สายหยุด สรรพคุณ และการปลูกสายหยุด

Last Updated on 24 มิถุนายน 2016 by puechkaset

สายหยุด (Desmos) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกเพื่อประโยชน์จากดอก และการให้ร่มเงาเป็นสำคัญ เนื่องจากดอกสายหยุดมีสีเหลืองสวยงาม และที่สำคัญ คือ เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอม ส่วนการให้ร่มเงานั้นก็เป็นอีกหนึ่งลักษณะเด่น เพราะต้นสายหยุดแตกกิ่งแขนงมาก และใบดกเขียวทั้งปี ทำให้มีทรงพุ่มหนา บดบังแดดได้ทั่วถึง และจัดทรงพุ่มได้ง่าย
• วงศ์ : Annonaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Desmos chinensis Lour.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Unona discolor Vahl.
• ชื่อสามัญ :
– Desmos
– Chinese Desmos
• ชื่อท้องถิ่น :
– สายหยุด
– กล้วยเครือ
– สาวหยุด
– เครือเขาแกลบ
– สาวหยุด
– เสลา

การแพร่กระจาย
สายหยุด มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ตามธรรมชาติจะพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น พบมากตามริมห้วย ริมแม่น้ำในทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลาง และภาคเหนือ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
สายหยุด เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ไม่พลัดใบ เมื่อต้นยังเล็ก ลำต้น และกิ่งจะตรงขึ้น และเมื่ออายุมาก ลำต้น และกิ่งจะยาว และโน้มลง เลื้อยไปตามสิ่งยึดเกาะ โดยมีความยาวของลำต้นได้ถึง 20 เมตร ลำต้นมักแตกกิ่งหลักค่อนข้างต่ำ เปลือกลำต้น และกิ่งมีสีเกือบดำสนิท ผิวเปลือกแตกเป็นร่องเป็นระยะ โดยเฉพาะตามง่ามกิ่ง ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ทางการก่อสร้าง

ต้นสายหยุด

ขอบคุณภาพจาก www.biogang.net

ใบ
สายหยุดเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบออกเป็นใบเดี่ยวเยื้องสลับกันบนส่วนปลายของกิ่งแขนง ใบมีรูปหอก โคนใบกว้าง ปลายใบแหลม มีก้านใบสั้น แผ่นใบเรียบ ขอบใบโค้งเป็นลูกคลื่น ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน เมื่ออายุมากมีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขนาดใบกว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบมีเส้นกลางใบชัดเจน และมีเส้นใบแขนงแยกสลับกันออกด้านข้าง 5-10 คู่ ขึ้นอยู่กับความยาวของใบ ทั้งนี้ ใบสายหยุดจะเขียวดกตลอดทั้งปี

ดอก
ดอกสายหยุด เป็นดอกชนิดเดี่ยว แทงออกตามซอกใบ ประกอบด้วยก้านดอกสีเขียว ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นตัวดอกที่มีกลีบเลี้ยงรูปหอก 3 อัน ขนาดเท่ากัน และเรียงห่างกันเป็นสามเหลี่ยม ถัดมาเป็นฐานดอกที่มีกลีบดอก 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ โดยกลีบดอกชั้นนอกเป็นแผ่นกลีบบางกว้าง และยาวกว่ากลีบดอกชั้นใน ความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.2-2 เซนติเมตร แผ่นกลีบ และขอบกลีบดอกดอกเรียบ และแผ่นกลีบดอกมองเห็นเส้นกลีบดอกชัดเจน โดยกลีบดอกเมื่อบานเต็มที่จะส่วนปลายกลีบโค้งงอเข้าหาดอก ส่วนกลีบดอกชั้นในที่มี 3 กลีบ จะเรียงสับระหว่างกลีบดอกชั้นนอก ส่วนขนาดจะเล็กกว่า และสั้นกว่าเล็กน้อย

ถัดมาด้านในจากกลีบดอกจะเป็นเกสรตัวผู้จำนวนมาก 150-250 อัน และมีรังไข่จำนวนมาก 15-30 อัน แต่ละอันมีที่ไข่อ่อน 1-7 อัน ซึ่งส่วนนี้จะเจริญเป็นผลที่มีลักษณะเป็นผลย่อยเรียงติดกัน

ดอกสายหยุดจะเริ่มบานในช่วงเช้า และบานได้นานหลายวันกว่าที่กลีบดอกจะร่วง ซึ่งขณะกลีบดอกบานจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ โดยเฉพาะช่วงเช้าจะมีกลิ่นหอมมากที่สุด และกลิ่นจะค่อยอ่อนลงเมื่ออากาศร้อนขึ้นทั้งนี้ ดอกจะบานต่อเนื่องตลอดในช่วงฤดูฝน

ดอกสายหยุด

ผล และเมล็ด
ผลสายหยุดมีรูปร่างแปลกตาที่ไม่เหมือนผลของอื่นๆ คือ ผลออกเป็นช่อที่มีผลย่อยอยู่บนก้านผลหลักเดียวกัน และแต่ละผลจะมีผลย่อยเรียงติดกัน คือ ผลมีลักษณะเป็นคอคอดเว้าเป็นช่วงๆ 2-6 ช่วง ซึ่งก็คือผลผลที่ติดเรียงกันเป็นถอดๆ

โดยในแต่ละช่อผลจะมีผลประมาณ 10-30 ผล แต่ละผลจะมีผลย่อยเรียงติดกัน 2-7 ผล หรืออาจมีเพียงผลเดียว และผลย่อยแต่ละผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ดังนั้น ภายใน 1 ช่อผล จะมีผลได้มากถึง 210 ผล หรือกมากกว่า หากรังไข่ติดผลครบทุกอัน

ผลย่อยที่เรียงติด มีลักษณะรูปร่างกลมรหรือเป็นรูปไข่ ขนาดผลประมาณ 0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.8 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบ และเป็นมัน ซึ่งจะติดเป็นเนื้อเดียวกับเนื้อผล เมื่ออ่อนจะมีสีเขียว และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และเมื่อเริ่มสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อ แดงอมม่วง และสีดำ เมื่อสุกจัด โดยผลจะเริ่มสุกจากผลย่อยผลสุดท้าย แล้วค่อยๆสุกจนมาถึงผลบริเวณโคนช่อผลด้านใน โดยผลจะเริ่มติดเป็นเม็ดเล็กๆให้เห็นหลังจากกลีบดอกร่วงหมดแล้ว และจะทยอยสุกหลังติดผลแล้วประมาณ 3-4 เดือน

ผลสายหยุด

สายหยุดกับการเวก และกระดังงาไทย
ลักษณะของสายหยุดกับกระดังงาหรือการเวก (พบมากตามถนนในกรุงเทพ) จะมีส่วนที่เหมือนกันมาก โดยเฉพาะลักษณะกิ่งย่อย และใบ ส่วนที่แตกต่างกันค่อนข้างเด่นชัดคือ
1. ลำต้น
ลำต้นสายหยุดจะมีขนาดใหญ่กว่า เปลือกลำต้นแตกเป็นร่องตื้นๆ ส่วนลำต้นของการเวกมีขนาดเล็กกว่าทั้งที่มีอายุมากแล้ว เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบ ส่วนสีเปลือกมีสีดำเหมือนกัน
2. การแตกกิ่ง
การแตกกิ่งของสายหยุดจะแตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น ซึ่งกลายเป็นกิ่งหลัก และแตกกิ่งหลักได้หลายกิ่ง ส่วนการแตกกิ่งของการเวกจะแตกกิ่งค่อนข้างสูงจากลำต้น
3. ดอก
ดอกสายหยุดจะมีกลีบดอกเรียวยาว กลีบดอกค่อนข้างแบน และโค้งงอ ส่วนดอกของการเวกจะลักษณะเป็นแผ่นหนา และตรง ไม่บิดเป็นเกลียว

นอกจากนั้น สายหยุดยังมีความเหมือนกับกระดังงาไทยหรือกระดังงาใหญ่อีกด้วย คือ
1. ลำต้น
กระดังงาไทยเป็นไม้ยืนต้น ที่มีลำต้นใหญ่กว่าสายหยุดมาก ส่วนเปลือกลำต้นจะเรียบกว่าสายหยุด
2. การแตกกิ่ง
การแตกกิ่งของกระดังงาไทยจะแตกกิ่งเหมือนไม้ยืนต้นทั่วไป ไม่เลื้อยพาดเหมือนสายหยุด
3. ดอก
ดอกกระดังงาไทยจะมีกลีบดอกเรียวบาง กลีบดอกบิดเป็นเกลียว ขนาดกลีบกว้างน้อยกว่า แต่ยาวกว่า และมีจำนวนกลีบดอกมากกว่ากลีบดอกสายหยุด ส่วนสีจะมีสีเหลือเหมือนกัน

ประโยชน์สายหยุด
1. สายหยุดนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจาก เนื่องจากดอกมีสีเหลืองปิดเป็นเกลียวสวยงาม
2. สายหยุดนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา เนื่องจาก เมื่อต้นมีอายุมาก ลำต้น และกิ่งจะโน้มพาดตามสิ่งยึดเกาะ ซึ่งจะแตกกิ่งย่อยได้จำนวนมาก แต่ละกิ่งย่อยมีใบดก จนทำให้บดบังแสงแดดได้มิด ดังนั้น หากทำค้ำยันเพื่อให้กิ่งชูขึ้น และพาดเลื้อยเป็นแผงก็จะกลายเป็นที่บังแดดบังฝนได้ดี
3. ดอกสายหยุดมีกลิ่นหอม นิยมนำมาวางในห้องน้ำ ห้องนอน เพื่อให้อากาศในห้องมีกลิ่นหอม
4. ดอกสายหยุดมีน้ำมันหอมระเหยจำนวนมาก จึงสามารถสกัดมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหรือน้ำหอม
5. น้ำมันหอมระเหยของสายหยุดนำมาชโลม และนวดผม รวมถึงใช้นวดกล้ามเนื้อเพื่อให้ผ่อนคลาย
6. น้ำมันหอมระเหยของสายหยุดนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร
7. ใบสายหยุดนำมาต้มย้อมผ้า ให้สีเขียวขี้ม้า

พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงประพันธ์เพลงเกี่ยวกับดอกสายหยุด ไว้คือ
หอมสายหยุด สุดหอม ดั่งจอมขวัญ
หอมหวาน ปานสวรรค์ สรรสร้าง
หอมไกลลิบ ทิพย์สุคนธ์ ปนกลิ่นนาง
โอ้…อ้างว้าง ยามสาย จางหายไป

คอยเวลา สายัณห์ พลันอรุณ
หอมกรุ่น ระทวยก้าน สะท้านไหว
กลีบบาง ดั่งโอษฐ์งาม ของทรามวัย
แสนชื่นใจ ใยกลิ่นวาย สายหยุดเอย

ที่มา : 1)

สรรพคุณสายหยุด
ดอก และน้ำมันหอมระเหย
– ช่วยบำรุงหัวใจ
– แก้อาการท้องอืด
– ช่วยรักษาไข้หวัด
– แก้อาการวิงเวียนศรีษะ

ผล และเมล็ด (นำมาต้มน้ำดื่ม)
– แก้อาการถ่ายเป็นน้ำหรือท้องเสีย
– ช่วยขับพยาธิ

ราก
– นำรากมาล้างน้ำ และต้มดื่ม ช่วยแก้อาการตัวร้อน เป็นไข้
– ช่วยแก้โรคบิด

ฤทธิ์สำคัญทางยาของน้ำมันหอมระเหยสายหยุด
– ต้านเชื้อจุลินทรีย์
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ต้านการอักเสบ

เพิ่มเติมจาก : 2)

การปลูกสายหยุด
การปลูกสายหยุด นิยมปลูกได้ด้วยเมล็ดเป็นหลัก เพราะจะได้ต้นใหญ่ แตกกิ่งก้านมาก และต้นมีอายุยืนยาว ส่วนการปลูกด้วยการตอนมักไม่นิยม เพราะต้นมักตายง่าย ต้นมีอายุไม่ยืน และแตกกิ่งน้อย ทั้งนี้ ต้นสายหยุดจะออกดอกหลังจากปลูกแล้วประมาณ 3-4 ปี

เอกสารอ้างอิง
1