กล้วยเต่า/ก้นครก และสรรพคุณ

Last Updated on 24 สิงหาคม 2016 by puechkaset

กล้วยเต่า เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก พบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสาน นิยมนำรากมาต้มดื่มเป็นยารักษาโรคหลายชนิด อาทิ ยาลดไข้ แก้หวัด แก้วัณโรค เป็นต้น นอกจากนั้น ผลสุกยังนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyathia debilis (Pierre) Finet & Gagnep.
วงศ์ : Annonaceae
สกุล : Polyalthia
ชื่อท้องถิ่น :
– กล้วยเต่า
– กล้วยตับเต่า
– ไข่เต่า
– ตับเต่าน้อย
– ก้นครก
– ลกครก

กล้วย เต่าเป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระทั่วไปในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั้งในประเทศพม่า ไทย ลาว จีนตอนใต้ เป็นต้น ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค พบมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน

คำว่า กล้วยเต่า น่าจะมาจากลักษณะผลสุกที่มีสีเหลืองทรงกระบอกคล้ายกล้วยสุกหรือผลสุกที่มีลักษณะคล้ายไข่เต่า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ราก และลำต้น
กล้วยเต่าเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุหลายปี สูงประมาณ 30-60 ซม. ลำต้นมีขนาดเล็ก มักพบเติบโตเป็นกอ มี 1-3 ลำต้น ใกล้กันจากหลายเมล็ดที่ร่วงในผลเดียวกัน ลำต้น และกิ่งสีน้ำตาล แตกกิ่งตั้งแต่ระดับเหนือดิน กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม แต่ขนจะร่วงเมื่อกิ่งอายุมากขึ้น

กล้วยเต่า

ราก เป็นระบบรากแก้ว และรากแขนง มีแขนงน้อย แต่ยาว ความลึกรากประมาณ 30-50 ซม. รากมีสีดำ เปลือกรากบาง แก่นรากมีสีเหลืองอมน้ำตาล

2. ใบ
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ใบมีรูปไข่ กว้าง 2-5 ซม. ยาว 5-12 ซม. ปลายใบมน และส่วนปลายสุดแหลม แผ่นใบแคบ ผิวใบด้านใบเกลี้ยงเป็นมัน มีสีเขียวเข้ม ส่วนใบด้านล่างมีสีจางกว่า และมีขน ใบมีเส้นแขนงข้างละ 7-10 เส้น ส่วนก้านใบมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3 ซม. มีขนสีเหลืองอ่อน หนานุ่ม ในช่วงแล้งใบจะร่วงหล่นมาก แต่ยังเหลือใบเฉพาะบริเวณส่วนยอดกิ่ง และจะแตกใบใหม่ในช่วงต้นฤดูฝน ยอดอ่อนหรือใบอ่อนที่แตกใหม่จะมีสีน้ำตาลแดง และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และเขียวเข้มตามอายุใบ

3. ดอก
ดอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามง่ามใบ ก้านดอกสั้น มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 3 กลีบ ทรงรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มปกคลุม ส่วนกลีบดอกออกเรียงสลับกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกมีรูปไข่ กว้างประมาณ 4 มิิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายกลีบมน กลีบด้านนอกมีขนสีเหลืองอ่อนปกคลุม ภายในประกอบด้วยเกสรตัวผู้จำนวนมาก อัดแน่นในตอนกลางดอก ถัดมาเป็นเกสรตัวเมีย 4 อัน ดอกออกช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

4. ผล
ผล ที่เจริญจากดอกจะเป็นผลเดี่ยวหรือผลคู่ รูปทรงกระบอก มีส่วนเว้าส่วนอ้วนต่างกัน บางผลเล็กตรงกลาง ส่วนขั้วผล และท้ายผลอ้วน บางผลอาจอ้วนตรงกลาง และเล็กมนที่ขั้ว และท้ายผล โดยทั่วไปขนาดผลกว้าง 1-1.3 ซม. ยาว 1-2 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่สีเขียวเข้ม ผลสุกมีสีเหลือง มีขนอ่อนปกคลุม ขนของผลอ่อนมีสีขาวเหลือง ขนของผลแก่มีสีเหลืองเข้มขึ้น ก้านผลยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร เปลือกหุ้มผล และเนื้อผลบาง ภายในมีเมล็ดสีดำ 1-2 เมล็ด เนื้อผลใช้รับประทาน มีรสหวาน ระยะผลแก่ และสุกจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม

ผลกล้วยเต่า

สารสำคัญที่พบ
จากการรวบรวมเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง พบสารสำคัญที่มีราก ได้แก่
• 3-o-acetyl aleuritolic acid
• suberosol
• stigmasterol
• β-sitosterol
• 1-methyl-4-azafluoren-9-one (onychine)
• 7-methoxy-1-methyl-4-azafluoren-9-one
• triterpenes

ที่มา : เกศแก้ว บุตรวงศ์, 2545.(1), ปทุมพร มานาม, 2549.(2)

สรรพคุณกล้วยเต่า
• ราก และลำต้น นำมาต้มดื่ม
– ช่วยลดไข้
– รักษาวัณโรค
– แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย ท้องร่วง
– บำรุงน้ำนม
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ลดจำนวนพยาธิ

• ราก และลำต้น นำมาบด
– ใช้ทาแผล รักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง

• ผล นำมารับประทาน
– มีสารที่ให้พลังงาน ช่วยบำรุงร่างกาย
– ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม
– ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดการหยาบกร้านของผิว

เพิ่มเติมจาก : ชวลิต นิยมธรรม, 2538.(3), วงศ์สถิตย์ และนพมาศ, 2540.(4)

การขยายพันธุ์
กล้วยเต่าในธรรมชาติจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แต่หากนำมาปลูกสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งจากเมล็ด และการปักชำเหง้า โดยจะใช้เมล็ดสุกที่มีสีเหลืองมาปอกเปลือกออก และตากให้แห้งนาน 5-7 วัน ก่อนลงเพาะในถุงเพาะชำ

ส่วนการปักชำเหง้าจะหาได้จากต้นพ่อแม่พันธุ์จากป่า โดยขุดเหง้าทาแยกปักชำ ซึ่งจะได้ต้นใหม่ที่รวดเร็วขึ้น

การ หาต้นพ่อแม่พันธุ์จะหาได้จากป่าเท่านั้น โดยจะหาได้ง่ายในป่าเต็งรัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทราย ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือพุ่มไม้เล็ก ซึ่งจะใช้วิธีการสังเกตที่ลักษณะไม้พุ่มขนาดเล็ก และลักษณะของใบเป็นหลัก แต่ถ้าโชคดีหากเจอต้นที่มีดอกหรือผลแล้วจะสังเกตได้ง่ายที่สุด

เอกสารอ้างอิง
1. เกศแก้ว บุตรวงศ์, 2545. การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเฮกเซน และเมทานอลจากรากกล้วยเต่า.
2. ปทุมพร มานาม. (2549). การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดคลอโรฟอร์มและเอทิลแอซิเตตจากรากกล้วยเต่า (Polyalthia debilis (Pierre) FINET & GAGNEP.).
3. ชวลิต นิยมธรรม, 2538. อนุกรมวิธานพืช ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.
4. วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล และนพมาศ สุนทรเจริญนนท์, 2540. สมุนไพรพื้นบ้าน จังหวัดอุบลราชธานี. วารสารสมุนไพร.