลีจะค่อยๆคลี่ออกจนรูปทรงหัวแหลม และมีการแทงช่อดอกออกมา

ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวนิยมเก็บหัวกะหล่ำปลีในช่วงเช้ามืด แล้วรีบนำส่งตลาด เพราะตลาดผักจะมีการซื้อขายมากในช่วงเช้า อีกทั้ง ช่วงเช้ามืดอากาศจะเย็น หัวกะหล่ำจะสดอยู่ได้นาน ส่วนช่วงกลางวัน หรือ ช่วงเย็นไม่นิยมเก็บหัวกัน เพราะอากาศร้อน หัวกะหล่ำจะคายน้ำ ทำให้เหี่ยวได้ง่าย นอกจากนั้น ยังต้องคายทิ้งไว้นานกว่าจะถึงช่วงตลาดเช้าเปิด

การเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวหัวกะหล่ำด้วยการใช้มีดคมตัดบริเวณโคนต้นเหนือดิน จากนั้น ปลิดใบด้านนอกที่ปลายใบไม่หุ้มห่อออก ก่อนล้างน้ำทำความสะอาด แล้วคัดแยกขนาด และบรรจุใส่ถุง โดยกะหล่ำปลี 1 หัว จะมีน้ำหนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม

เอกสารอ้างอิง
[1] เมฆ จันทร์ประยูร. 2541. ผักสวนครัว. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์ไทยทรรศ. 144 น.
[2] เมืองทอง ทวนทวี และสุรีรัตน์ ปัญญาโตนะ. 2525. สวนผัก. กลุ่มหนังสือเกษตร.
[3] U.S. DEPARTMENT OF AGRICULTURE. Cabbage, green, raw. เข้าถึงได้ที่ : https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/787780/nutrients/.
[4] ธนาวรรณ สุขเกษฒ.2556. การสกัดเพคตินจากกะหล่ำปลี (Brassica oleracea L.var. capitata L.)
ภูทับเบิก ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์.
[5] Brooks, J. D., Paton, V. G., & Vidanes, G. (2001). Potent induction of phase 2 enzymes in human prostate cells by
sulforaphane. Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention (1), 949–954.

ขอบคุณภาพจาก
– บริษัท 108เทคโนฟาร์ม จำกัด
– cpbrandsite.com
– umkaset.com
– chiangmainews.co.th
– choktaweetour.com