กระท้อน สรรพคุณ และการปลูกกระท้อน

Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset

กระท้อน (Santol) เป็นจัดเป็นไม้ผลรับประทานที่รับประทานได้ทั้งเปลือกผลที่ให้รสเปรี้ยวอมหวาน และเนื้อผลที่ให้รสหวาน ซึ่งนิยมทั้งรับประทานผลสด ทำอาหาร นำมาแปรรูปเป็นผลไม้ดองหรือของหวาน

• วงศ์ : Meliaceae
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศประเทศไทยในแถบภาคใต้ ประเทศมาเลเชีย ประเทศอินโดนีเชีย และฟิลิปปินส์
• จำนวนโครโมโซม :
– พันธุ์หวานของไทย 4n = 44 ให้รสหวาน
– พันธุ์ดั้งเดิมในฟิลิปปินส์ 2n = 22 ให้รสเปรี้ยว
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sandoricum koetjape (Burm.f.) Merr.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Sandoricum indicum Cav.
• ชื่อสามัญ :
– Santol
– Malasantol
– Kacapi
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– กระท้อน
ภาคอีสาน
– มะต้อง
ภาคเหนือ
– มะต้อง
– มะตึ๋น
ภาคใต้
– เตียนสะท้อน
– ล่อน
– สะตียา
– สะตู
– สะโต

ลูกกระท้อน

การแพร่กระจาย
กระท้อน พันธุ์ดั้งเดิมพบแพร่กระจายมากในแถบภาคใต้ ต่อมาค่อยพบแพร่กระจายในทุกภาคของประเทศ เนื่องจากเป็นไม้ที่เติบโตได้ในทุกสภาพดิน และสามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
กระท้อนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ ลำต้นสูงประมาณ 15 – 30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งบริเวณเลยกลางต้นขึ้นไป กิ่งหลัก และกิ่งแขนงปานกลาง และมีใบใหญ่ ทำให้มีลักษณะเป็นทรงพุ่มใหญ่ ลำต้นกระท้อนมีรูปทรงไม่แน่นอน ผิวลำต้นเรียบ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล ส่วนเนื้อไม้เมื่อต้นอายุน้อยจะเปราะหักง่าย เมื่ออายุมากจะมีลักษณะแข็งปานกลาง

ใบ
ใบกระท้อน เป็นใบประกอบแบบใบเดี่ยว คือ ใบสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณปลายกิ่งของกิ่งแขนง ใบมีก้านใบหลัก ยาว 10-20 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมี 3 ใบ ทางด้านซ้าย-ขวา อย่างละใบที่มีขนาดเท่ากัน และตรงกลาง 1 ใบ ซึ่งมีขนาดใหญ่สุด ใบมีลักษณะรูปไข่ สีเขียวเข้ม ปลายใบมน กว้าง 6-15 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว เนื้อใบหยาบ สากมือ และมีขนปกคลุม คล้ายขนกำมะหยี่ ส่วนขอบใบหยักเป็นลูกคลื่นขึ้นลง ใบแก่ที่มีอายุมากจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีส้มจนร่วงลงดิน

ใบกระท้อน

ดอก
ดอกกระท้อนแทงออกเป็นช่อบนปลายกิ่งบริเวณซอกใบ แต่ละกิ่งมีช่อดอก 4-6 ช่อ ช่อดอกยาว 5-15 เซนติเมตร ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกแตกออกมา 10-20 ดอก หรือมากกว่า ดอกตูมจะมีสีเขียว และเมื่อบานจะมีสีเหลืองอ่อน ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมเหลือง และถัดมาด้านบนเป็นกลีบดอกสีเหลืองอ่อน 5 กลีบ ด้านในมีเกสรตัวผู้ 10 อัน และเกสรตัวเมียเพียง 1 อัน

ดอกกระท้อนจะแทงช่อดอกออกพร้อมกันทุกต้น มีช่วงการแทงช่อดอกประมาณ 7-10 วัน และหลังจากนั้นอีก 40-50 วัน ดอกจะบาน ซึ่งจะบานในช่วงเช้าตรู่ และจะติดผลจน หลังจาก 6-7 เดือน หลังจากแทงดอก ผลจะพัฒนาจนพร้อมเก็บ

ผล และเมล็ด
ผลกระท้อนในทุกสายพันธุ์จะมีลักษณะเหมือนกัน คือ ผลอ่อนมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเปลือกเกลี้ยง และมีขนปกคลุมทั่วผล หากกรีดที่ผลจะมียางสีขาวไหลออกมา และเมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน ผิวเปลือกผลหยาบก้าน และมีรอย่นตามแนวยาวของผล ซึ่งจะมองเห็นรอยย่นได้ชัดมากบริเวณขั้วผล โดยเปลือกผลจะมีความหนาบางแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ แต่ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก ซึ่งทั่วไปจะมีเปลือกหนาประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร

กระท้อน

ถัดมาจากเปลือกจะเป็นเนื้อผลที่มีลักษณะเป็นพู 3-5 พู แต่ละพูมี 1 เมล็ดด้านใน โดยเนื้อพูจะมีสีขาว ที่ประกอบด้วยใยคล้ายปุยนุ่น และฉ่ำไปด้วยน้ำ เมื่อชิมเนื้อผล ผลที่ยังไม่สุกมากจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน เมื่อสุกมากจะมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ซึ่งความหวานจะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ทั้งนี้ กระท้อนจะเริ่มติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และผลสุกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

พันธุ์กระท้อนแบ่งตามรส
1. พันธุ์เปรี้ยว
กระท้อนพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่พบได้ในทุกภาค ลำต้นมีลักษณะสูงใหญ่ มีทรงพุ่มหนา ส่วนผลมีขนาดเล็ก เปลือกหนา เนื้อบาง มีเนื้อผลน้อย เนื้อให้รสเปรี้ยวมากกว่ารสหวาน ส่วนเปลือกมีรสฝาดมากกว่ารสเปรี้ยว

2. พันธุ์หวาน
กระท้อนพันธุ์นี้ มาจากพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งเกษตรกรจะคัดเลือก และขยายพันธุ์เพื่อปลูกโดยเฉพาะ เช่น ต้นที่ให้ผลใหญ่ น้ำหนักผล 400-800 กรัม/ผล ขั้วผลสั้น ก้นผลเรียบ เปลือกบาง เนื้อหนา เนื้อมีรสหวานมาก เมล็ดมีลักษณะแบน และเปลือกผลให้รสเปรี้ยวมากกว่ารสฝาด ซึ่งต่อมาถูกขยายพันธุ์ และแพร่กระจายปลูกในทุกพื้นที่ของไทย เช่น พันธุ์ปุยฝ้าย และพันธุ์อีล่า ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดมาจากภาคใต้ และมีลักษณะเด่นดังที่กล่าวมาแล้ว

พันธุ์กระท้อนที่มีการตั้งชื่อไว้ ได้แก่ ปุยฝ้าย, อีล่า, อีจาน, อีเปียก, นิ่มนวล, เขียวหวาน, ทับทิม, ทับทิมทอง, ทับทิมหม้อ, ทับทิมสยาม, ทองหยิบ, ทองเปียก, บัวขาว, บัวลอย, เทพรส, อีเมฆ, ขันทอง, ดีโอ, คานหาม, หมาตื่น, มะลิเลื้อย, หลังครัว, ไกรทอง, ปากท่อ, อีแป้น และคุณวินัย เป็นต้น

ประโยชน์กระท้อน
1. ผลกระท้อนสุกนำมารับประทานเป็นผลไม้ รับประทานได้ทั้งเปลือกผลที่ให้รสเปรี้ยวอมหวานใช้จิ้มน้ำปลาหวานยิ่งทำให้เพิ่มความอร่อยขึ้น ส่วนเนื้อผลก็เป็นที่นิยมรับประทานมาก เพราะเนื้อนุ่ม ฉ่ำไปด้วยน้ำ ให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย
2. ผลห่าหรือผลสุกนำมาประกอบอาหาร ได้แก่ แกงฮังเล หรือ ตำกระท้อน ส่วนทำของหวาน ได้แก่ กระท้อนลอยแก้ว แยมกระท้อน และกระท้อนทรงเครื่อง เป็นต้น
3. ผลกระท้อน นิยมนำมาทำกระท้อนดอง และกระท้อนแช่อิ่ม เป็นต้น
4. เมล็ดกระท้อนนำมาต้มน้ำ ใช้สำหรับฉีดพ่นป้องกันแมลงศัตรูพืชในแปลงผัก
5. เปลือกลำต้น ถากนำมาต้มย้อมผ้า ให้เฉดสีน้ำตาลอมเหลือง
6. ต้นกระท้อนตามป่าหรือปลูกตามบ้านยังมีประโยชน์ต่อสัตว์ป่า เช่น เป็นอาหารของนกหรือค้างคาว เป็นต้น

สรรพคุณกระท้อน
ผล
– กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
– ให้พลังงาน ช่วยบำรุงร่างกาย
– เปลือกผลต้านเชื้อจุลินทรีย์ ต้านการอักเสบแผลในปาก
– กระตุ้นการหลั่งน้ำลาย ช่วยเจริญอาหาร และช่วยย่อยอาหาร
– มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในเปลือกผลที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดมะเร็ง ต้านการเสื่อมของเซลล์

ใบ
– ใบสดนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยในการขับเหงื่อ
– น้ำต้ม ช่วยในการลดไข้ ลดอาการตัวสั่น
– นำใบมาต้มน้ำอาบ ช่วยแก้โรคผิวหนัง

ราก
– นำรากมาต้มน้ำดื่ม ช่วยในการดับพิษร้อน
– น้ำต้มช่วยในการขับลม
– ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

เปลือกลำต้น และแก่น
– เปลือกลำต้นนำมาต้มดื่ม แก้อาการท้องเสีย
– น้ำต้ม ช่วยแก้ปัสสาวะเล็ด
– น้ำต้มช่วยรักษาอาการคันตามผิวหนัง ด้วยการนำมาอาบ

ที่มา : 1)

การปลูกกระท้อน
การปลูกกระท้อน ปัจจุบันนิยมปลูกด้วยต้นพันธุ์จากการตอน หรือ การเสียบยอด เพราะจะได้ผลที่มีลักษณะ และมีรสตามต้นเดิม และต้นไม่สูงมาก ต้นแตกกิ่งที่ระดับต่ำ ที่สำคัญจะให้ผลหลังการปลูกเพียง 2-3 ปี ส่วนวิธีดั้งเดิม คือ การปลูกด้วยการเพาะเมล็ด ซึ่งไม่ค่อยนิยมแล้ว เพราะได้ต้นสูงใหญ่ และกว่าจะติดผลได้ก็ประมาณ 5-7 ปี หลังปลูก

พันธุ์กระท้อน

พื้นที่ปลูก
1. พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ปลูกแบบนี้มักพบในภาคกลาง มีลักษณะเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึงง่าย ดังนั้น จึงนิยมยกร่องเป็นคันสูงสำหรับปลูก
2. พื้นที่ดอน และที่ราดเชิงเขา มักพบในทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง พื้นที่ลักษณะนี้สามารถขุดหลุมปลูกได้เลย เพราะไม่ต้องกังวลในเรื่องน้ำท่วม

การเตรียมแปลง
การเตรียมแปลงในพื้นที่ดอนจำต้องไถให้เรียบเสมอ และกำจัดวัชพืชออกก่อน หลังจากนั้น ทำการขุดหลุมปลูก ขนาดหลุมลึก กว้างที่ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมหรือระยะปลูกที่ 6-8 x 6-8 เมตร

การปลูก
การปลูกนั้น จะต้องปลูกในช่วงต้นฝนจะดีที่สุด เริ่มด้วยการหว่านโรยก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต ประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม/หลุม ร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ประมาณ 1 ถังเล็ก/หลุม และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 2 กำมือ/หลุม แล้วเกลี่ยดินบนคลุกผสมให้เข้ากัน ก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูกตรงกลาง พร้อมเกลี่ยดินกลบให้พูนเล็กน้อย จากนั้น ใช้ฟางข้าวหรือเศษใบไม้โรยรอบโคนต้น ก่อนจะรดน้ำให้ชุ่ม

การให้น้ำ
หลังการปลูก หากฝนไม่ตกหรืออยู่ในช่วงแล้งจะต้องให้น้ำช่วย 3-5 ครั้ง/เดือน และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอหากเริ่มออกดอก และติดผล

การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยในระยะ 1-2 ปีแรก หรือ ขณะที่ต้นยังไม่เริ่มติดผล ควรเน้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยที่ได้จากวัสดุอินทรีย์เป็นหลัก โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง/ปี แต่ละครั้งใส่ประมาณ 5 กำ/ต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-6 ร่วมด้วย ประมาณ 2 ครั้ง/ปี ในอัตรา 1-2 กำมือ/ต้น

เมื่อต้นเริ่มออกดอกครั้งแรกให้ใส่ปุ๋ยคอกตามเดิม แต่ปุ๋ยเคมีให้เปลี่ยนมาใช้สูตร 12-12-24 แทน ในอัตราเท่ากันในช่วงแรก แต่ต้องกะรยะการให้ คือ ต้องให้ก่อนหรืออยู่ในระยะออกดอก

การห่อผล และเก็บผลผลิต
หลังจากที่ดอกติดผล และผลโตจนมีสีเขียวอมเหลืองแล้ว ให้ทำการห่อผลด้วยกระดาษหรือหนังสือพิมพ์ เพื่อป้องกันผลจากสัตว์หรือแมลงมาแทะกิน และป้องกันผลติดโรคเน่าร่วงหล่น ผลที่ห่อนี้ จะทำให้มีผิวเรียบ สีผิวเหลืองสวย ไม่มีรอยกัดกินของแมลง ซึ่งจะขายได้ในราคาที่เพิ่มขึ้น

การเก็บผลนั้นในแต่ละพันธุ์จะมีช่วงอายุหรือระยะที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ให้สังเกตสีเปลือกผลเป็นสำคัญ คือ สีเปลือกที่เหมาะสำหรับการเก็บ คือ จะต้องมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอมเหลืองทั่วทั้งผล และ เพื่อความแน่ใจให้เด็ดผลมาผ่า และลองชิมเปลือกหรือเนื้อผลจะรู้ได้ดีกว่า แต่หากปล่อยให้ผลสุกมากจะทำให้กลางผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ และมีกลิ่นบูดเน่า ลักษณะนี้ ชาวบ้านเรียกว่า ไส้เป็นน้ำหมาก ทำให้ขายไม่ได้ราคา

เอกสารอ้างอิง
untitled