ผักกระเฉด(Water mimosa) สรรพคุณ และการปลูกผักกระเฉด

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

ผักกระเฉด (Water mimosa) จัดเป็นพืชน้ำประเภทลอยน้ำในตระกูลถั่วที่มีอายุนานหลายปี นิยมนำมาประกอบอาหาร หรือกินเป็นผักสด โดยเฉพาะยอดอ่อนที่ให้เนื้อกรอบ มีรสมัน ในหลายเมนู อาทิ ผัดผักกระเฉด ยำผักกระเฉด แกงส้ม รวมถึงใช้รับประทานสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกินเป็นผักคู่กับส้มตำ เป็นต้น

• วงศ์ : Momosaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neptunia oleracea Lour.
• ชื่อสามัญ : Water mimosa
• ชื่อท้องถิ่น :
– ผักกระเฉด
– ผักกระเฉดน้ำ
– ผักรู้นอน
– ผักหนอง
– ผักกระเฉดผักหละหนอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
ผักกระเฉดจะขึ้น และเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีน้ำขัง เลื้อยยาวลอยบนน้ำ ลำต้นมีลักษณะกลม และเรียวยาว เป็นปล้อง ภายในตัน ไม่เป็นรูกลวง แต่ละปล้องมีนวมหุ้มสีขาว ที่เรียกว่า “นม” โดยหุ้มปล้องเว้นช่วงที่เป็นข้อของปล้อง นมสีขาวนี้ทำหน้าที่ช่วยพยุงลำต้นผักกระเฉดให้ลอยน้ำได้

ผักกระเฉด

รากผักกระเฉดเป็นรากฝอย แทงออกตามข้อจำนวนมาก โคนรากมีปมของเชื้อแบคทีเรียไรโซเบียมเหมือนรากของพืชตระกูลถั่วบนบก

ใบ
ใบผักกระเฉด เป็นใบประกอบ แทงออกบริเวณข้อของลำต้น มีก้านใบหลัก แต่ละก้านใบหลักประกอบด้วยก้านใบย่อย 4-6 ก้าน และแต่ละก้านใบจะมีใบ 15-20 คู่ ใบบนก้านใบย่อยจะมีรูปไข่ ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 ซม. ใบอ่อนมีสีเขียวอมม่วง หลังจากนั้นค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียวสด

ใบผักกระเฉด

ดอก
ดอกผักกระเฉดออกเป็นช่อสีเหลือง แต่จะมองเห็นเป็นดอกเดี่ยวคล้ายดอกกระถิน ดอกมีก้านดอกยาวประมาณ 15-20 ซม. ตัวดอกกว้างประมาณ 2 ซม. มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ บนดอกที่มองเห็นจะประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ช่อละ 30-50 ดอก โดยดอกช่วงบนจะเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ส่วนดอกช่วงล่างจะเป็นหมัน

ดอกผักกระเฉด

ฝัก และเมล็ด
ผลของผักกระเฉดจะออกเป็นฝักขนาดเล็ก ฝักมีลักษณะแบนยาว ฝักยาวประมาณ 2.5 ซม. ภายในฝักมีเมล็ด 4-10 เมล็ด เมื่อฝักแก่ ฝักจะปริแตกตามร่องด้านข้างเพื่อปล่อยให้เมล็ดร่วงลงน้ำ

ประโยชน์ผักกระเฉด
1. การปลูกหรือเลี้ยงผักกระเฉดถือเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท
2. ใบ และยอดอ่อนใช้ประกอบอาหารในหลายเมนู รวมถึงใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกหรือเป็นผักกับส้มตำ
3. ผักกระเฉดใช้ปลูกหรือเลี้ยงในบ่อปลาเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของปลาวัยอ่อน รวมถึงใช้เป็นอาหารปลา
4. ผักกระเฉดใช้เลี้ยงในบ่อระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อกำจัดสาร BOD หรือ โลหะหนัก
ยอดผักกระเฉด

คุณค่าทางโภชนาการของผักกระเฉด (100 กรัม)
• พลังงาน : 29 กิโลแคลอรี่
• ความชื้น : 89.4 กรัม
• โปรตีน : 6.4 กรัม
• ไขมัน : 0.4 กรัม
• คาร์โบไฮเดรต : ไม่พบ
• แคลเซียม : 387 มิลลิกรัม
• ฟอสฟอรัส : 7.0 มิลลิกรัม
• เหล็ก : 5.3 มิลลิกรัม
• เบต้า-แคโรทีน : 3,710 ไมโครกรัม
• ไทอะมีน : 0.12 มิลลิกรัม
• ไรโบฟลาวิน : 0.14 มิลลิกรัม
• วิตามินบี 1 : 0.12 มิลลิกรัม
• วิตามินบี 2 : 0.14 มิลลิกรัม
• ไนอะซีน : 3.2 มิลลิกรัม
• วิตามิน C : 22 มิลลิกรัม
• เส้นใย : 3.8 มิลลิกรัม
• กาก : 1.8 กรัม
• เถ้า : 1.2 กรัม

ที่มา : มูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย (2541)(1), ยุวดี (2545)(2)

สรรพคุณผักกระเฉด
1. ช่วยกระตุ้น และส่งเสริมการสร้างวิตามิน เอ จากสารเบต้าแคโรทีนที่พบมากในใบ และยอดอ่อน รวมถึงดอกอ่อน
2. ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อมหรือเป็นโรคตาอื่นๆ จากการเพิ่มวิตามิน เอ ของร่างกาย
3. ช่วยบำรุงผิวพรรณให้แลดูสดใส ลดการหยาบกร้านหรือหมองคล้ำของผิว
4. ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายให้มีประสิทธิภาพ
5. ยอดอ่อนมีกากอาหารสูง ช่วยส่งเสริม และกระตุ้นการขับถ่าย
6. ช่วยลดอาการร้อนใน
7. ช่วยบำรุงตับ และลดพิษสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อตับ
8. ยอดอ่อน และนมผักกระเฉดช่วยลดไข้

การปลูกผักกระเฉด
ผักกระเฉดเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี เป็นพืชที่เติบโตได้ดีเฉพาะในแหล่งน้ำขัง ไม่สามารถปลูกบนบกในดินที่ไม่มีน้ำขังได้

ผักกระเฉดเป็นพืชที่ไวต่อแสง ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของยอด และลำต้นโดยตรง โดยผักกระเฉดจะเติบโตแทงยอดมากในช่วงฤดูร้อน มีนาคม-พฤษภาคม ที่มีช่วงกลางวันยาว และจะเติบโตได้ดีลดลงเล็กน้อยในช่วงฤดูฝน แต่ในช่วงฤดูหนาว เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ผักกระเฉดจะไม่ค่อยเติบโตหรือแทงยอดใหม่ ยอดสั้นหยิกงอไม่น่ารับประทาน

วิธีปลูกผักกระเฉด
1. การปลูกในแปลงน้ำตื้น
วิธีนี้คล้ายกับการทำนา ด้วยการปลูกในโคลนตมที่มีน้ำขังสูงประมาณ 25-35 ซม. หรือบางพื้นให้น้ำขังสูงกว่า 50 ซม. เตรียมแปลงด้วยการไถกลบดิน และหมักวัชพืชให้เน่า เหมือนกับการไถเทือกทำนา หลังจากนั้น นำผักกระเฉดตัดให้มีความยาวประมาณ 40-50 ซม. ซึ่งขึ้นอยู่กับระัดับน้ำที่ขังในแปลง ก่อนปักดำลงโคลนให้แน่น ลึก 5-7 ซม. โดยต้องให้ส่วนยอดโผล่น้ำ 15-20 ซม. เป็นอย่างต่ำ ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1.5-2.0 เมตร แต่ละจุดใช้ต้นพันธุ์ 3-5 ต้น หลังจากที่เริ่มแทงยอดใหม่ ให้คอยเขี่ยยอดเพื่อไม่ให้ยอดเกยกัน 2-3 ครั้ง/เดือน

นอกจากการปลูกในแปลงแบบสีเหลี่ยมที่มีน้ำขังทั้งแปลงแล้ว ในบางพื้นที่เกษตรกรมีการขุดเป็นร่องน้ำที่เว้นด้วยคันดินเพื่อสำหรับเข้าเดินเก็บยอดได้ง่าย

2. การปลูกลอยน้ำในบ่อลึก/การเลี้ยงผักกระเฉด
การปลูกลอยในบ่อน้ำลึก หรือ อาจเรียกว่า การเลี้ยงผักกระเฉด เพราะไม่ใช้วิธีการปลูก ซึ่งนิยมเลี้ยงในบ่อน้ำสาธารณะตามบ่อเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำหรือตามพื้นที่ว่างของแม่น้ำลำคลอง เนื่องจากเกษตรกรจะไม่ใช้วิธีนี้ในบ่อลึกของตนเอง เพราะบ่อขนาดใหญ่สามารถทำการประมงอาชีพอื่นที่คุ้มค่ากว่า หากมีการเลี้ยงก็เพื่อไว้รับประทานหรือเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น

การปล่อยเลี้ยงจะใช้ต้นผักกระเฉด 4-6 ต้น มัดเกาะกับไม้ค้ำยันที่ปักในน้ำเพื่อให้ต้นผักกระเฉดลอยติดกับที่ไม่ไหลตามกระแสน้ำหรือออกห่างจากจุดที่กำหนด ระยะห่างของกอที่เลี้ยงประมาณ 1-2 เมตร

การใส่ปุ๋ย
1. การปลูกในแปลงน้ำตื้น
ในแปลงน้ำตื้นจะมีน้ำขังไม่มาเหมือนการปลูกลอยในบ่อน้ำลึก ดังนั้น ปริมาณปุ๋ยที่ให้จะไม่มากนัก โดยหว่านปุ๋ยหลังจากปลูกแล้ว 1-2 อาทิตย์ ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นสูตร 12-12-6 หรือปุ๋ยยูเรีย อัตราที่ให้ 10-20 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยคอก โดยเฉพาะปุ๋ยคอกจากมูลไก่หรือมูลนกจะยิ่งดี เพราะไนโตรเจนมากกว่ามูลโคกระบือ อัตราที่หว่าน 200-300 กก./ไร่ โดยจะไม่หว่านมาก เพราะอาจทำให้น้ำเน่าได้

2. การปลูกลอยน้ำในบ่อลึก
การปลูกในบ่อน้ำลึกที่เป็นน้ำไหล เกษตรกรจะไม่หว่านปุ๋ย เพราะปุ๋ยจะไหลตามน้ำไปหมด ไม่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผักกระเฉด แต่หากน้ำนิ่ง เกษตรกรบางรายอาจมีการหว่านปุ๋ยร่วมด้วย ซึ่งอาจใช้ทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยคอกร่วมกันในอัตราเดียวกันหรือมากกว่าในแบบการปลูกในแปลงน้ำตื้น

เทคนิคทำให้นมขาว
การเลี้ยงในแปลงน้ำตื้นที่มีน้ำนิ่ง เกษตรกรจะมีเทคนิคที่ช่วยให้นมต้นผักกระเฉดมีสีขาวสวย และยอดอวบ ด้วยการเลี้ยงแหนร่วมด้วย แหนนี้จะไปเกาะที่นมผักกระเฉดหรือยอดอ่อนซึ่งจะช่วยให้นมมีสีขาวสวยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องปล่อยแหนในปริมาณที่พอเหมาะ และต้องคอยกำจัดออกทุกเดือน เพราะหากมีจำนวนมากจะทำให้เกิดการแพร่กระจาย และระบาดในแหล่งน้ำใกล้เคียงได้

เทคนิคทำให้ยอดไม่มีนมติด
เทคนิคนี้ใช้เพื่อไม่ให้ยอดเกิดนมหุ้มติด โดยเฉพาะในส่วนยอดที่ใช้รับประทาน ด้วยการรวบต้นผักกระเฉด 5-8 ต้น มัดกับไม้ไผ่ตามความยาวของลำต้น โดยเว้นไม่รัดเชือกส่วนปลายยอด 10-15 ซม. เพื่อให้ปลายยอดชูขึ้นใกล้ผิวน้ำ ประมาณ 10-15 ซม. จากนั้น จับกดให้จมน้ำทั้งลำ โดยห้ามให้ยอดโผล่น้ำ แล้วใช้ไม้ตอกปักยึดไว้ ทั้งนี้ วิธีนี้จะใช้ได้ผลในกรณีที่ระดับน้ำไม่ลึกมากเท่านั้น แต่หากทำในระดับน้ำที่ลึกมากอาจทำให้ลำต้นเน่าตายได้

การเก็บยอดอ่อน
หลังจากการปลูกแล้ว 15-20 วัน จะสามารถเก็บยอดได้ ซึ่งต้องทยอยเก็บเป็นแปลงๆไป และเว้นช่วงห่างของการเก็บประมาณ 10-15 วัน สำหรับการเก็บครั้งต่อไป ส่วนการเก็บในบ่อน้ำลึกนั้น โดยทั่วไปจะมีช่วงการเก็บยอดที่นานกว่า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-50 วัน หลังการปล่อยเลี้ยง และมีระยะเก็บในครั้งต่อไปประมาณ 30-40 วัน เนื่องจาก การเลี้ยงแบบนี้ ผักกระเฉดจะได้รับสารอาหารที่น้อยกว่าการปลูกในแปลงน้ำตื้น

การเก็บยอดในแปลงน้ำตื้นนั้นทำได้ง่าย และสะดวกกว่าบ่อน้ำลึก โดยสามารถเดินลงเก็บในแปลงได้เลย ส่วนการเลี้ยงในบ่อน้ำลึกมักใช้เรือหรือต้องลอยน้ำหรือเดินในน้ำลึกเข้าเก็บซึ่งลำบากมาก

การเก็บควรเก็บในช่วงเช้าตรู เนื่องจากยอดผักกระเฉดจะเต่งตึง คลี่ยอดอ่อนออกสวยงาม โดยอาจใช้มือเด็ดหรือใช้มีดตัด แต่ทั่วไปเกษตรกรมักใช้มือเด็ด เพราะลำต้นหรือยอดผักกระเฉดสามารถเด็ดด้วยมือได้ง่าย

ความยาวในการเด็ดยอดที่ 20-30 ซม. สำหรับนำมาประกอบอาหารเอง ส่วนการเก็บเพื่อจำหน่าย เรามักพบเกษตรกรตัดยอดผักกระเฉดยาว 50-80 ซม. บรรจุใส่ถุง แต่ละถุงมีประมาณ 25-30 มัด แต่ละมัดมี 10-15 ต้น ทั้งนี้ การที่ตัดยอดยาว อาจเป็นเพราะแปลงปลูกหรือเลี้ยงมีระยะการเก็บที่ค่อนข้างนาน ซึ่งมักเป็นกับกอผักเกษตรที่กอใหญ่ และเป็นแปลงปลูกที่มีพื้นที่มาก ทำให้ผักกระเฉดเติบโตได้ยาวในช่วงเว้นการเก็บ ดังนั้น จึงต้องตัดยอดให้มีความยาวมากไว้ก่อน เพื่อง่ายต่อการจัดการ และกระตุ้นให้ผักกระเฉดแทงยอดใหม่ที่มากขึ้น

สำหรับผักกระเฉดที่ไม่มีนมจะมีราคาแพงมากกว่าผักกระเฉดที่มีนมติด

โรค และแมลงศัตรู
โรคที่มักเกิดกับต้นผักกระเฉด คือ โรคราน้ำค้าง ที่สังเกตได้จากเกิดเป็นจุดสีเหลืองบนใบ ทำให้ใบร่วง หากเกิดบนยอดจะทำให้ยอดกุด ยอดหยิกงอ ส่วนนมที่หุ้มลำจะลีบ และมีสีน้ำตาล

สำหรับแมลงศัตรูตามธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยชนิดต่างๆ อาทิ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เป็นต้น ซึ่งมักเข้าจับ และดูกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อนจนทำให้ยอดกุด ยออดหยิกงอไม่น่ารับประทาน นอกจากนั้น ยังพบหนอนกระทู้ และหนอนใยผัก ที่ชอบเจาะลำต้นผักกระเฉด ทำให้ผักกระเฉดหลุดขาด และเน่าตาย ส่วนด้วงหมัดผักในระยะหนอนจะชอบกัดกินรากอ่อน และตัวเต็มวัยจะชอบกัดกินใบ และยอดอ่อนทำให้ไม่มียอดหรือยอดขาด

เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย, 2541. มหัศจรรย์ผัก 108. พิมพ์ครั้งที่ 2. สมุทรปราการ.
2. ยุวดี จอมพิทักษ์, 2545.อาหารธรรมชาติ ผักพื้นเมืองโภชนาการสูงเหลือเชื่อ.