กระจับ/กระจับเขาควาย สรรพคุณ และการปลูกกระจับ

Last Updated on 26 กุมภาพันธ์ 2017 by puechkaset

กระจับ จัดเป็นวัชพืชในแหล่งน้ำ มีทั้งหมด 4 ชนิด โดย 2 ชนิด ไม่ค่อยนำฝักการใช้ประโยชน์ ส่วนอีก 2 ชนิด คือ กระจับเขาแหลม  และกระจับเขาทู่ และทั้ง 2 ชนิด เรียกทั่วไปว่า กระจับเขาควาย เป็นกระจับที่นำผลมารับประทาน และมีการปลูกในแถบภาคกลาง

ชนิด และการแพร่กระจาย
กระจับที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 ชนิด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
• กลุ่มที่ 1 เป็นกระจับที่ผลมี 2 เขา (กระจับเขาควาย) ได้แก่ กระจับเขาแหลม และกระจับเขาทู่
– กระจับเขาแหลม (Horn Nut)
– กระจับเขาทู่ (Water caltrops)

• กลุ่มที่ 2 เป็นกระจับที่ผลมีสี่เขา ได้แก่
– กระจ่อม (Jesuit Nut)
– กระจับ (Tinghara Nut)

กระจ่อม พบในจังหวัด นครสวรรค์ ส่วนกระจับ พบในจังหวัด นครศรีธรรมราช ที่เติบโตในลักษณะของวัชพืชน้ำ เป็นกระจับชนิด 4 เขา กระจับชนิด 4 เขา ในประเทศไม่นิยมปลูกเพื่อนำฝักมารับประทาน แต่พบการนำกระจับมาปลูกเพื่อใช้เป็นไม้ประดับหรือใช้ปลูกในตู้ปลา นอกจากนั้น ยังพบการปลูกในแถบประเทศแอฟริกา และยูเรเซีย

สำหรับกระจับเขาแหลม และกระจับเขาทู่ เป็นกระจับชนิด 2 เขา ที่มีการปลูกเพื่อรับประทานผล และเพื่อจำหน่ายผล โดยพบปลูกมากในภาคต่างๆ ได้แก่
ภาคกลาง
– ชัยนาท
– สิงห์บุรี
– อ่างทอง
– สุพรรณบุรี
– อุทัยธานี
ภาคใต้
– นครศรีธรรมราช

สำหรับต่างประเทศก็พบการปลูกเช่นกัน ได้แก่ จีน ไต้หวัน และอินเดีย

ลักษณะทั่วไป
1. ชนิด 2 เขา
กระจับชนิด 2 เขา หรือ กระจับเขาควาย ได้แก่ กระจับเขาแหลม และกกระจับเขาทู่ มี
ลำต้น
ลำต้นหยั่งลึกยาวลงดินใต้ท้องน้ำ โดยมีลำต้นส่วนหนึ่งโผล่บนผิวน้ำคล้ายบัว ที่ประกอบด้วยใบแตกออกด้านข้าง และภายในลำต้นจะประกอบด้วยช่องของอากาศ ส่วนลำต้นบริเวณท้องน้ำจะแตกไหลเลื้อยยาวเป็นข้อปล้อง ส่วนรากมีสีน้ำตาลแดง มี 2 แบบ คือ รากชนิดแรกเป็นรากแตกออกบริเวณข้อของไหล ส่วนรากชนิดที่ 2 เป็นรากหยั่งลึกลงดินเพื่อยึดลำต้นไว้

กระจับเขาหลม,

ใบ
ใบกระจับมี 2 ชนิด คือ ใบใต้น้ำ และใบเหนือผิวน้ำ โดยใบเหนือผิวน้ำมีรูปข้าวหลามตัด ฐานใบกว้าง ขนาดของใบประมาณ 5-7 ซม. ท้องใบ ก้านใบ และเส้นใบมีสีน้ำตาลปนแดง ขอบใบด้านบนหยักเป็นเลื่อย ปลายหยักแยกเป็นติ่งหนามสองติ่งสีแดง ใบมีลักษณะเรียบ สีเขียวเข้ม และเป็นมัน ใบมีขนยาวปกคลุมหนาแน่น ขนมีสีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนก้านใบมีลักษณะพองออก ภายในเป็นช่องอากาศคล้ายฟองน้ำ ทำหน้าที่ช่วยให้ลำต้นลอยน้ำได้ดี ส่วนใบใต้น้ำมีลักษณะคล้ายราก สีเขียว ลำใบเป็นฝอย และเรียวยาว ใบนี้จะแตกออกบริเวณข้อของลำต้น แต่ละข้อมี 2-3 ใบ

ดอก
ดอกกระจับออกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดเล็ก แทงออกบริเวณซอกใบเหนือน้ำ ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ที่มีโคนเชื่อมติดกันยาวเป็นหลอด ซึ่งกลีบเลี้ยงนี้จะพัฒนามาเป็นฝัก ถัดมาเป็นกลีบดอกสีขาว 4 กลีบ ภายในมีเกสรตัวผู้ 2 อัน และรังไข่ 2 อัน

ผล
ผลของกระจับ เรียกว่า ฝัก มีลักษณะคล้ายหน้าวัวที่มีเขาออก 2 ข้าง ที่เจริญมาจากกลีบเลี้ยงของดอก เปลือกฝักเป็นเปลือกแข็ง ผิวเปลือกสีม่วงแดงจนถึงดำ หรือเป็นสีดำ เนื้อด้านในมีสีขาวเป็นก้อนแป้งขนาดใหญ่ที่จะพัฒนาเป็นใบเลี้ยง และมีก้อนสีขาวขนาดเล็ก 1 อัน แทรกอยู่ ซึ่งจะพัฒนามาเป็นราก และลำต้น

กระจับเขาควาย

ขอบคุณภาพจาก www.samunpri.com

ทั้งนี้ กระจับทั้งสองชนิดมีลักษณะลำต้นคล้ายกัน แต่จะแตกต่างกันที่ผล คือ กระจับเขาแหลม ปลายผลจะงอโค้งเล็กน้อย และแหลม ส่วนกระจับเขาทู่ ปลายผลจะตรง ไม่โค้งงอ และไม่แหลม

2. ชนิดที่มี 4 เขา
กระจับชนิด 4 เขา ได้แก่ กระจับ และกระจ่อม มีลักษณะลำต้นทั่วไปคล้ายกับชนิด 2 เขา แต่มีลักษณะเด่นที่แตกต่าง คือ ลำต้นไม่แตกไหล ที่ต่างกับชนิด 2 เขา ที่แตกไหล แต่ใบมีรูปข้าวหลามตัดเหมือนกัน แต่มีขนาดใบเล็กกว่า ส่วนขอบใบด้านบนหยักเป็นเลื่อยเหมือนกัน แต่ค่อนข้างลึกกว่าชนิดแรก ปลายของหยักแหลม ใบมีขนสั้นสีน้ำตาลทองปกคลุม ส่วนก้านใบมีลักษณะพองออกเหมือนชนิดแรก ทั้งนี้ ทั้งสองชนิดจะมีความแตกต่างกัน คือ ผลของกระจับจะมีลักษณะแบน ค่อนข้างบาง และเล็ก ขนาดฝักประมาณ 2 ซม. รวมถึงเขาคู่ล่างจะหันลงด้านล่างในทิศที่ทำมุมกับแนวดิ่ง ส่วนกระจ่อมจะมีลักษณะผลที่หนา และใหญ่กว่า ขนาดฝักประมาณ 5-7 ซม. และเขาคู่ล่างทำมุมกับแนวดิ่งที่กว้างกว่า

การเจริญเติบโต
กระจับในธรรมชาติจะออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคม-มีนาคม และจะติดผลหลังจากนั้น 2 เดือน โดยกระจ่อม และกระจับ จะเติบโตให้ผลช้ากว่ากระจับเขาควาย (กระจับเขาแหลม และกระจับเขาทู่)
ที่มา : วินัย, (2547)(1)

ประโยชน์ของกระจับ
1. ผลนำมาต้มรับประทาน เนื้อด้านในมีสีขาว ให้รสคล้ายเมล็ดขนุน
2. เนื้อเมล็ดนำมาประกอบอาหารได้ทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน
3. เปลือกฝักที่กะเทาะเนื้อออกแล้ว สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนได้
4. ต้นกระจับใช้ปลูกในกระถางเป็นบัวประดับชนิดหนึ่ง
5. ลำต้น และใบ ตักมารวมกัน ใช้ทำปุ๋ยหมัก
6. ต้นกระจับส่งออกต่างประเทศสำหรับปลูกเป็นบัวประดับ ส่วนฝักส่งออกเช่นกัน ใช้สำหรับรับประทาน และนำเปลือกทำเป็นยาแก้ปวดท้อง ประเทศที่ส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น

คุณค่าทางโภชนาการของกระจับ (เนื้อฝัก 100 กรัม)
– ความชื้น : 70%
– พลังงาน : 117 แคลอรี่
– โปรตีน : 4.7 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 23.9 กรัม
– ไขมัน : 0.3 กรัม
– แคลเซียม : 20 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 150 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 0.8 มิลลิกรัม
– วิตามิน B1 : ไม่พบ
– วิตามิน B2 : 0.01 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน : 0.6 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 20 IU.
– วิตามิน C : ไม่พบ

ที่มา : กองโภชนาการ 2521. (1)

กระจับ

ข้อเสียของกระจับ
1. กระจับที่ติดผลจนแก่แล้ว ผลจะร่วงลงน้ำ และฝังอยู่พื้นน้ำ หากชาวประมงเดินเหยียบ เขากระจับจะตำเท้าได้ ขณะทำการ2. กระจับเติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน หากมีการแพร่ระบาดมาก กระจับจะคลุมผิวน้ำเป็นปัญหาต่อการประมง และปิดบังแสงที่ส่องลงท้องน้ำ ส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศ
3. การแพร่กระจายของกระจับจำนวนมากจะเป็นปัญหาต่อการชลประทาน และแหล่งน้ำตื้นเขิน

สรรพคุณกระจับ
ลำต้น และเหง้า
– นำมาต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงครรภ์

ใบ
– นำมาต้มน้ำดื่ม ใช้ถอนพิษต่างๆ

เนื้อฝัก
– เป็นยาชูกำลัง ช่วยบำรุงร่างกาย
– วิตามิน A ในเนื้อฝัก ช่วยบำรุงผิวพรรณให้แลดูมีน้ำมีนวล
– ช่วยเสริมสร้างการสร้างกระดูก

เปลือกฝัก
– เปลือกนำมาต้มดื่ม แก้อาการปวดท้อง
– เปลือกต้มน้ำดื่ม แก้อาการท้องเสีย

การปลูกกระจับ
กระจับเป็นพืชที่เติบโตได้เฉพาะในแหล่งน้ำขัง ซึ่งมีระดับความลึกแตกต่างกันไปตามธรรมชาติ บางแห่งอาจพบกระจับเติบโตได้ในแหล่งน้ำที่ลึกได้มากกว่า 3 เมตร โดยพื้นที่ปลูกกระจับมักจะเลือกแหล่งที่มีระดับน้ำไม่ลึก ประมาณ 30-50 ซม. เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าเก็บฝัก และควรเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่ทำให้เกิดร่มเงา

การขยายพันธุ์กระจับ นิยมทำกัน 2 แบบ คือ การปลูกด้วยฝัก และการปลูกด้วยเถา
การปลูกด้วยเมล็ด
การปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เมล็ดที่แก่แล้วเท่านั้น และเป็นเมล็ดที่ได้จากต้นมี่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยการเพาะจะเริ่มจากการนำดินผสมกับแกลบดำ อัตราส่วน 1:1 บรรจุใส่กระถาง แล้วฝังลงในกระถางตรงกลางให้ลึกพอดินกลบพอดี หลังจากนั้น ใช้น้ำเทใส่กระถางให้ท่วม และปล่อยทิ้งไว้ หลังจากนั้น ฝักจะเริ่มงอก และใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก็พร้อมย้ายลงปลูกในแปลง ทั้งนี้ ขณะเพาะเมล็ดต้องคอยดูแลให้น้ำท่วมหน้าดินในกระถางตลอด

การปลูกด้วยเถา
การปลูกด้วยเถาจะใช้เถาอ่อน ใบค่อนข้างบาง เล็ก และมีสีน้ำตาล ด้วยการนำเถามามัดรวมกัน 2-3 เถา แล้วกดเถาส่วนต้นที่มัดรวมกันลงหน้าดินใต้น้ำให้ลึกประมาณที่เถาไม่ลอย ระยะห่างระหว่างเถาที่ 2.5-3 เมตร

หลังการปลูกแล้ว 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และก่อนออกดอก-ช่วงออกดอก ในเดือนที่ 3-4 ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 24-12-12 ซึ่งจะช่วยให้ฝักกระจับมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ช่วงการดูแลให้มั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 1-2 เดือน/ครั้ง

การเก็บฝัก
กระจับจะเริ่มออกดอกหลังการปลูกประมาณ 3-4 เดือน และจะเริ่มติดเป็นฝักประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น ฝักจะเริ่มแก่เต็มที่ในเดือนที่ 5 เปลือกฝักจะมีสีม่วงแดงจนถึงดำ และเปลือกมีลักษณะแข็ง

ช่วงที่เริ่มเก็บฝักกระจับจะอยู่ในช่วงที่ใบกระจับเริ่มเหลือง โดยจะทยอยเก็บเป็นระยะ ทุกๆ 8-10 วัน/ครั้ง โดยกระจับ 1 กอ จะเก็บฝักได้ประมาณ 5-6 ครั้ง

การเก็บรักษาฝัก
ฝักกระจับที่เก็บมาจากต้นจะค่อนข้างเน่าเสียได้เร็วมาก และหากเก็บไว้นานจะทำให้ความหวานลดลง ดังนั้น แล้วเกษตรกรมักนำกระจับที่เก็บมาแล้วเข้าต้มเพื่อจำหน่ายทันที หรือ นำมาแปรรูเป็นอย่างอื่น เช่น ฝักสดนำมาทุบกะเทาะเอาเนื้อฝักออกแล้วนำมาบด และตาก เพื่อใช้ทำแป้งกระจับสำหรับประกอบอาหารอย่างอื่น ซึ่งการแปรรูปนี้จะทำให้เก็บรักษาแป้งกระจับได้นานขึ้น นอกจากนั้น แล้วยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น อาทิ กระจับกระป๋อง (กระจับในน้ำเชื่อม) กระจับดอง กระจับแช่อิ่ม เป็นต้น

วิธีการทำกระจับกระป๋อง
– นำกระจับมาล้างน้ำให้สะอาด
– นำเข้าต้มในน้ำเดือด 1-1.5 ชั่วโมง
– นำขึ้นมาพักให้สะเล็ดน้ำ และให้เย็นลง ก่อนทุบหรือกะเทาะแยกเอาเนื้อออก
– นำเนื้อกระจับมาล้างให้สะอาด ก่อนบรรจุลงในกระป๋อง
– เติมน้ำเชื่อม และกรดซิตริก 0.1% โดยให้มีช่อว่างเหนือกระป๋องเล็กน้อย และควรให้มีความหวานประมาณร้อยละ 20-25 แล้วปิดฝาพอหลวมๆ ก่อนนำไปให้ความร้อนเพื่อไล่อากาศออก ก่อนปิดฝาให้สนิท
– นำกระป๋องเข้าฆ่าเชื้อที่ความร้อน 100 องศา แล้วนำมาติดพลาสติกบรรจุภัณฑ์ ก่อนส่งจำหน่าย

เอกสารอ้างอิง