ลูกท้อ/ลูกพีช สรรพคุณ และการปลูกลูกท้อ

Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ลูกท้อ หรือ ลูกพีช (Peach) เป็นไม้ผลเมืองหนาวที่ต่างประเทศนิยมรับประทานผลสดหรือแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ แยม เยลลี่ รวมถึงนำผลดิบมาดองรับประทาน เปลือกผลมีสีสันสวยงาม เนื้อผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ในไทยพบปลูกบ้างตามภูเขาสูงเท่านั้น

• วงศ์ : Rosaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prunus persica (L.) Stokes
• ชื่อสามัญ : Peach
• ชื่อท้องถิ่น :
– ท้อ
– ลูกท้อ
– มะฟุ้ง
– มักม่น
– มักม่วน
– หุงหม่น
– หุงคอบ
• จีนแต้จิ้ว : ท้อ
• จีนกลาง : เถา

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ลูกท้อหรือลูกพีช เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน แล้วค่อยแพร่กระจายเข้าสู่เปอร์เซีย ยุโรป และอเมริกา รวมถึงแพร่ลงมาในแถบประเทศใกล้เคียง อาทิ พม่า และไทยตอนบน เติบโตได้ดีในพื้นที่ภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นประมาณ 10 ºC ทั้งปี พบเติบโตบนพื้นที่สูงตั้งแต่ 3000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นไม้ที่ต้องการน้ำไม่มาก และทนแห้งแล้งได้ดี

ในประเทศไทย ลูกท้อแพร่เข้ามาจากชาวเผ่าภูเขาที่อพยพ และนำเมล็ดลูกท้อจากจีนตอนล่างเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ต่อมาพันธุ์เหล่านั้น หลายเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่พบทั่วไปบนภูเขาสูง และปัจจุบันพบปลูกเฉพาะบางพื้นที่บนภูเขาสูงในภาคเหนือ ทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ต่างประเทศที่มีผลขนาดใหญ่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลูกท้อเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง ลำต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับต่ำ กิ่งหลัก และกิ่งแขนงมีปานกลาง ทำให้เป็นทรงพุ่มโปร่ง ไม่หนาทึบ

ใบ
ลูกท้อเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวเรียงเยื้องสลับกันตามปลายยอด ใบมีรูปหอก แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียว

ดอก
ลูกท้อออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ทั้งออกเป็นกระจุกใกล้กันหลายดอกหรือออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตัวดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีแดงขนาดเล็ก 5 กลีบ ปลายกลีบเลี้ยงโค้งมน และมีขนปกคุลม ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ แผ่นกลีบมีรูปหอก และบาง ปลายกีบโค้งมน และค่อนข้างแหลม แผ่นกลีบดอกมีทั้งสีขาวอมชมพู และสีแดง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย

ผล และเมล็ด
ผลลูกท้อออกเป็นผลเดี่ยวๆ ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม คล้ายผลบ๊วย (apricot) แต่ขนาดผลจะใหญ่กว่า และมีขนปกคลุมทั่วบริเวณผิว แต่บางพันธุ์มีผลขนาดเล็กกว่าผลบ๊วย ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกเปลี่ยนเป็นสีชมพู ทั้งนี้ ก่อนออกดอก ต้นท้อจะผลิใบร่วงจนหมด แล้วค่อยติดดอก และแตกใบใหม่พร้อมกัน

ประโยชน์ลูกท้อ/ลูกพีช
1. ลูกท้อหรือลูกพีชใช้เป็นผลไม้รับประทานสด เนื้อผลหนาคล้ายผลแอปเปิ้ล มีสีขาวอมเหลือง มีรสกรอบ หวาน และกลิ่นหอมอ่อนๆ
2. เนื้อลูกท้อหรือลูกพีชแปรรูปทำแยม ลูกท้อดอง ลูกท้อเชื่อม ลูกท้อแช่อิ่ม เป็นต้น โดยเฉพาะลูกท้อขนาดเล็กที่นิยมดองเป็นผลไม้หรือลูกท้อแช่อิ่ม
3. ชาวจีนมักเปรียบกลีบดอกลุกท้อเหมือนแก้มผู้หญิงที่มีสีชมพูอ่อน นอกจากนั้น ยังถือว่าต้นลูกท้อเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ โดยหมอผีหรือผู้เฒ่ามักใช้กิ่งลูกท้อปักยื่นในทิศตะวันออกหรือทิศใต้เพื่อใช้เป็นไม้บังคับ ส่วนใบลูกท้อนิยมใช้ผสมลงในหม้อยาหรือหม้อน้ำมนต์สำหรับพรมขับไล่ผี และวันขึ้นปีใหม่ อีกทั้งชาวจีนยังนิยมดื่มน้ำลูกท้อหรือนำลำต้น กิ่ง และใบมาต้มน้ำอาบในวันขึ้นปีใหม่ของจีน รวมถึงนำไม้ลูกท้อมาทำเครื่องราง เครื่องประดับแขวนไว้หน้าบ้านสำหรับกันภูตผี

ตำนานที่เกี่ยวกับลูกท้อในประเทศจีนกล่าวถึงลุกท้อว่า ลูกท้อสวรรค์จะมีช่วงการสุกที่ประมาณ 3000 ปี/ครั้ง และหากผลท้อสุก เหล่าเทพ และเซียนทั้งหลายจะเข้าแย่งเก็บกินลูกท้อ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้คงกระพัน และความเชื่อเหล่านั้นยังสะท้อนด้วยภาพเขียนรูปเด็กหรือผู้เฒ่ายืนถือลูกท้อ ชื่อว่า เหลาซี แปลว่า ผู้สูงอายุหรือผู้มีอายุยืนยาว มีลักษณะเด่นที่ หน้าผากกว้างยาวกว่าคนปกติ [1] อ้างถึงใน นิตยาสารสารคดี (2537)

ทั้งนี้ การรับประทานลูกท้อหรือลูกพีช ควรนำลูกท้อมาล้างน้ำ และขัดขนออกก่อนหรือใช้เศษผ้าขัดขน ก่อนนำมาล้างน้ำ เพราะหากรับประทานขณะที่มีขน อาจทำให้ระคายเคืองคอได้

คุณค่าทางโภชนาการลูกท้อ (ผลสุก 100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 88.87
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 39
โปรตีน กรัม 0.91
ไขมัน กรัม 0.25
คาร์โบไฮเดรต กรัม 9.54
ไฟเบอร์ กรัม 1.5
น้ำตาล กรัม 8.39
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 6
เหล็ก มิลลิกรัม 0.25
แมกนีเซียม มิลลิกรัม 9
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 20
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 190
โซเดียม มิลลิกรัม 0
สังกะสี มิลลิกรัม 0.17
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 6.6
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.024
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.031
ไนอะซีน มิลลิกรัม 0.806
วิตามิน B-6 มิลลิกรัม 0.025
โฟเลต ไมโครกรัม 7
วิตามิน B-12 ไมโครกรัม 0
วิตามิน A, RAE ไมโครกรัม 16
วิตามิน A, IU IU 326
วิตามิน D (D2 + D3) ไมโครกรัม 0.0
วิตามิน K ไมโครกรัม 2.6
Lipids
กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด กรัม 0.019
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดสายเดี่ยวทั้งหมด กรัม 0.067
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหลายสายทั้งหมด กรัม 0.086
คอลเลสเตอรอล มิลลิกรัม 0

ที่มา : [2] USDA Nutrient Database

สรรพคุณลูกท้อ/ลูกพีช
ผลลูกท้อ
– ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่
– ป้องกันมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
– เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านโรคหวัดหรือเชื้อโรคต่างๆ
– ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคตาต่างๆ
– ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
– ส่งเสริมการสร้างกระดูก และฟัน ป้องกันโรคกระดูกเสื่อม

เมล็ดลุกท้อ
– ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ
– ช่วยบำรุงโลหิต
– ช่วยบรรเทาอาการไอ
– ช่วยแก้อาการท้องเสีย
– กระตุ้นการทำงานของลำไส้ และหัวใจให้เป็นปกติ
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

ดอกลูกท้อ
– ใช้เป็นยาระบาย กระตุ้นการขับถ่าย
– ช่วยขับปัสสาวะ

ใบลุกท้อ
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

การปลูกลูกท้อ/ลูกพีช
ลูกท้อที่ปลูกในประเทศไทยส่วนมากยังเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมมาจากประเทศจีน มีชื่อพันธุ์ว่า แปะมุงท้อ และอ่างขางแดง เป็นต้น พันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้ มักมีผลขนาดเล็กเมื่อเทียบกับพันธุ์ต่างประเทศ ติดดอก และผลน้อย แต่ช่วงหลังเริ่มมีการนำพันธุ์ต่างประเทศอื่นๆที่ให้ผลผลิตสูง และผลมีขนาดใหญ่เข้ามาปลูก อาทิ พันธุ์ฟลอดาชัน พันธุ์ฟลอดาเรด พันธุ์ฟลอดาเบลล์ และเออลิแกรนด์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา และพันธุ์หญิงคู จากประเทศไต้หวัน

การขยายพันธุ์ลูกท้อ
ต้นพันธุ์ลูกท้อนิยมนำเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองมาเพาะกล้าให้เติบโตสำหรับใช้เป็นต้นตอ หลังจากนั้น นำกิ่งพันธุ์ดีที่มีผลขนาดใหญ่มาเสียบยอดหรือติดตา ก่อนดูแลให้ตั้งตัวได้ แล้วค่อยนำลงปลูก

นอกจากนั้น อาจใช้วิธีนำต้นตอของพันธุ์พื้นเมืองลงปลูกในแปลงให้ตั้งตัวได้ก่อน จากนั้น ค่อยนำกิ่งพันธุ์ดีมาเสียบยอด ซึ่งวิธีนี้ก็ได้ผลดีเช่นกัน ทั้งนี้ การปลูกนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูหนาวเป็นหลัก

การเตรียมหลุม
แปลงปลูกท้อ ควรไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชออกก่อน จากนั้น ขุดหลุมปลูก กว้าง ลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม และแถวประมาณ 6 x 6 เมตร ตากหลุมไว้ 3-5 วัน

วิธีปลูกลูกท้อ
หลังตาหลุมได้กำหนดแล้ว ให้โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1 ถัง และปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ประมาณ 2 กำมือ/หลุม พร้อมเกลี่ยหน้าดินลงคลุกให้เข้ากัน ก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูก พร้อมเกลี่ยดินกลบ จากนั้น ปักข้างลำต้นด้วยไม้ไผ่ และคล้องเชือกรัดหลวมๆเพื่อพยุงลำต้น

การใส่ปุ๋ย
– ระยะ 1-3 ปี ก่อนลูกท้อติดดอกครั้งแรก ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง สูตร 15-15-15 ร่วมกับปุ๋ยคอกรอบโคนต้น
– ระยะติดดอก และผลในช่วง 3-4 ปี เป็นต้นไป ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง สูตร 13-13-21 ใส่ก่อนออกดอก และสูตร 15-15-15 ใส่ระยะหลังเก็บผล ร่วมกับปุ๋ยคอกทุกครั้ง
– การใส่ปุ๋ยแต่ละครั้ง ให้ใส่หลังกำจัดวัชพืชหรือไถพรวนดินร่วม

การตัดแต่งกิ่ง
หลังการปลูกในช่วงปีแรก ให้ตัดยอดลำต้นทิ้ง เพื่อให้ลำต้นแตกกิ่งออก หลังจากนั้น ตัดแต่งกิ่งหลักให้เหลือประมาณ 3 กิ่ง แล้วปล่อยให้กิ่งหลักแตกกิ่งแขนงออก

ผลผลิต และการปลิดผลทิ้ง
ลูกท้อจะออกดอก และติดผลหลังปลูกประมาณ 3 ปี โดยจะเริ่มออกดอกในช่วงปลายฤดูฝน ย่างเข้าฤดูหนาว และเก็บผลได้ประมาณหน้าแล้ง ช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม ต้นลูกท้อจะติดผลดกในช่วงอายุ 4-5 ปี และเก็บผลได้นานประมาณ 10 ปี

หลังจากที่ดอกลูกท้อติดผลแล้ว 5-8 สัปดาห์ หลังดอกบาน ให้ปลิดผลบางส่วนทิ้ง โดยเลือกผลที่สมบูรณ์ไว้ ระยะห่างของแต่ละช่วงผลประมาณ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งอาจปล่อยให้ติดผลเพียง 1 หรือ 2 ผล ไม่ควรมากกว่านี้ ผลอื่นๆให้ปลิดทิ้ง ทั้งนี้ เพื่อให้ผลพัฒนาอย่างสมบูรณ์ และมีขนาดผลใหญ่ หากปล่อยให้ติดผลบนกิ่งมาก ผลจะมีขนาดเล็ก และสีสันไม่สวยงาม

โรค และแมลงลูกท้อ/ลูกพีช
• โรค
– Peach leafcurl
– Brown rot scab
– Rust
• แมลง มีแมลงทำลายที่สำคัญ คือ แมลงวันทองผลไม้

การป้องกัน กำจัด
1. ฉีดพ่นด้วยยากำจัดเชื้อรา ฉีดพ่นด้วยยากำจัดแมลงวันทอง
2. ใช้เหยื่อพิษล่อแมลงวันทอง ได้แก่ การผสมสารเมททิล ยูจินอลในผลไม้
3. ห่อผลด้วยถุงกระดาษ
4. เก็บ และกำจัดผลสุกที่ร่วงใต้ต้นออกให้หมด

ขอบคุณภาพจาก chiangmaifreshgarden.com/, pantip.com/, BlogGang.com

เอกสารอ้างอิง
[1] ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกท้อของเกษตรกรบ้านขุนวาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่.
[2] USDA Nutrient Database, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2560, เข้าถึงได้ที่ : https://ndb.nal.usda.gov/ndb/foods/show/2311?fgcd=&manu=&lfacet=&format=&count=&max=50&offset=&sort=default&order=asc&qlookup=Prunus+persica+&ds=&qt=&qp=&qa=&qn=&q=&ing=