ทุเรียน สรรพคุณ และการปลูกทุเรียน

Last Updated on 17 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset

ทุเรียน (Durion) เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจาก มีเนื้อสีเหลืองอร่าม เนื้อกรอบหนา ให้รสหวานมัน และมีกลิ่นหอมแรง จนได้ฉาญาว่า ราชาแห่งผลไม้ ซึ่งมีหลากหลายพันธุ์ให้เลือกรับประทาน ปัจจุบันราคาจำหน่ายกิโลกรัมละประมาณ 50-140 บาท แต่หากเป็นทุเรียนที่หายาก และมีรสอร่อยมาก เช่น พันธุ์ก้านยาว จะมีราคาสูงมากถึงลูกละเป็นหลักพันบาทหรือสูงกว่า

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Durio zibethenus Linn.
• ชื่อสามัญ
– แฮลแลนด์ : Docrian, Doorian, Strinkvrucht
– อังกฤษ : Durion, Civet-cat tree
– ฝรั่งเศส : Durione, Dourian, Dourian, Surian
– เยอรมัน : Durio, Durion, Zibethbaum

อนุกรมวิธาน
– Order : Malvales
– Family : Bombacaceae
– Genus : Durio
– Species : Zibethinus

ประวัติทุเรียน
ถิ่นกำเนิดของทุเรียนนั้น ดั้งเดิมเชื่อกันว่าอยู่ในแถบเมืองทะวาย เมืองมะริด และเมืองตะนาวศรีของประเทศพม่า ซึ่งเป็นทุเรียนป่า และแพร่เข้ามาในประเทศไทยใน 2 ทาง คือ
1. เข้ามาในปีพ.ศ. 2330 พร้อมกับทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหลังจากยกทัพกลับจากการไปตีเมืองทะวาย, มะริด และตะนาวศรี ที่ตีไม่สำเร็จ โดยปิดล้อมเมืองนาน 2-3 เดือน ซึ่งขณะปิดล้อมเมืองเป็นช่วงอาหารขาดแคลน ทัพนายกองจึงเข้าหาอาหาร และได้นำเมล็ดทุเรียนติดตัวกลับมาด้วย

2. ทุเรียนจากเมืองทะวาย, มะริด และตะนาวศรี ได้แพร่เข้ามาทางแหลมมาลายูในทางเรือที่ขณะนั้นมีการติดต่อค้าขายกับเมืองของพม่า

ทุเรียนมีการแพร่เข้ามาในแถบภาคกลางในสมัยปลายอยุธยาจนถึงช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในหนังสือพฤกษา และสัตวาภิธาน ของพระยาศรีสุนทรโวหารที่กล่าวถึงพันธุ์ทุเรียนไว้ 68 พันธุ์

ที่มา : สืบศักดิ์ นวจินดา (2510)(1)

พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้อธิบายถึงประวัติทุเรียนในหนังสือพิมพ์กสิกร ปี พ.ศ. 2492 ว่า การแพร่กระจายทุเรียนเข้ามาในกรุงเทพมหานครหรือภาคกลางเริ่มมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณปี พ.ศ. 2318 และชาวบ้านเริ่มทำสวนทุเรียนครั้งแรกในตำบลบางกร่าง บริเวณแถวคลองบางกอกน้อย ในช่วงปี พ.ศ. 2397 โดยในช่วงแรกนิยมปลูกด้วยเมล็ด แต่ต่อมานิยมปลูกด้วยกิ่งตอน ซึ่งมี 3 พันธุ์ที่นิยม คือพันธุ์อีบาตร พันธุ์ทองสุข และพันธุ์การะเกด

ผลทุเรียน

ลักษณะทางพฤกษศาตร์
ลำต้น
ทุเรียนเป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูง 20-40 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 50-120 เซนติเมตร มีอายุได้นานกว่า 80-100 ปี หรือมากกว่า เปลือกลำต้นมีสีเทาแก่ เปลือกแข็งเป็นสะเก็ด และแตกเป็นทางยาว ลำต้นมีเนื้อไม้ค่อนข้างอ่อน ไม่นิยมนำมาแปรรูป แต่อาจใช้สับเป็นไม้เพาะเห็ดหรือใช้ทำปุ๋ยได้ กิ่งแขนงมีลักษณะกลม และเล็ก กิ่งอ่อนมีสีน้ำตาลเทาหรือสีทองแดง

ทรงพุ่มทุเรียน มี 3 แบบ ได้แก่
– ทรงพุ่มสีเหลี่ยม ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว
– ทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำ ฐานกว้าง ได้แก่ พันธุ์ชะนี
– ทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำ ฐานแคบ ได้แก่ พันธุ์กบต่างๆ

ใบ
ใบทุเรียนเป็นใบเลี้ยงคู่ เกิดสลับกันตรงกันข้ามบนกิ่ง ใบมีลักษณะหนา และแข็ง กว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ยาวประมาณ 6-8 นิ้ว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ไม่มีหูใบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ส่วนด้านล่างของใบมีสีน้ำตาล และมีขนปกคลุม เส้นกลางใบ และก้านใบมีสีน้ำตาล ก้านใบมีสองตอน ครึ่งท่อนแรกจากฐานใบมีขนาดใหญ่ และครึ่งท่อนหลังจนถึงกิ่งมีขนาดเรียวเล็กลง ใบอ่อนมีลักษณะพับที่เส้นกลางใบเข้าหากัน

ดอก
ดอกทุเรียนมีลักษณะเป็นช่อ และเป็นดอกสมบูรณ์เพศ แทงออกตามตาของกิ่งที่แยกออกจากลำต้น ดอกระยะแรกมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆสีน้ำตาลเข้ม แล้วค่อยเจริญเป็นดอกตูม ดอกจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยง กลีบรองดอก และกลีบดอก ด้านในดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ดอกแต่ละช่อมีดอก 5-30 ดอก
– กลีบเลี้ยง เป็นกลีบชั้นนอกสุดของดอกทุเรียน มีสีน้ำตาลอมเขียว โดยขณะดอกอ่อนหรือดอกตูม กลีบเลี้ยงนี้จะหุ้มดอกไว้หมด เมื่อดอกบานออก กลีบเลี้ยงจะแยกเป็นแฉก 2-3 แฉก
– กลีบรอง เป็นกลีบชั้นกลาง มีสีขาว ชาวบ้านเรียกว่า หม้อตาล เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับหม้อตาลโตนด บริเวณฐานมีลักษณะเป็นกระเปราะโปร่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม. ซึ่งเป็นบริเวณที่เก็บน้ำหวานของดอก กลีบจะมีสีขาวอมน้ำตาลหรือเป็นสีเหลือง
– กลีบดอก มีลักษณะมน สีขาวนวล เรียงซ้อนกันเล็กน้อย กลีบดอกจะมีประมาณ 4-5 กลีบ

ผล และเมล็ด
ผลทุเรียนจัดเป็นผลเดี่ยว ผลมีหลายแบบ อาทิ กลม กลมรี ก้นป้าน ผลมีเปลือกหนา และเป็นหนามรูปปิรามิด ผลมีลักษณะเป็นร่องเหลี่ยม เรียกว่า “พู” ด้านในประกอบด้วยเมล็ด และเนื้อหุ้มเมล็ดที่มีสีต่างๆ ตั้งแต่สีขาวเหลือง เหลืองอ่อนจนถึงสีจำปา แต่ละพูมี 1-3 เมล็ด ส่วนเมล็ดมีรูปร่างคล้ายรูปหัวใจ ขนาดเมล็ดใหญ่ มีสีต่างๆ ตามพันธุ์ เมล็ดแก่จัดมีสีน้ำตาลอมเหลืองหรืออมแดง

สรรพคุณทุเรียน
รากทุเรียน (รสขมอมฝาด)
– ช่วยลดไข้
– รักษาอาการท้องร่วง

ใบทุเรียน (รสขมอมฝาด)
– ใช้บรรเทาอาการไข้
– แก้ดีซ่าน
– ช่วยขับพยาธิ
– ช่วยรักษาแผล แก้แผลมีน้ำหนอง

เปลือกทุเรียน (รสขมอมฝาด)
– ใช้รักษาอาการผื่นแพ้
– ใช้รักษาโรคผิวหนัง
– ช่วยสมาน และรักษาแผล
– ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย
– แก้แผลพุพองจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก
– รักษาฝี
– แก้โรคตานซาง

เนื้อทุเรียน (รสหวาน และออกร้อนเล็กน้อย)
– ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด
– ช่วยบำรุงกำลัง ให้พลังงาน และความร้อนแก่ร่างกาย
– ช่วยพักฟื้นจากโรคหรือหายจากบาดแผลได้เร็ว
– รักษาโรคผิวหนัง
– ช่วยให้ฝียุบ และแห้งเร็ว
– ช่วยขับพยาธิ

เพิ่มเติมจาก : 2)

พันธุ์ทุเรียน
สายพันธ์ุทุเรียนของไทยมีมากถึง 227 พันธุ์ สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้ 6 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มกบ ประกอบด้วย 46 สายพันธุ์ย่อย เช่น กบชายน้ำ กบตาขำ กบแม่เฒ่า กบตาสาย
2. กลุ่มลวง ประกอบด้วย 12 สายพันธุ์ย่อย เช่น อีลวง ชะนี แดงรัศมี
3. กลุ่มก้านยาว ประกอบด้วย 8 สายพันธุ์ย่อย เช่น ก้านยาววัดสัก ก้านยาวพวง
4. กลุ่มกำปั่น ประกอบด้วย 14 สายพันธุ์ย่อย เช่น กำปั่นตาแพ กำปั่นเนื้อขาว กำปั่นพวง หมอนทอง
5. กลุ่มทองย้อย ประกอบด้วย 14 สายพันธุ์ย่อย เช่น ทองย้อยเดิม ทองย้อยฉัตร
6. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เป็นกลุ่มทุเรียนที่ยังไม่สามารถจำแนกกลุ่มไม่แน่ชัด ประกอบด้วย 81พันธุ์

พันธุ์แบ่งตามน้ำหนัก และขนาดผล
1. ทุเรียนพันธุ์เบา
พันธุ์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทองเป็นพันธุ์ที่ตกผลเร็ว ระยะปลูกระหว่างต้นหรือแถวประมาณ 10 x 10 เมตร ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูก (กิ่งตอน) ถึงให้ผลผลิตใช้เวลาประมาณ 4-6 ปี จึงทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาด ก่อนดอกจะเริ่มผลิประมาณ 163 – 165 วัน ผลจะแก่เก็บได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม

2. ทุเรียนพันธุ์กลาง
พันธุ์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว และพันธุ์กบต่างๆ ระยะหลุมปลูกประมาณ 11 x 11 เมตร ทุเรียนพันธุ์นี้จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงผลิตผลใช้เวลา 6-8 ปี จะช้ากว่าพันธุ์เบาเล็กน้อย ช่วงระยะที่ดอกเริ่มบานประมาณกลางเดือนกุมภาพันธุ์ จะให้ผลแก่เก็บได้ในช่วงประมาณต้นเดือนมิถุนายน นับระยะเวลาหลังจากดอกบานประมาณ 122-130 วัน

3. ทุเรียนพันธุ์หนัก
พันธุ์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ พันธุ์ทองย้อยฉัตร พันธุ์อีหนัก และพันธุ์กำปั่น ระยะปลูกประมาณ 12 x 12 เมตร ใช้ระยะเวลามากกว่า 8 ปี ขึ้นไปนับจากเริ่มปลูก จึงจะให้ผลแก่เก็บได้ ช่วงเวลาบานของดอกจะพร้อมๆ กันกับพันธุ์กลางคือ ประมาณ 140 – 150 วัน ผลจึงจะแก่และเก็บได้ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม

พันธุ์ที่นิยมปลูก
1. พันธุ์ชะนี
พันธุ์ชะนีมีลักษณะลำต้นเล็ก รูปกรวยคว่ำ ฐานกว้าง แตกกิ่งมากตั้งแต่ระดับล่างของลำต้นทำให้มีทรงพุ่มทึบ ใบดก ใบมีรูปไข่ขนาดเล็ก ติดผลเร็วกว่าพันธุ์อื่น ผลจะแก่พร้อมเก็บประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ผลมีรูปทรงกระบอกหรือทรงไข่ ขั้วผลใหญ่ กลางผลใหญ่ ก้นผลแหลม ร่องพูไม่ลึก มีหนามรูปทรงกระโจม หนามมีขนาดใหญ่ และสั้น ระยะหนามห่างกัน ผลมีขนาดปานกลาง นํ้าหนักผลประมาณ 1.5- 4.2 กิโลกรัม เนื้อหุ้มผลบาง มีสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียด และเหนียว ส่งกลิ่นฉุนแรง เนื้อผลห่ามให้รสหวานมัน เนื้อผลสุกหรือสุกจัดให้รสหวานจัด เมล็ดภายในค่อนข้างเล็ก และมีเมล็ดน้อย เป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรครากเน่า โคนเน่าได้ดี

ชะนีไข่

ขอบคุณภาพจาก catmint.in.th

2. พันธุ์หมอนทอง
พันธุ์หมอนทองเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมบริโภคมากที่สุด ลำต้นมีลักษณะรูปกรวยคว่ำ ฐานแคบ แตกกิ่งค่อนข้างห่าง ทรงพุ่มแลดูโปร่ง ใบมีรูปทรงยาวเรียวขนาดใหญ่ ผลมีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์อื่นๆ ผลมีรูปไข่ค่อนข้างยาวหรือทรงกระบอก ก้านผลใหญ่ ผลส่วนบนค่อนข้างกว้าง ก้นผลแหลม พูมีขนาดใหญ่ เปลือกบางปานกลาง หนามเป็นเหลี่ยมแหลมยาว มีหนามขนาดเล็กขึ้นแซมประปราย ที่เรียกว่า เขี้ยวงู เนื้อหุ้มเมล็ดหนามาก และหนากว่าทุกพันธุ์ เนื้อสุกมีสีเหลืองอ่อน เนื้อค่อนข้างละเอียด ไม่เหนียวติดมือ เนื้อห่ามให้รสหวานมัน เนื้อสุกจัดให้รสหวานจัด เนื้อมีกลิ่นหอมปานกลาง เมล็ดมีน้อย และมักเป็นเมล็ดขนาดใหญ่หรือเมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่ นํ้าหนักผลประมาณ 2.0-4.5 กิโลกรัม เป็นพันธุ์ที่ไม่ทนทานต่อโรครากเน่า-โคนเน่า

หมอนทอง

3. พันธุ์กระดุมทองทอง
พันธุ์นี้ต้นมีลักษณะเป็นทรงกรวย ฐานกว้าง แตกกิ่งห่าง ทำให้พุ่มโปร่ง ใบมีลักษณะกว้าง และสั้น  โคนใบมน และปลายใบแหลม แต่ใบมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ขั้วผลค่อนข้างเล็ก และสั้น ผลมีลักษณะป้านตรงที่หัว และก้นผล ก้นผลบุ๋มเล็กน้อย ผลสามารถตั้งได้ดี ผลมีขนาดเล็กถึงปานกลาง นํ้าหนักประมาณ 1.0 – 3.5 กิโลกรัม หนามมีขนาดเล็ก และสั้น แต่เกิดถี่ ผลมีร่องพูค่อนข้างลึก เนื้อมีสีเหลืองเข้มค่อนข้างบาง มีเนื้อละเอียด แต่ไม่เหนียวติดมือ ส่งกลิ่นค่อนข้างแรง แต่ให้รสหวานจัด ส่วนเมล็ดมีขนาดใหญ่ เป็นพันธุ์ที่ไม่ทนต่อโรครากเน่าโคนเน่า

4. พันธุ์ก้านยาว
พันธุ์นี้ต้นมีลักษณะ เป็นทรงกรวย กิ่งขนานกับพื้นดิน กิ่งยาว และทิ้งกิ่งง่าย ใบมีขนาดใหญ่ ปลายใบกว้างสอบมาทางโคนใบปลายใบสอบแหลม ผลมีทรงกลม และสั้น ด้านก้นผลกลมใหญ่ ด้านขั้วผลมน มีก้านผลยาว และยาวมากกว่าพันธุ์อื่นๆ ไหล่ผลกว้างเรียวไปทางก้นผล พูไม่เห็นเด่นชัด พูเต็มทุกพู ผลค่อนข้างใหญ่ มีนํ้าหนักตั้งแต่ 1.5 – 4.5 กิโลกรัม ผิวของผลมีสีเขียว หนามเล็กถี่สั้นสมํ่าเสมอทั้งผล เนื้อละเอียด เนื้อสีเหลือง เนื้อไม่หนา ให้รสหวานมัน กลิ่นไม่แรงมาก มีเมล็ดมีมาก และค่อนข้างใหญ่ เป็นพันธุ์ที่ไม่ทนต่อโรครากเน่าโคนเน่า

ก้านยาว

ขอบคุณภาพจาก www.weekendhobby.com

พันธ์ทุเรียน

ขอบคุณภาพจาก meekhao.com

การปลูกทุเรียน
การเตรียมกล้าพันธุ์
1. การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการเสียบยอด
ในสมัยปัจจุบันจะไม่นิยมปลูกด้วยต้นกล้าที่เพาะด้วยเมล็ดโดยตรง เพราะมักทำให้ผลมีลักษณะไม่คงที่ แต่จะเพาะเมล็ดเพื่อใช้เป็นต้นตอในการเสียบยอด และการทาบกิ่งแทน ซึ่งจะทำให้ได้เหง้าหรือลำต้นที่มาจากการเพาะเมล็ด ส่วนลำต้นส่วนปลายจะได้จากกิ่งของลำต้นที่มีลักษณะดี ทำให้ลักษณะผลมีความคงที่ และให้ผลที่เร็วกว่า

หลังได้เมล็ดทุเรียนแล้ว ให้คัดแยกเมล็ดที่มีลักษณะอวบใหญ่ ไม่มีรอยกัดแทะของแมลงหรือรอยแผลต่าง และเป็นเมล็ดที่ได้มาจากผลที่สุกเต็มที่ หลังจากนั้น ให้รีบนำมาเพาะได้ทันที มิฉะนั้น โอกาสการงอกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ปกติหลังจากแยกเนื้อแล้วผึ่งให้แห้งเก็บไว้ไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์

การเพาะเมล็ดสามารถเพาะในภาชนะหรือเพาะในแปลงก็ได้ วัสดุเพาะที่นิยมใช้ คือ ขุยมะพร้าวหรือแกลบดำผสมกับดิน อัตราส่วน 2:1 หรือ 1:1 ภาชนะที่ใช้อาจเป็นกระถางหรือถุงพลาสติกเพาะกล้าไม้

หลังจากเตรียมถุง และวัสดุเพาะแล้ว ให้ฝังเมล็ดลงลึกในถุงประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร โดยให้วางเมล็ดด้วยการเอาด้านที่ติดกับแกนผลคว่ำลงหากเพาะในแปลง ควรให้เมล็ดห่างกันประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อให้เมล็ดงอกได้สะดวก หากเพาะใส่ถุง ให้วางเรียงในแปลงเพาะที่กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามต้องการ แปลงเพาะควรอยู่ในที่มีร่มเงาพอสมควร หากถูกแดดจัดจะทำให้อัตราการงอกลดลง แต่ไม่ควรปิดทึบ ต้องให้ลมผ่านได้สะดวก เมล็ดจะงอกภายใน 3 วัน รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ เมื่อทุเรียนมีใบจริง 4 ใบ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากเพาะก็สามารถย้ายปลูกหรือใช้สำหรับเสียบยอดต่อได้

2. การขยายพันธุ์ด้วยการตอน
เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ด และเสียบยอดมากกว่า แต่วิธีนี้จะได้ต้นที่ให้ผลเร็ว ผลมีลักษณะเหมือนกับต้นแม่ ช่วงที่เหมาะสมในการตอนคือ ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

การเลือกกิ่งตอน
1. ควรเป็นกิ่งไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป กิ่งมีใบแก่ 1-3 ใบ ขึ้นไป ควั่นกิ่ง และตอนให้กิ่งยาวประมาณ 60-90 เซนติเมตร
2. ควรเลือกกิ่งกระโดง (กิ่งตั้งตรงขึ้น) เพื่อรากจะได้งอกรอบกิ่ง
3. ควรเลือกกิ่งที่อยู่รอบนอกที่สามารถรับแสงแดดได้ดี แต่ไม่ควรเป็นกิ่งที่ถูกแดดจัดหรืออยู่ในร่มมากเกินไป เพราะจะทำให้รากงอกช้า

วิธีการตอน
1. ควั่นกิ่งเป็นรอบ 2 รอบ ห่างจากยอดประมาณ 60 เซนติเมตร ควั่นเป็นแผลกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร
2. แกะวงเปลือกนอกให้หมด ใช้มีดขูดบริเวณที่ลอกเปลือกออกเบาๆ เพื่อทำลายเยื่อเจริญซึ่งทำหน้าที่สร้างเปลือกขึ้นมาใหม่ได้ ทั้งนี้ ควรระวัง หากขูดเนื้อไม้แรงเกินไป จะทำให้ท่อน้ำลำเลียงเสียหายทำให้ยอดเหี่ยวตายได้
3. ใช้สารเร่งรากทาบริเวณขอบเปลือกติดกับรอยควั่นตอนบน
4. ใช้ขุยมะพร้าวชุบน้ำพอชุ่ม แล้วหุ้มรอยควั่นเป็นกระเปราะ
5. ใช้ผ้าพลาสติกตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง และยาวที่พอหุ้มกระเปาะไว้ได้ วิธีการหุ้มให้จัดขอบพลาสติกที่อยู่ตรงข้ามให้ตรงกัน แล้วม้วนผ้าจนมิดกระเปราะ แล้วใช้ลวดหรือเชือกพันรัดปลาย 2 ข้าง ให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้ไอน้ำลอดออกมาได้

วิธีการปลูก
เกษตรกรในภาคกลางมักปลูกทุเรียนแบบยกร่อง ส่วนเกษตรกรในภาคตะวันออก และภาคใต้มักปลูกในสวนแบบไม่ยกร่อง ระยะปลูก 8×12 เมตร ขุดกว้าง 1×1 เมตร ด้วยวิธีการปลูก 2 วิธี คือ
1. การปลูกแบบขุดหลุม เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำไม่เพียงพอ
2. การปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ฝนตกชุกหรือพื้นที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมขัง

วิธีปลูกแบบขุดหลุม
1. ขุดหลุมขนาด กว้าง ยาว ลึก ประมาณ 30x30x50 เซนติเมตร
2. ผสมดินกับปุ๋ยคอกหรือเศษวัสดุอินทรีย์รองก้นหลุม
3. ใช้มีดกรีดถุงต้นพันธุ์ แล้วครี่เปิดให้เห็นดินก้นถุง แล้วตัดดิน และรากที่พันขดบริเวณก้นถุงออก
4. วางต้นพันธุ์ โดยให้ถุงลงลึกด้านล่างจากผิวดิน 2-3 เซนติเมตร และให้รอยต่อของยอดเสียบสูงกว่าระดับดิน
5. กลบดินโดยรอบ และอัดดินให้แน่นพอประมาณ
6. ใช้ไม้ปักเสียบ แล้วผูกยึดต้นกล้าติดไว้ป้องกันการล้ม แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

วิธีปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก
วิธีนี้ ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากเกษตรกรจะใช้การจัดการด้านอื่นที่ช่วยป้องกันปัญหาน้ำขังหรือน้ำท่วมแทน เช่น การขุดร่องรอบแปลง หรือ ใช้วิธีการปลูกแบบยกร่องแทน

วิธีนี้ทำได้โดยการขุดดินพูนเป็นกองให้สูง ก่อนจะนำต้นกล้ามาปลูกบนกองดินที่เตรียมไว้ และเมื่อต้นกล้าใหญ่ขึ้นจะต้องขุดดินพูนเป็นกองให้อย่างต่อเนื่องเป็นปีๆไป

การให้น้ำ
ทุเรียนในระยะแรก หากฝนไม่ตกจะให้น้ำทุกวัน แต่อย่าให้แฉะมาก และให้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันนาน 1-2 เดือน หลังจากนั้นอาจให้เป็นวันเว้นวันหรือ 2 วันครั้งก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชื้นของดิน

สำหรับทุเรียนที่ให้ผลแล้ว เมื่อถึงฤดูที่ไม่มีฝน ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ แต่หากปลูกในพื้นที่แล้งจัดหรือดินเป็นทรายมากก็จะให้เป็นบางครั้งเพื่อไม่ให้ใบเหี่ยว การให้น้ำจะถี่มากขึ้นในทุกพื้นที่ เมื่อเมื่อทุเรียนออกดอก แล้วให้ตามปกติ 5-7 วัน/ครั้ง แต่หลังดอกบานแล้ว ให้ลดปริมาณน้ำที่ให้ลง เพื่อป้องกันการร่วงของดอก หลังจากดอกผสมติดแล้ว ประมาณ 10-15 วัน หลังดอกบาน จึงค่อยให้น้ำตามปกติจนถึงระยะที่ผลเริ่มแก่ แล้วค่อยลดปริมาณน้ำลงอีกครั้ง

การทำโคน
ระยะแรกเมื่อทุเรียนอายุได้ 8-10 เดือน ดินบริเวณตามโคนต้นจะเริ่มจับตัวแข็งทำให้น้ำ และแสงสว่างผ่านลงไปในดินได้ไม่สะดวก ควรเอาจอบฟันดินรอบๆบริเวณรอบโคน เพียงตื้นๆ แต่อย่าฟันให้ใกล้โคนต้นนักเสร็จแล้วหาหญ้าแห้งหรือฟางคลุมบริเวณโคนที่ได้พรวดแล้ว อย่าให้ถูกแสงมากนัก เพราะจะกระทบกระเทือนถึงระบบรากได้ เมื่อทุเรียนอายุมากกว่า 1 ปีแล้ว การเจริญเติบโตทั้งรากและลำต้นจะมีมากขึ้น ก็จำเป็นต้องพรวดดินเป็นประจำทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง คือ ช่วงปลายฝนและต้นฝนเมื่อพรวดดินแล้วควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้วต้นละประมาณ 20 – 30 กก. เพื่อให้ดินร่วนซุยขึ้น หากพบรากทุเรียนโผล่พ้นดินควรกลบรากเสียด้วย

การใส่ปุ๋ย
1. ทุเรียนเล็กที่ยังไม่ให้ผลจะต้องพรวดดินให้ร่วนซุยอยู่เสมอ และใส่ปุ๋ยไปในตัวด้วย อาจใส่ปุ๋ยโดยการหว่านรอบโคนห่างโคนต้นประมาณ 1 ศอก แล้วพรวนดินกลบ หรืออาจใช้วิธีเจาะเป็นรูแล้วค่อยโรยปุ๋ยใส่ก็ได้ หลังจากใส่ปุ๋ยแล้วให้รดน้ำเสมอ ปุ๋ยที่ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12
– ปีที่ 1 ใส่ 500 กรัม/ต้น/ปี
– ปีที่ 2 ใส่ 1 กก. /ต้น /ปี
– ปีที่ 3 ใส่ 1 กก.ครึ่ง/ต้น/ปี
– ปีที่ 4 ใส่ 2 กก./ต้น/ปี

โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่ากัน คือ ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน และประมาณ เดือนสิงหาคมถึงกันยายนพร้อม ๆ กับการทำโคนทุเรียน แต่สูตรปุ๋ยบางคนใช้ปุ๋ยสูตร 16-20 ผสมกับโปแตสเซี่ยมแทนซื้อปุ๋ยจาก อตก. ซึ่งราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก

2. ทุเรียนใหญ่ให้ผลแล้ว ก่อนทุเรียนออกดอกประมาณ 2 เดือน ก็ราวเดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน ควรทำโคนและใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น หลังจากเก็บผลแล้วตัดแต่งกิ่งทำความสะอาดโคนใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 2-3 กก./ต้น การใส่ปุ๋ยควรใส่บริเวณทรงพุ่มห่างโคนทุเรียนอย่างน้อย 1 ศอกและยื่นออกไปจากทรงพุ่มประมาณ 1 คืบ ในช่วงการตัดแต่งกิ่งอาจใส่ปุ๋ยอินทรีย์ไปด้วยประมาณ 20-30 กิโลกรัม/ต้น โดยมีข้อควรระวัง คือ
1. อย่าใส่ชิดโคนต้น
2. ใส่ปุ๋ยให้กระจายโคนต้น
3. ควรเป็นปุ๋ยที่แห้งสนิทหรือสลายตัวแล้ว

เมื่อทุเรียนอายุมากกว่า 1 ปี แล้วการเจริญเติบโตทั้งราก และลำต้นจะมีมากขึ้นก็จำเป็น ต้องพรวนดินแล้วควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว ต้นละประมาณ 20-30 กิโลกรัม เพื่อให้ดินร่วนซุยขึ้น หากพบรากทุเรียนโผล่พ้นดินกลบรากเสียด้วย

การตัดแต่งกิ่ง
1. ทุเรียนเล็กยังไม่ให้ผล ในระยะที่ทุเรียนยังเล็กอยู่ บางต้นจะมีกิ่งแซงขึ้น เป็นกิ่งยอดอีกกิ่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า “กิ่งแข่ง” ควรตัดยอดที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งให้เหลือไว้เพียงยอดเดียว ควรเอากิ่งล่างไว้สูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร ไม่ควรปล่อยให้ทรงพุ่มทึบจนเกินไป การตัดแต่งกิ่งจะช่วยแต่งทรงพุ่มให้เหมาะสมได้ ควรตัดกิ่งกระโดง กิ่งน้ำค้าง กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออกให้หมดอุปกรณ์ที่ใช้ตัดควรสะอาดและมีความคมเพียงพอ ถ้าเป็นกิ่งใหญ่ ควรใช้กรรไกรหรือเลื่อยตามความเหมาะสม การเลื่อยควรเลื่อยด้านล่างก่อน แล้วจึงเลื่อยด้านบนเพื่อป้องกันการฉีกขาดของกิ่ง รอยแผลที่ตัดแล้วควรทาด้วยปูนขาว ปูนกินหมากหรือยากันรา เช่น คูปราวิท
2. ทุเรียนโตที่ให้ผลแล้ว การตัดแต่งกิ่งทุเรียนที่ให้ผลแล้วจะทำ 3 ระยะด้วยกัน
– ตัดแต่งกิ่งใหญ่ครั้งแรก หลังจากเก็บเกี่ยวผลเรียบร้อยแล้วควรตัดแต่งกิ่งแห้งกิ่งแขนงที่ไม่มีประโยชน์ กิ่งเป็นโรคขั้วผลทุเรียนที่ติดค้างอยู่เพื่อทุเรียนจะได้แตกกิ่งออกมาใหม่
– หลังจากนั้นประมาณเดือนสิงหาคม – กันยายน ก่อนทำการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 จะทำการตัดแต่งกิ่งตะขาบ กิ่งน้ำค้าง กิ่งกระโดง กิ่งเป็นโรคอื่น ๆ ที่ไม่มีประโยชน์ออกเพื่อให้ทุเรียนได้ใช้ปุ๋ยให้เกิดประโยชน์เต็มที่
– ครั้งสุดท้ายหลังจากที่ทุเรียนติดผล แล้วขนาดของผลทุเรียนประมาณเท่าผลส้มเขียวหวาน ควรทำการตัดแต่งกิ่งเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง หรือพร้อมๆ กับการตัดแต่งผลเพื่อให้การส่งอาหารไปเลี้ยงผลที่ต้องการได้อย่างเต็มที่

การกำจัดวัชพืช
วัชพืชจะแย่งน้ำ และอาหาร ทำให้ทุเรียนได้รับอาหารได้ไม่เต็มที่ มักเป็นปัญหามากสำหรับทุเรียนเล็ก เช่น หญ้าหวาย หญ้าคา การกำจัด ปกติจะใช้วิธีตัดหรือใช้จอบถาก แต่จะตัดให้เหลือพืชเพื่อคลุมดินบ้างหรือหากถากหญ้าออกหมดก็จะวางกองคลุมหน้าดินไว้ ยกเว้นบริเวณโคนต้นที่ห่างออกมาประมาณ 1 คืบ ควรถากวัชพืชออกให้หมด

การเก็บผลทุเรียน
ทุเรียนบนต้นที่ถึงระยะที่ีเหมาะสำหรับการเก็บผล ซึ่งจะต้องเก็บก่อนถึงระยะสุกขณะขนส่ง โดยใช้การสังเกต หรือใช้หลักการ ดังนี้
1. การนับอายุ เริ่มตั้งแต่ดอกบานจนเก็บเกี่ยวได้
– พันธุ์เบา เช่น พันธุ์กระดุม พันธุ์ชะนี พันธุ์ลวง เก็บผลได้หลังดอกบาน 103-105 วัน
– พันธุ์กลาง เช่น พันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์กบ พันธุ์ชายมะไฟ เก็บผลได้หลักจากดอกบาน 127-130 วัน
– พันธุ์หนัก เช่น พันธุ์ทองย้อยฉัตร พันธุ์อีหนัก พันธุ์กำปั่น เก็บผลได้หลัง จากดอกบานแล้ว 140-150 วัน
2. ปากปลิงของผลทุเรียนจะนูนเด่นขึ้นมาเห็นชัด
3. ก้านผล ก้านผลทุเรียนจะแข็ง มีสีเข้ม จับแล้วสากมือ ปากปลิงบวมโตเห็นรอยต่อได้อย่างชัดเจน
4. ผ่าดูสีเนื้อ เมล็ด และกลิ่น หากทุเรียนเริ่มแก่ และสามารถเก็บเกี่ยวได้จะต้องมีเนื้อสีเหลืองอ่อนอมขาว ตั้งแต่ส่วนนอกไปจนถึงส่วนที่ติดกับเมล็ด ส่วนสีของเมล็ดจะมีสีน้ำตาลบางส่วนเมื่อผลทุเรียนเริ่มแก่ และจะมีสีน้ำตาลทั้งเมล็ดเมื่อผลทุเรียนแก่เต็มที่ ทั้งนี้ อาจมีความแตกต่างกันที่พันธุ์ เช่น พันธุ์กระดุมทองผลดิบ จะมีเนื้อสีเหลือง ให้กลิ่นหอมเล็กน้อย เมล็ดสีน้ำตาล พันธุ์ชะนีผลดิบจะมีเนื้อสีเหลือง กลิ่นหอมเล็กน้อย มันเล็กน้อย เมล็ดสีน้ำตาลปนครีม ในขณะที่ทุเรียนพันธุ์หมอนทองผลดิบ จะมีเนื้อสีขาวปนเหลืองอ่อน กลิ่นหอมเล็กน้อย มันน้อย รสหวานน้อย เมล็ดสีครีมปนน้ำตาล
5. การชิมน้ำที่ก้านผล เมื่อตัดทุเรียนแล้วจะมีน้ำใสบริเวณรอยตัด หรือตรงบริเวณปากปลิง ก่อนถึงขั้วผล โดยทุเรียนแก่น้ำจะมีรสหวาน

กระดุมทอง
– เนื้อผลห่ามมีสีเหลืองอ่อนอมขาว ให้รสหวานมัน กรอบ เนื้อสุกจัดมีสีเหลือง ให้รสหวานจัด มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เมล็ดสีน้ำตาล
– สุกหลังการเก็บที่ 4-5 วัน
ชะนี
– เนื้อมีสีเหลือง กลิ่นหอมเล็กน้อย เนื้อห่ามให้รสหวานมัน เนื้อสุกให้รสหวานจัด เนื้อละเอียด เมล็ดสีน้ำตาลปนครีม
– สุกหลังการเก็บที่ 4-5 วัน
หมอนทอง
– เนื้อมีสีขาวอมเหลืองอ่อน ให้รสหวานมัน กรอบ และหวานขึ้นเล็กน้อยเมื่อเนื้อสุก เนื้อมีกลิ่นหอมเล็กน้อย เนื้อไม่มีน้ำฉ่ำ และไม่เหนียวติดมือ เมล็ดสีครีมปนน้ำตาล
– สุกหลังการเก็บที่ 6-9 วัน

วิธีตรวจทุเรียนสุกหรือไม่สุก
1. ก้านผลทุเรียนแก่หรือสุกจะมีก้านผลสีน้ำตาลเข้ม ผิวก้านสากมือ และมีปากปลิงบวมใหญ่
2. ผลทุเรียนแก่ ปลายหนามมีสีน้ำตาลเข้ม หนามกางออก ร่องหนามห่าง และจะหักง่าย
3. เมื่อบีบปลายหนามเข้าหากัน หากทุเรียนอ่อนมาก หนามจะแข็ง บีบงอได้ยาก แต่ถ้าทุเรียนแก่จะบีบหนามเข้าหากันได้
4. ดูจากผิวทุเรียนแก่จากด้านบนจะเห็นหนามเป็นสีคล้ำแต่ผลมีสีนวลตัดกันเห็นชัด
5. ทุเรียนแก่ โคนหนามจะออกเป็นสีน้ำตาล และช่องระหว่างพูจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองเล็กน้อย แต่หากทุเรียนอ่อน ช่องระหว่างพูจะมีสีเขียว
6. ใช้ไม้เคาะ หากมีเสียงก้องโกรก แสดงว่าเมล็ดกับเปลือกแยกออกจากกันแล้ว และสุกแล้ว แต่หากเสียงก้องมากมักสุกมาก เนื้อมักเหลว และหากเสียงแน่นทึบแสดงว่ายังไม่สุก
7. รอยแตกระหว่างพู ผลทุเรียนแก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้ชัดเจนยกเว้นบางพันธุ์ที่ปรากฏไม่เด่นชัด เช่น ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว
8. ดมกลิ่น ทุเรียนสุกจะมีกลิ่นหอม
9. ผ่าดูเนื้อทุเรียน หากสุกเนื้อทุเรียนจะมีสีเหลืองอ่อนถึงเหลือง แต่หากดิบหรือเป็นทุเรียนอ่อนจะมีสีขาวอมเหลืองหรือสีขาว ส่วนสีเปลือกเมล็ดจะมีสีน้ำตาลเข้ม ไม่ใช่เป็นสีน้ำตาลอ่อน

วิธีตรวจทุเรียนอ่อนจากร้านค้า
1. เปลือกทุเรียนจะมีสีเขียวเข้ม
2. ปลายหนามแห้ง และมีสีน้ำตาล
3. หากใช้ไม้เคาะจะมีสีดังก้องมาก ทั้งๆที่เปลือกยังมีสีเขียว และไม่ปริแตก โดยเฉพาะทุเรียนอ่อนที่เก็บไว้หลายวัน
4. ขั้วหรือก้านผลอ่อนตัว โยกแอนได้ง่าย และมีสีน้ำตาลอ่อน มีรอยย่น และไม่สากมือ
5. เมื่อผ่าแล้วจะพบเนื้อทุเรียนมีสีขาวอมเหลือง เพราะเกิดการบ่มมาแล้ว และจะมีสีขาวมากบริเวณรอยต่อของเมล็ดกับเปลือกผล

เอกสารอ้างอิง
1) สืบศักดิ์ นวจินดา, 2510. การสำรวจพันธุ์ทุเรียนในจังหวัดปราจีนบุรี.
2) มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์. ทุเรียน…ราชาแห่งผลไม้. ออนไลน์. สืบค้นได้จาก : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/208/ทุเรียน-ประโยชน์-สรรพคุณ/