ผักโขม และการปลูกผักโขม

Last Updated on 5 เมษายน 2017 by puechkaset

ผักโขม (Amaranth) เป็นผักป่าหรือผักพื้นบ้านที่เติบโตได้เองตามธรรมชาติ โดยปัจจุบันมีการคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์ให้มีลักษณะตรงตามความต้องการสำหรับบริโภคมากขึ้น โดยมีการปลูกสำหรับรับประทานเอง และเพื่อจำหน่าย นิยมนำมาต้มรับประทานสุก จิ้มน้ำพริก ทำแกงจืด ผัด ทอด และประกอบในเมนูอาหารได้หลากหลาย

ผักโขม (Amaranthus spp.) มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเขตร้อน มีมากกว่า 60 สายพันธุ์ จัดเป็นพืชล้มลุก ใบเลี้ยงคู่ มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยหรือลำต้นตั้งตรงสูงตั้งแต่ 10 ซม. จนถึงมากกว่า 1 เมตร ลำต้นมีทั้งแตกกิ่ง และไม่แตกกิ่งแขนง ลำต้นอาจมีหนาม และไม่มีหนาม ใบ และลำต้นมีสีแดงหรือสีเขียว ใบมีรูปไข่หรือรูปไข่ต้นใบกว้าง ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกมีลักษณะออกเป็นช่อประกอบด้วยดอกจำนวนมาก ส่วนเมล็ดเมื่อแก่จะมีสีดำขนาดเล็ก 0.5-1 มิลลิเมตร

พันธุ์ที่นิยมปลูกหรือรับประทาน
พันธุ์ที่นิยมปลูก และนำมารับประทานในปัจจุบันมีทั้งพันธุ์ที่มีการปรับปรุงพันธุ์ และพันธุ์ดั้งเดิมที่เกิดตามธรรมชาติ โดยเรียกชื่อตามความนิยม ได้แก่
1. ผักโขมจีน (A. tricolor) เป็นผักที่นิยมปลูกรับประทาน และจำหน่ายมากในท้องตลาดในปัจจุบัน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ลำต้น และใบสูงมีขนาดสูงใหญ่กว่าผักโขมบ้าน สีของลำต้น และใบมีทั้งสีเขียว แดงหรือสีผสม

ผักโขมจีน

2. ผักโขมบ้าน/ผักโขมเล็ก
เป็นผักโขมที่นิยมรับประทานมากชนิดหนึ่ง มักเกิดเองตามธรรมชาติตามสวนผักหรือที่โล่งที่มีวัชพืชขึ้นน้อย มีลักษณะลำต้น และใบเล็ก ลำต้นอาจแตกกิ่งเลื้อยตามดินหรือตั้งตรง สูง 10-30 ซม. ลำต้นมีทั้งสีเขียว สีขาว และสีน้ำตาล เมื่อนำมาต้มจะมีลักษณะอ่อนนุ่ม นิยมรับประทานทั้งลำต้น และใบ รวมถึงรากอ่อน

ผักโขมบ้าน

3. ผักโขมหนาม (A. viridis, A. spinosus) เป็นผักโขมที่เกิดตามธรรมชาติในท้องถิ่นต่างๆ นิยมรับประทานน้อยที่สุดรองจากผักโขมยักษ์ เนื่องจากมีหนาม และมีรสหยาบ ลักษณะลำต้นจะสูงกว่าผักโขมจีน และแตกกิ่งก้านจำนวนมาก ลำต้น และใบอาจมีสีขาว เขียวหรือสีน้ำตาล หนามจะแทงออกบริเวณโคนก้านใบเมื่อโตเต็มที่ จึงนิยมเก็บมารับประทานขณะต้นยังเล็กที่ยังไม่เกิดหนาม

ผักโขมหนาม

4. ผักโขมยักษ์ เป็นผักโขมที่เกิดตามธรรมชาติ มีลักษณะลำต้นตั้งตรงสูงได้มากกว่า 1 เมตร แตกกิ่งแจนงน้อย ลำต้น และใบสีเขียวอ่อนถึงเขียวแก่ ใบขนาดใหญ่ที่สุดหากเทียบกับพันธุ์ที่กล่าวมาก นิยมเก็บใบ และยอดมารับประทานขณะต้นยังอ่อน แต่นิยมรับประทานน้อยกว่าผักโขมบ้าน และผักโขมจีน

ผักโขมยักษ์

คุณค่าทางอาหาร ในผักโขม 100 กรัม
– พลังงาน (กิโลแคลอรี) 43
– โปรตีน (กรัม) 5.2
– ไขมัน (กรัม) 0.80
– คาร์โบไฮเดรต (มิลลิกรัม) 6.70
– แคลเซียม (มิลลิกรัม) 341.00
– ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) 76.00
– เหล็ก (มิลลิกรัม) 4.10
– วิตามินบี 1 (มิลลิกรัม) 0.01
– วิตามินบี 2 (มิลลิกรัม) 0.37
– วิตามินซี (มิลลิกรัม) 120.00
– ไนอาซีน (มิลลิกรัม) 1.80
– เบต้า แคโรทีน (RE) 558.76

ผักโขมถือเป็นผักที่มีโปรตีนสูงซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ บางสายพันธุ์อาจมีโปรตีนมากกว่าร้อยละ 30 เช่น สายพันธุ์ A. viridis ที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายชนิดตัวอย่างเช่น

ปริมาณกรดอะมิโนในผักโขมสายพันธุ์ Amaranthus cruentus (มิลลิกรัม)
– Alamine 1.24
– Aspartic acid 1.78
– Arginin 2.11
– Glycine 0.63
– Glutamic acid 0.12
– Histidine 0.61
– Isoleucine 1.02
– Lysine 2.01
– Methionine 3.52
– Cystine 0.81
– Leucine 1.85
– Serine 0.81
– Threonine 0.52
– Phenylalanine 1.51
– Valine 1.04
– Tyrosine 0.94
– Tryptoplan 0.64

การปลูกผักโขม
การขยายพันธุ์
นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีการจำหน่ายเมล็ดบ้างแล้วบางสายพันธุ์ โดยเฉพาะผักโขมจีน ส่วนผักโขมบ้าน ผักโขมหนาม และผักโขมยักษ์ มักเกิดเองตามธรรมชาติ แต่สามารถเก็บเมล็ดแก่เพื่อนำมาเพาะขยายพันธุ์เองได้

การเตรียมดิน
เนื่องจากผักโขมสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย การระบายน้ำดี และไม่ชอบน้ำขัง การเตรียมดินปลูกควรใช้ดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายผสมกับวัสดุทางการเกษตร เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย มูลสัตว์ เป็นต้น ในอัตราส่วนดินกับวัสดุ 2:1

แปลงปลูกอาจยกแปลงด้วยการก่ออิฐบล็อก และใส่ดินปลูกหรือเตรียมแปลงปลูกโดยการยกร่องหรือไม่ยกร่องด้วยการไถพรวนดินร่วมกับการใส่วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรข้างต้นในอัตรา 2-3 กิโลกรัม/ตารางเมตร

วิธีการปลูก
การปลูกจะใช้วิธีการหว่านเมล็ดทั้งแปลงหรือการหว่านเมล็ดเป็นแถว
– การหว่านเมล็ดทั้งแปลง ในอัตรา 10 กก./ไร่ ด้วยการหว่านเมล็ด และคราดดินกลบ 1-2 รอบ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม
– การหว่านเมล็ดเป็นแถว ให้มีระยะห่างระหว่างแถว 20-30 ซม. ในอัตราเดียวกัน พร้อมคราดดินกลบ และรดน้ำให้ชุ่ม

ทั้งนี้อัตราส่วนเมล็ดพันธุ์กับขนาดแปลงจะเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับขนาดลำต้น และทรงพุ่มของพันธุ์ผักโขม

การดูแล
เมล็ดผักโขมจะงอกหลังการหว่านเมล็ดประมาณ 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
– การให้น้ำ จะให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ตั้งแต่หลังการหว่านเมล็ดจนถึงก่อนระยะเก็บผลผลิต 1-2 วัน ทั้งนี้ ควรให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้ดินอุ้มน้ำหรือมีน้ำท่วมขัง
– การใส่ปุ๋ย จะเริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 16-8-8 ประมาณ 2-3 ครั้ง โดยเริ่มใส่ตั้งแต่ระยะที่ต้นอ่อนมีใบแท้ 2-4 ใบ

การเก็บผลผลิต
การเก็บผลิตมักเก็บในระยะต้นอ่อนที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ โดยมีใบแท้ประมาณ 5-10 ใบ ความสูงประมาณ 15-25 ซม. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก